ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 25 มี.ค. 2009 14.50 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5591 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


เรื่องสำคัญของการบริหารเชิงกลยุทธ์

คงจะแปลกในยุคปัจจุบัน หากองค์การใดที่ไม่มีข้อความที่บ่งบอกถึง Vision, Mission statement แต่ละองค์การก็นิยมเขียนกันตามหลักการล่ะครับ แล้วนำไปติดตั้งเป็นบอร์ดโชว์ให้ภูมิฐานเป็นหน้าเป็นตาขององค์การ 

และก็แปลกเช่นเดียวกันที่พบว่าหลายองค์การ เมื่อถามไปที่พนักงานไม่ว่าระดับใด ว่า Mission คืออะไร  ก็กลับได้คำตอบที่ไม่ค่อยตรงกับที่เขียนไว้หลายบรรทัดนั้น  ในระดับบริหารเข้าใจไปคนละทิศคนละทางก็มี  เพราะเอาความเข้าใจของตัวเองเข้าว่า  ไม่ต้องไปพูดถึงพนักงานระดับปฏิบัติการหรอกครับ ถาม 10 คน มีสัก 2 คนที่รู้ก็จัดว่า เก่งแล้วครับ

ที่ผมว่าแปลกก็เพราะ ปกติแล้ว คนก็ต้องเข้าใจ Mission ขององค์การเหมือนกัน หากไม่เหมือนก็แสดงว่ามีปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร และสะท้อนไปถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ ปัญหาของการบริหารงานเชิงกลยุทธ์

ผมก็เชื่อว่า หลายองค์การโดยเฉพาะที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดนโยบายคุณภาพตามแนวทางของ ISO ไว้ แล้วพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทจำไม่ค่อยได้ หรือไม่รู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่ามันคืออะไร และจะทำอะไรเพื่อให้มันบรรลุให้ได้  เพราะผลจากการปฏิบัติงานที่ปรากฏออกมา ไม่ได้เชื่อมโยงไปสะท้อนถึงนโยบายคุณภาพที่กำหนดไว้เลย  ซึ่งก็อาจจะยังพบว่า คุณภาพของผลผลิตก็ยังด้อย ของเสียในกระบวนการก็ยังคงมีจำนวนมาก  กระบวนการทำงานยังซ้ำซ้อน  ทำงานวกไปวนมาก หรือเครื่องจักรเสียเป็นประจำ มีงานที่ยังค้างกระบวนการผลิตอยู่เยอะแยะไปหมด

ในบางองค์การ กำหนด KPI กันให้วุ่นวายไปหมด รวมแล้วจะต้องดูกันตั้ง 30-40 ตัว อย่าคิดว่ามันวิลิศมาหรูนะครับ เพราะที่จริงมันส่งผลให้พนักงานส่วนใหญ่ขององค์กรรู้สึกอึดอัดกับ KPI ที่ตนเองถือหรือของหน่วยงานตนเองมากกว่า  ยิ่ง KPI ที่วางไว้ไม่ดี ไม่เชื่อมโยงกับกลยุทธ์ไล่เรียงขึ้นไปตั้งแต่ระดับฝ่าย ถึงระดับองค์การล่ะก็  ท่านก็จะได้เห็นถึงความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในระบบของการบริหารผลการปฏิบัติงาน หรือการประเมินผลงานขึ้นล่ะครับ

KPI ที่ดีนั้น มีคุณลักษณะหลายเรื่อง ผมคงไม่ต้องพูดถึง แต่ขอย้ำว่า KPI จะต้องสะท้อนการบรรลุผลงานตามยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ขององค์การ และสิ่งเหล่านั้น เป็นประโยชน์ต่อบริษัทหรือองค์การเป็นใช้ได้  และก็อย่างมีมากนัก เพราะต้นทุนการเก็บข้อมูลของท่านจะสูงตามไปด้วย

ปัญหาจริงจริงมันคืออะไร ??...

หรือว่า...แผนกลยุทธ์ที่องค์การกำหนดนั้นมันไม่ดี  หรือใช้ไม่ได้ ไม่มีคุณภาพ

หรือว่า...เราปรับใช้ทฤษฎีผิด ทฤษฎีที่เรานำมาใช้นั้น ใช้ไม่ได้เพราะบ้านเราคือเมืองไทยของเราเอง ฝรั่งก็คือฝรั่ง ใช้ด้วยกันไม่ได้หรอก

หรือว่าเป็นเพราะองค์การและทรัพยากรมนุษย์ของเรา เข้าใจมันไม่ถ่องแท้ ประยุกต์อย่างไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ขาดความสามารถที่จะเอาแนวคิดมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้

ผมว่า มันก็มีส่วนทั้งหมดล่ะครับ เพียงแต่ ปัญหาใหญ่มาก ๆ มันอยู่ที่ว่า เราให้น้ำหนักความสำคัญไปที่กลยุทธ์มากเกินไป  และให้ความสำคัญกับเรื่องการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลน้อยเกินไป 

เราลองมาย้อนทำความเข้าใจกันในเรื่องของการบริหารเชิงกลยุทธ์สักนิดครับ  ผลทางธุรกิจ ว่าไปแล้วดูได้จากคือคุณภาพของแผน และประสิทธิผลของการปฏิบัติงานตามแผนที่ set ไว้นั้น  หรือพูดกันในภาษาทางวิชาการได้ว่า ผลลัพธ์ทางธุรกิจจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวแปรสองตัวคือ คุณภาพของแผนกลยุทธ์และประสิทธิผลของการนำแผนไปปฏิบัติ

ในทางปฏิบัติแล้ว  ไม่ว่าท่านจะวางแผนออกมาดีเลิศประเสริฐศรีเพียงใด หากนำนำแผนไปปฏิบัตินั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลตามแผน หรือจัดว่าเป็นการปฏิบัติที่แย่แล้ว ผลทางธุรกิจที่ดีย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย 

ในสังคมการบริหารของไทย ผมได้ยินได้ฟังมาพอสมควรว่า เรายังอ่อนหัดนักในเรื่องของการปฏิบัติงานตามกลยุทธ์ ตามแผน แต่สามารถเขียนแผน เขียนกลยุทธ์ได้วิลิศมาหราเกินกว่าจะคาดเดาได้เลย  ดูได้จากพวกผู้ปกครองประเทศสิครับ เก่งแต่ใช้โวหารแบบ demagogue  แต่ให้ปฏิบัติก็ยอดแย่ไปเลย  เราจึงเป็นประเทศที่จัดว่ามีกฎหมายมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง เพราะเราเอาเนื้อความมาเป็นกรอบของการปฏิบัติทุกเรื่อง ทุกคนก็ยึดกรอบและไม่ยึดหยุ่น มีข้ออ้างสารพัดไปหมด ก็ไม่ต่างจากเรื่องกลยุทธ์ 

จึงขอสรุปอย่างรวบรัดว่า การมีกลยุทธ์นั้นเป็นเรื่องดี และจะให้ดียิ่งขึ้นหากกลยุทธ์นั้น เป็นกลยุทธ์ที่ถูกสรางขึ้นมาอย่างเหมาะสม แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องเอากลยุทธ์ไปสร้างเป็นแผนงานรองรับ และนำแผนงานนั้นไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผลด้วย 

ผู้นำต้องเน้นตรงนี้ให้มากครับ

เท่ากับว่า ประสิทธิผลของการปฏิบัติ ก็จะเกิดขึ้นมาจากจากกระบวนการของการทำงานที่ดี (good process)  โดยกระบวนการทำงานที่ดีนั้น ก็ต้องอาศัยการมีข้อมูลที่ดี ถูกต้องและทันสมัยต่อการใช้งาน

กลับมาให้ความสำคัญกันสักนิดในเรื่องของการนำแผนงานไปสู่การปฏิบัติ โดยใช้แนวทางการบริหารเชิงกลยุทธ์เป็นเครื่องมือหรือกรอบนำทาง....นี่เองครับ จะเป็นโอกาสของความสำเร็จในการจัดการ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที