OmElEt

ผู้เขียน : OmElEt

อัพเดท: 25 ก.พ. 2008 13.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4262 ครั้ง

แจ้งเตือนแบงค์เกอร์โทรจันเพิ่มขึ้นมากกว่า 500% ในปี 2551


ก้าวทันไวรัส ฉบับที่ 742

แพนด้าฯ แจ้งเตือนแบงค์เกอร์โทรจันเพิ่มขึ้นมากกว่า 500% ในปี 2551      
 
 

 

 

ทาง Panda Security สาขาประจำประเทศไทย นำโดย คุณวรวุฒิ บูรณมณีศิลป์ และคุณสาริน ช้างน้อย แจ้งเตือนถึงภัยของแบงค์เกอร์โทรจันที่จะเพิ่มมากขึ้นในปี 2551 เนื่องจากในปี 2550 ที่ผ่านมา PandaLabs ตรวจพบแบงค์เกอร์โทรจันเพิ่มขึ้นจากปี 2549 กว่าร้อยละ 463 เหตุที่สามารถตรวจพบได้มากขึ้นนั้นอาจมาจากพัฒนาการของระบบรักษาความปลอดภัยรุ่นใหม่ที่เรียกว่า ‘Collective Intelligence’ และคาดการณ์ว่า แบงค์เกอร์โทรจันเพิ่มขึ้นมากกว่า 500% ในปี 2551 

 

ระบบนี้จะเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมัลแวร์จากชุมชนอินเทอร์เน็ตและนำมาประมวลผลโดยอัตโนมัติในศูนย์ข้อมูลใหม่ ข้อมูลที่ได้จะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันตามความสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ในการตรวจจับมัลแวร์และปรับปรุงความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Panda และด้วย Collective Intelligence นี้ ผลิตภัณฑ์ของ Panda จึงใช้งานง่ายและเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันมีมัลแวร์นับพันเกิดขึ้นในแต่ละวัน ก่อนการพัฒนาระบบ Collective Intelligence การวิเคราะห์และจำแนกข้อมูลทั้งหมดทำได้อย่างยากลำบาก ในปัจจุบันขั้นตอนการวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลเพื่อตัดสินว่าไฟล์ใดเป็นมัลแวร์หรือไม่สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ ทำให้เราสามารถปกป้องลูกค้าของเราได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” คุณวรวุฒิ กล่าว 

 

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของแบงค์เกอร์โทรจันสอดคล้องกับกระแสความเคลื่อนไหวของมัลแวร์ในยุคปัจจุบันที่เหล่าอาชญากรไม่ได้มองหาชื่อเสียงอีกต่อไป แต่มุ่งหวังผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินมากกว่า ด้วยเหตุที่ แบงค์เกอร์โทรจันออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูลธนาคาร หมายเลขบัญชี และอื่นๆ โทรจันนี้จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งสำหรับเหล่าอาชญากร    

 

เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของโทรจันดังกล่าว PandaLabs ขอแนะนำให้

 -          ติดตั้งเครื่องมือรักษาความปลอดภัยที่เป็นปัจจุบันและมีประสิทธิภาพพร้อมเทคโนโลยีที่ให้การปกป้องเชิงรุก เช่น Panda TruPrevent technologies ซึ่งสามารถตรวจจับภัยคุกคามใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยปรากฏได้

 -          หลีกเลี่ยงการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เช่น เปิดเมลจากผู้ที่ไม่รู้จัก คลิกลิงก์ที่มาจากอีเมลหรือโปรแกรมรับส่งข้อความ IM แทนการพิมพ์ URL ลงในเบราว์เซอร์ หรือดาวน์โหลดไฟล์น่าสงสัยจากเครือข่ายประเภท P2P 

 -          หมั่นอัพเดตโปรแกรมในเครื่องเพื่อป้องกันมิให้มัลแวร์สามารถเจาะผ่านช่องโหว่เข้ามาได้ 

-          และสุดท้าย ใช้โปรแกรมออนไลน์ค้นหามัลแวร์ ตัวอย่างโปรแกรมออนไลน์ดังกล่าว เช่น TotalScan (http://www.pandasecurity.com/totalscan) เนื่องจากโปรแกรมออนไลน์สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่จึงสามารถตรวจจับมัลแวร์ได้มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์

 
ที่มา : PandaLabs

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที