ปรารพ

ผู้เขียน : ปรารพ

อัพเดท: 02 ก.ย. 2009 13.19 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8512 ครั้ง

Bangkok Brand : รู้จักตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ


1

หลายท่านคงได้มีโอกาสเห็นตราสัญลักษณ์ใหม่ของกุรุงเทพฯไปบ้างแล้ว แต่หากยังไม่ทราบที่มาวันนี้เรามีมาฝากครับ
ก็ได้ข้อมูลดีๆ จาก www.tcdcconnect.com เหมือนเดิมครับ

Bangkok Brand : รู้จักตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ
August 11th, 2009
“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ เมืองแห่งพระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร”
เมื่อชื่อของเมืองเกี่ยวเนื่องกับเทพเทวาเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครก็ถูกออกแบบให้สื่อความหมายผ่านนัยสำคัญดังกล่าวด้วย ปัจจุบันตราเมืองของเราเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 4 งา โดยลักษณะของช้างนั้นหันหน้าตรง พระหัตถ์ขวาถือวชิราวุธ เท้าช้างเหยียบวลาหก มีความหมายว่า พระอินทร์เป็นประมุขดูแลทุกข์สุขของผองเทวดา และบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ผู้เดือดร้อน ซึ่งเหมือนกับหน้าที่ของพ่อเมือง ที่จะต้องดูแลทุกข์สุขให้แก่ประชาชน โดยภาพวาดที่ปรากฏในตราสัญลักษณ์นั้น เป็นภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4

bkk1.jpg

หากเราเปรียบเทียบตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดอื่นๆ เราจะเห็นได้ว่า ตราสัญลักษณ์ทั้งหมดล้วนมีลักษณะเป็นภาพวาดเหมือนจริง ที่ดึงเอาเอกลักษณ์สำคัญของแต่ละจังหวัดมาปรากฏ เช่น ตราสัญลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต เป็นภาพอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ตราของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปช้างเผือกยืนอยู่ในเรือนแก้ว ส่วนของจังหวัดขอนแก่น เป็นรูปพระเจดีย์ก่อไว้บนตอไม้ (หมายถึงพระธาตุขามแก่น) เป็นต้น

แต่เมื่อวันที่กรุงเทพฯ ของเราได้พ่อเมืองอย่างคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน (อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2547 - 2551) ผู้มีประสบการณ์คร่ำหวอดด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ ตราสัญลักษณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงหลายชั่วอายุคนของกรุงเทพฯ ก็ถึงเวลาได้รับการปรับปรุงพัฒนาอีกครั้ง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือ กทม. ได้สร้างตราสัญลักษณ์ที่โดดเด่นตัวใหม่ขึ้น

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ตราสัญลักษณ์ใหม่อันนี้จะถูกนำไปแทนที่ตราสัญลักษณ์พระอินทร์ทรงช้างอันเดิม หากแต่การออกแบบครั้งนี้มีเป้าหมายเฉพาะชัดเจน “เพื่อสร้างภาพลักษณ์แห่งความทันสมัยให้กับกรุงเทพฯ“ โดยได้นำ “ลายประจำยาม” อันเป็นลายไทยที่สำคัญมาดัดแปลงเป็นรูปกลีบดอกไม้ 4 กลีบ ทั้ง 4 กลีบมีจุดร่วมตรงกลางอันเป็นจุดแห่งดุลยภาพ แสดงถึงความสมดุลของการเติบโต และยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์การบริหารงานที่แบ่งออกเป็น 4 มิติ โดยกลีบสีเขียวของดอกไม้ หมายถึง มิติด้านคุณภาพชีวิต, สีฟ้า แทนมิติด้านสิ่งแวดล้อม, สีชมพู แทนมิติด้านวัฒนธรรม, และท้ายที่สุดกับสีส้ม ที่สื่อถึงมิติทางเศรษฐกิจที่สมดุล  โดย กทม. คาดว่า การนำเสนอตราสัญลักษณ์ใหม่นี้ จะช่วยดึงความร่วมมือร่วมใจจากภาคประชาชน ให้มาร่วมกันสร้างชีวิตดีๆ ที่ลงตัวให้กับคนกรุงเทพฯ

bkk2.jpg


บทความอ้างอิงจาก
กรุงเทพมหานคร
สำนักข่าวกรุงเทพมหานคร

อ่านต่อ.......................

ขอบคุณบทความดีๆ จาก www.tcdcconnect.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที