ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 05 มิ.ย. 2009 15.20 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8329 ครั้ง

หลายคนภาคภูมิใจกับความสำเร็จของงานที่เกิดจากความทุ่มเทของตัวเอง แต่อย่าลืมว่าแม้ใจยังสู้ แต่ร่างกายเราไม่ใช่เครื่องจักร ย่อมมีวันเหนื่อยและอ่อนล้า

ถ้ามัวแต่เลือกงานแล้วมองข้ามตัวเอง เชื่อแน่ว่าร่างกายไปก่อนแน่ๆ แต่ถ้ายังอยากสนุกกับงานไปได้อีกนานๆ ก็ลองให้เวลาตัวเองสักนิดหันกลับมาสำรวจความผิดปกติของร่างกาย จะได้รู้ว่าร่างกายของเราส่งสัญญาณเตือนภัยแล้ว ให้หันมาใส่ใจดูแลตัวเองได้แล้ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ไข


5 โรคที่หนุ่มสาวออฟฟิศต้องระวังให้ดี...

เรื่องนี้ ส่งต่อกันมาทางเมล์ ขออนุญาตมานำเสนอครับ

ไลฟ์ เซ็นเตอร์ (www.lifecenterthailand.com) แหล่งรวมศูนย์การแพทย์และคลินิกเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ศูนย์รักษาไมเกรนดอกเตอร์ แคร์ สถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ เวลเนสเซ็นเตอร์ ดีบีซี สไปน์คลินิกแอนด์ยิม คลินิกกายภาพบำบัดคิเนซิส และศูนย์บริการครบวงจรเกี่ยวกับปัญหาการได้ยินเฮียริ่ง โฟกัส มีคำแนะนำมาเตือนเหล่าหนุ่มสาวออฟฟิศในเรื่องนี้
 
ประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ ผู้บริหารไลฟ์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า กว่าร้อยละ 10 ของคนเมืองมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรค “ออฟฟิศ ซินโดรม” สาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้นและมลพิษต่างๆ ที่สำคัญพฤติกรรมการทำงานก็นับว่าเป็นปัจจัยให้เกิดความเสี่ยงสูงที่สุด ด้วยสภาพการทำงานที่ต้องรีบเร่ง ล้วนมีส่วนทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป ทั้งการใช้คอมพิวเตอร์วันละหลายชั่วโมง การอดอาหาร อดหลับอดนอนเพื่อทำงานให้เสร็จ ทำให้ร่างกายของเราต้องแบกรับภาวะความตึงเครียด ปราศจากการผ่อนคลาย ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อร่างกายโดยไม่รู้ตัว
 
5 อันดับโรคยอดฮิต เกาะติดชีวิตคนเมือง ได้แก่…

 

1. ไมเกรน โรคปวดศีรษะเรื้อรัง

เวลานั่งทำงานเครียดเราจะรู้สึกปวดหัวตึบ..ตึบ..บริเวณขมับ ด้านหน้าศีรษะหรือหลังต้นคอ นั่นคือสัญญาณเตือนสภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไมเกรน โดยมากมักจะพบในช่วงอายุ 10-50 ปี อัตราเฉลี่ยเพศหญิง ร้อยละ 18 เพศชาย ร้อยละ 6
 
สาเหตุหลัก เกิดจากการเกร็งตัวสะสมของกล้ามเนื้อบริเวณบ่าและคอ จนจับตัวเป็นก้อนที่เรียกว่า จุดกดเจ็บ (Trigger Point) จุดดังกล่าวไปกดทับบริเวณเส้นเลือดที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงศีรษะ ทำให้เส้น เลือดหลังจุด Trigger Point เกิดการขยายตัวผิดปกติ ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอจึงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น นอกจากนี้ แสงแดด ความร้อน การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และการขาดฮอร์โมนบางชนิด ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้เช่นกัน
 
วิธีการดูแลให้ห่างไกลจากไมเกรน ทำได้ง่ายๆ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่ร้อนจนเกินไป บริหารกล้ามเนื้อบริเวณบ่าและคอให้มีการยืดหยุ่นอยู่เสมอเพื่อเลี่ยงการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เปลี่ยนอิริยาบถในการนั่งทำงานเพื่อลดการเกร็งตัวสะสมของกล้ามเนื้อ หรือปรึกษาแพทย์อายุรเวท (แผนไทยประยุกต์) เพื่อทำการกดจุดสลาย Trigger Point บริเวณกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย
 

 

2. สภาวะเสียสมดุล

ปกติร่างกายของมนุษย์ถูกออกแบบขึ้นเพื่อรองรับภาวะรบกวนต่างๆ จากสิ่งแวดล้อม พร้อมขจัดและปรับระบบให้ทำงานได้อย่างปกติมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีสมองเป็นจุดศูนย์รวมการทำงานของร่างกาย
 
สมองทำหน้าที่ออกคำสั่งและส่งคำสั่งนั้นไปตามเส้นประสาทเพื่อไปควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายทุกระบบ รวมทั้งกล้ามเนื้อ และข้อต่อต่างๆ ระบบรากประสาททั้งหมดออกมาตามแนวกระดูกสันหลัง แต่หากแนวกระดูกสันหลังเสียสมดุล ไม่อยู่ในแนวความโค้งที่ปกติ (เช่น ค่อม งอ คด แอ่น) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการนั่งทำงานในออฟฟิศผิดวิธี หรือทำงานในลักษณะซ้ำๆ ตลอดทั้งวัน ทำให้กล้ามเนื้อทานไม่ไหว ร่างกายจะฟ้องออกมาในรูปแบบความเจ็บปวดต่างๆ เช่น ปวดหลังเรื้อรัง ปวดคอ ชาหรือแขนขาไม่มีแรง
 
ในระยะแรกอาจไม่แสดงผลชัดเจน แต่ถ้าละเลยอาจรุนแรงถึงขั้นทับเส้นประสาท อาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ หรือแม้แต่ส่งผลให้เป็นโรคภัย ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ผิดปกติได้ด้วย
 
การดูแลและป้องกัน มีวิธีง่ายๆ ทำได้ด้วยตัวเองทุกวัน โดยคืนความสมดุลให้กับโครงสร้างร่างกาย เช่น การยืดหยุ่นร่างกาย ไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป เพื่อลดอัตราการเกร็งกล้ามเนื้อ หรือไม่ทำให้กล้ามเนื้อต้องทำงานหนักมากเกินไป หรือเพิ่มการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลัง ทั้งเดิน ยืน นั่ง นอน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อเป็นตัวยึดให้กระดูกอยู่ในแนวปกติถือเป็นการคงสภาพให้โครงสร้างร่างกายอยู่ในภาวะที่สมดุล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อปรับโครงสร้างร่างกาย พร้อมปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินไลฟ์สไตล์ใหม่ได้เช่นกัน 
 

 

3. กระดูกสันหลังคดงอ อาการปวดหลังเรื้อรัง

หนุ่มสาวชาวออฟฟิศสมัยใหม่ ที่ทำงานนั่งอยู่กับโต๊ะ ใช้ชีวิตคร่ำเคร่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบวันละ 8 ชั่วโมง ใส่รองเท้าส้นสูงบ่อยๆ เคยลองสังเกตไหมว่าร่างกายสะสมความอ่อนเพลียและเมื่อยล้าไว้มากขนาดไหน และรู้หรือเปล่าว่านั่นคือสาเหตุเริ่มต้นของโรคปวดหลังเรื้อรัง โดยค่าเฉลี่ยร้อยละ 80 มักจะเคยมีอาการปวดหลังสักครั้งในชีวิต และกว่าร้อยละ 20 พบว่ามีอาการปวดหลังเรื้อรัง มาจาก “กระดูกสันหลังคดงอ”
 
วิธีการรักษาที่นิยมทำกันโดยทั่วไปในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การรักษาด้วยการให้ยาและกายภาพบำบัดแบบ Passive ช่วยลดอาการปวดได้ดี แต่ไม่ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอย่างพอเพียงที่จะป้องกันอาการปวดซ้ำซากในอนาคตได้ ส่วนวิธีการรักษาแบบ Active Rehabilitation เป็นแนวทางใหม่ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับกันว่าสามารถระงับปัญหาอาการปวดเรื้อรังได้ถาวร ดีกว่าการรักษาแบบเดิมๆ และการออกกำลังกายที่เน้นตรงกล้ามเนื้อในส่วนที่มีปัญหา โดยออกแบบโปรแกรมให้เข้ากับเฉพาะตัวบุคคล และมีผู้ดูแลควบคุมใกล้ชิดได้ผลดีกว่าการออกกำลังกายตามลำพังตัวคนเดียวอย่างชัดเจน
 

4. ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ เอ็นกล้ามเนื้อต้นคออักเสบ

อีกโรคที่คุกคามอย่างเงียบๆ คงจะหนีไม่พ้นปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ เอ็นกล้ามเนื้อต้นคออักเสบ หรือ Carpal Tunnel Syndrome (CTS) ที่กำลังขยายวงกว้างในกลุ่มคนที่ต้องนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
 
สาเหตุหลักเกิดจากการใช้ข้อมือในการยึดจับสิ่งของ หรือเมาส์คอมพิวเตอร์ในท่าเดิมๆ เป็นระยะเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก หรืออาจเกิดจากการทำงานของเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณผ่านท่อนแขนจากข้อศอกไปยังบริเวณข้อมือซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เกิดอาการปวดของปลายประสาท หรือเส้นเอ็นบริเวณต้นคอเกิดการอักเสบซึ่งมาจากสาเหตุเดียวกัน


อยากห่างไกลความเสี่ยงเลือกวิธีปฏิบัติง่ายๆ ในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณมือและข้อมือทุก 15-20 นาที หรือปรึกษานักกายภาพบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านการรักษาแบบ Manual Therapy หรือการบำบัดด้วยวิธีการใช้มือเป็นหลัก ผสานเข้ากับการใช้เครื่องมือบำบัดเฉพาะทาง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่ในกรณีที่มีอาการอักเสบรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะการบาดเจ็บที่รุนแรง และลดอัตราการผ่าตัดลง
 

5. หูดับ โรคประสาทหูเสื่อม

อีกหนึ่งภัยคุกคามที่คนเมืองควรรู้กับปัญหา “หูดับ” หรือโรคประสาทหูเสื่อม ส่วนมากเกิดจากปัจจัยหลายสาเหตุ อาทิ กรรมพันธุ์ โรคบางชนิด หรือปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นต้น ส่งผลให้ระดับการได้ยินลดลง โดยปกติประสาทหูจะเริ่มเสื่อมทีละน้อยๆ ในช่วงอายุประมาณ 30-50 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในไลฟ์สไตล์ของคนเมืองมากขึ้น

สังเกตได้จากค่านิยมในการใช้มิวสิคโฟนผ่านทางมือถือและเครื่อง
MP3 การใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคประสาทหูเสื่อมได้


แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าประสาทหูเสื่อมสภาพ ในขั้นต้นหากรู้สึกว่าได้ยินเสียงลดลง ได้ยินเสียงไม่ชัดเจนต้องตั้งใจฟังหรือให้คู่สนทนาต้องพูดซ้ำบ่อยๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อตรวจหาสาเหตุความบกพร่องทางการได้ยินพร้อมรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ หรือปรึกษาศูนย์บริการด้านการได้ยิน เพื่อตรวจวัดระดับการได้ยินพร้อมรับคำปรึกษาและแนวทางฟื้นฟูการฟัง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ
 
 
นี่เป็นเพียง 5 อันดับโรคยอดฮิตเรียกน้ำย่อยสำหรับคนเมืองยุคนี้ แต่ความเป็นจริงยังมีโรคภัยอีกมากมายที่คืบคลานเข้ามาหาตัวเรา ถ้าเรายังเลือกทำแต่งาน แล้วมองข้ามสุขภาพตัวเอง

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที