ชนิตพล

ผู้เขียน : ชนิตพล

อัพเดท: 18 ม.ค. 2014 06.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1009528 ครั้ง

"ประสบการณ์ยิ่งมากยิ่งมีคุณค่าควรรู้และยิ่งมีค่ามากที่สุดเมื่อถูกถ่ายทอดออกมาจากใจ"


วันที่ 30 บทสรุปความเป็นเลิศของการบริหารองค์กร (7)

ตอนที่ 122

วันที่ 30

บทสรุปความเป็นเลิศของการบริหารองค์กร (7)

ศิษย์โดม :   ท่านอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน กรุณาสรุป กรอบของการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข….สู่ความเป็นเลิศท่ามกลางวัฒนธรรมองค์กรให้ผมด้วย ครับ!

อาจารย์ดอน :  ก่อนที่จะจบเรื่อง…ความเป็นเลิศของผู้ บริหารองค์กร/ บริหารโรงงาน…..ขอสรุปนวความคิดเชิงปฏิบัติเพื่อไปสู่ความเป็นเลิศ และ….การครองความสุขท่ามกลางวัฒนธรรม องค์กร….ไว้ด้วยพุทธศาสนสุภาษิต ที่ว่า…. จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง”….จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้…หมายถึง จิตที่ได้รับการบริหารมาเป็นอย่างดี ด้วยการเจริญสติ กำหนดรู้ทุกลมหายใจ จนทำให้เกิดสมาธิ

ศิษย์โดม : ท่านอาจารย์ครับ!  แล้วปัญญาเกิดเมื่อไรครับ ?.....เพราะมนุษย์ต้องเผชิญกับอารมณ์หลากหลายมากมาย ในแต่ละวัน ยากต่อการควบคุม!.....จะเกิดปัญญาได้อย่างไร?

อาจารย์ดอน : อารมณ์ ทุกข์ สุข โลภ โกรธ หลง รัก ผิด ชอบ  ชั่วดี……และอีกหลากหลายอารมณ์นั้น…. ต้องใช้การฝึกอบรมจิตเพื่อควบคุมจิต ให้จิตมั่นคง ตั้งมั่น และต้องยึดมั่นในความดี ไม่ซวนเซ หันเห แปรผันไปตามกิเลสทั้งหลายที่มากระทบ…..เราก็สามารถระงับกิเลสต่างๆเหล่านั้นได้ ด้วยความสงบนิ่ง กิเลสเหล่านั้นก็ไม่สามารถ มากระทำจิตเราได้……ก็จะเกิดปิติ เกิดความสุข และเกิดปัญญาตามมาในที่สุด!....ที่กล่าวมานี้เป็นหัวใจของผู้บริหารองค์กร!

ศิษย์โดม : ท่านอาจารย์……หมายถึงว่า องค์กรที่จะเป็นเลิศได้นอกจากต้อง เชี่ยวชาญ ศาสตร์ทางโลกแล้ว….ก็ต้องเข้าถึงศาสตร์ทางธรรม ด้วยหรือครับ?......โดยเฉพาะการถึงพร้อมด้วย สติ สมาธิ และปัญญา…..ท่านอาจารย์......กรุณาทบทวน จิต กับใจ ให้ด้วยครับ!.....และความสงบ ความสุขและปัญญาเกิดขึ้นมาพร้อมๆกันหรือ ครับ?

อาจารย์แดน : ขอตอบรวมกับหลักธรรมอีกประการหนึ่งที่ทำให้องค์กร…..เป็นองค์กรแห่งความสุขก็คือ…. “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ”….ที่สุดของความสุขคือความสงบ…..สุขในที่นี้เป็นสุขตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ตามแนวทางประพฤติปฏิบัติ ที่อยู่บนพื้นฐานของความดี…..เป็นสุขอย่าง มีสติและมีสมาธิ ในการรับจนเกิดปัญญา เพื่อดำรงคงอยู่……และเป็นสุขนิรันดร์ คือความสงบ  

ศิษย์โดม :  “ ความสุขทางโลกและความสุขทางธรรมต่างกันอย่างไรครับ!”

อาจารย์แดน :  ความสุขทางโลกคือ สุขภายนอกที่ยังมีการปรุงแต่ง ด้วย….อาสวกิเลสที่เรียกว่า “โลกียสุข”  ผ่านเข้าสู่จิตตามสิ่งที่พบและอารมณ์ที่สัมผัส…คล้ายๆกับกระแสคลื่นลมที่พัดโถมเข้ามา…อย่างต่อเนื่องจนหลงใหลเป็น อวิชชา….ซึ่งเป็นอนิจฺจํ….สิ่งไม่เที่ยง  ปรับเปลี่ยนแปรผันไปตามอารมณ์นั้นๆ

                          ความสุขทางธรรมคือ สุขที่แท้จริง “ นิรามิสสุข ”  เป็นความสุขภายในที่ไม่ต้องมีการปรุงแต่งด้วยวัตถุและอารมณ์ใดๆทุกขณะจิต…..ประกอบด้วยจิตที่อิ่มเอิบ เต็มใจ สบายใจ ปราศจาก กิเลส สะอาด บริสุทธิ์ …..มีความสว่างไสว และสงบนิ่ง……ประกอบด้วยปัญญา และสิ่งสัมผัสภายนอกทั้งหลายเป็น อนิจฺจํ เป็นจริง….บริบูรณ์ด้วย มัชฌิมาปฏิปทา  เพื่อการดำรงชีวิตอยู่กับสังคมมนุษย์ อย่างมีความสุขและความสงบตามอรรถภาพ

ศิษย์โดม : ท่านอาจารย์ แล้วที่ว่า ามิสสุข นั้น ต่างกับ นิรามิสสุข อย่างไรครับ !

อาจารย์แดน :  สามิสสุข คือ ความสุขที่ต้องใช้ปัจจัยภายนอกมากระทบผัสสะทั้ง6  ผ่านมายัง อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และจิตวิญญาณ…..สามิสสุข  เป็นความสุขขั้นหยาบ อุดมด้วยความอยากซึ่งเป็นอามิส ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งเป็น….สุขเวทนา!

 จิต เปรียบเสมือน ซอฟแวร์ เป็นส่วนหนึ่งของกายละเอียดในการรับรู้ทุกๆอารมณ์ ความรู้สึก และการกระทำ โดยมีการบันทึกเก็บเป็นความทรงจำเข้า folder ไว้เป็นสัญญา ผู้ที่มีพลังจิตที่แกร่งกล้า ก็สามารถ เรียกทบทวนสัญญาเหล่านั้นได้อยู่เสมอ  เพราะมันติดอยู่ในส่วนลึกของจิตนั้นๆ  

ใจ เปรียบเสมือน ฮาร์ดแวร์ เป็นส่วนหนึ่งของกายหยาบ สามารถแสดงออกมาเป็นรูปธรรม เช่น ความคิด จินตนาการ และความสามารถ ในการแสดงออกเป็นการกระทำ ตามอายตนะทั้งภายใน และภายนอก โดยมีกายเป็นตัวตนเสมือนที่พักพิงของ จิต และใจ 

ศิษย์โดม :  หมายความว่า จิต มีความละเอียดกว่า ใจ แต่มีการทำงานร่วมกัน….. โดยมีกายเป็นผู้รับเอาสภาพสภาพแวดล้อมทั้งหมดมา แปลรหัสเป็นอารมณ์ต่างๆ หรือครับ !

อาจารย์ดอน :  มาถึงตอนนี้ ศิษย์โดม  พอจะเข้าใจว่าความสำเร็จของการใดๆก็ตามมีอยู่ 2 ภาค มาจาก 2 ศาสตร์ !

ศิษย์โดม : ท่านอาจารย์……หมายถึง ภาคกาย และภาคจิต…..และองค์กรที่จะเป็นเลิศได้นอกจากต้อง เชี่ยวชาญ ศาสตร์ทางโลกแล้ว….ก็ต้องเข้าถึงศาสตร์ทางธรรม ด้วยหรือครับ?......โดยเฉพาะการถึงพร้อมด้วย สติ สมาธิ จึงจะเกิดปัญญา

อาจารย์ดอน :  ปัญญาที่สงบและบริสุทธิ์ปราศจาก…จิตที่ โลภ โกรธ หลง….ปราศจาก อธรรมลักษณะ….ยึดติดในอาตมะ บุคคละ สัตวะ และชีวะลักษณะ……ผู้นำ/ผู้บริหารองค์กร…..ต้องสร้างจุดหมายปลายทางและต้องมองเห็นภาพและสร้างมันได้ด้วยความ….. ขยัน หมั่นเพียร อดทน อย่างมีคุณภาพและคุณธรรม ….ความสำเร็จขององค์กรส่วนที่สำคัญประการหนึ่ง…ขึ้นอยู่กับการสั่งสมบุญบารมีของ ผู้บริหาร / ผู้นำ ของแต่ละองค์กรนั้นๆว่ามีมากเท่าไร สม่ำเสมอและนาน ขนาดไหน?

ศิษย์โดม : ท่านอาจารย์กรุณาทบทวนบุญบารมีอีกสักครั้งหนึ่งครับ!......การบำเพ็ญบารมีและที่ว่าปัญญาบารมีนั้น!.....มีความสำคัญอย่างไร? 

อาจารย์ดอน : ท่านอาจารย์แดนจะเป็นผู้อธิบายความหมายของบุญบารมี…..ซึ่งเมื่อเข้าใจความหมายของปัญญาบารมีก็จะมีความกระจ่างในปัญญาบารมีได้ดียิ่งขึ้น

อาจารย์แดน : บุญบารมี แยกความหมายได้เป็น 2 คำคือ บุญ และบารมี……บุญ เป็นกุศลธรรม เป็นความดีทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากการ……ประพฤติดีปฏิบัติดี ทั้งกาย วาจา ใจ….เป็นเครื่องนำพาไปสู่การกระทำดี เกิดความสุข และความปิติทุกขณะของจิตที่เป็นบุญ…..บารมี คือการบำเพ็ญเพื่อทำความดี อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ที่เรียกว่า การบำเพ็ญบุญ…..โดยรวมสำหรับการสร้างบุญอย่างแนวแน่และต่อเนื่องมี 3 ขั้นตอนได้แก่ การสร้างบุญโดย ให้ทาน….การสร้างบุญด้วยการรักษาศีล และการสร้างบุญด้วยการเจริญภาวนา

///////////////////////////////////////

25/11/2556


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที