อ.พยัพ มาลัยศรี
การบริหารธุรกิจยุคใหม่จะเน้นหนักไปทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรม เพราะว่าอุตสาหกรรมช่วยสนองความต้องการต่างๆของสังคมได้มาก ธุรกิจการผลิตสินค้าและการให้บริการแก่ลูกค้าอำนวยความสะดวกสบายให้กับการใช้ชีวิตประจำวัน สร้างงานให้กับคนจำนวนมาก สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติ ความสำเร็จของธุรกิจย่อมส่งผลต่อทิศทางการดำเนินไปของสังคม องค์การธุรกิจมีชีวิตอยู่ได้เพราะสามารถตอบสนองความต้องการต่างๆของสังคมได้ ถ้าองค์การใดไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ก็จะมีชิวิตอยู่ไม่ได้ องค์การธุรกิจเกิดขึ้นจากคนหลายๆคนที่มีเป้าหมายความสำเร็จตามความต้องการของเขาเอง และองค์การสร้างเป้าหมายที่สามารถรวมผลสำเร็จของทุกๆคนมาเป็นผลสำเร็จขององค์การ องค์การจึงยอมให้แต่ละคนทำสิ่งต่างๆที่เขาไม่สามารถทำงานตามลำพังได้ การร่วมแรงร่วมใจกันทำงานที่เป็นเป้าหมายของแต่ละคนให้สำเร็จย่อมส่งผลความสำเร็จมาสู่เป้าหมายขององค์การด้วย
ผู้บริหารคือผู้ที่รวบรวมประสานกิจกรรมต่างๆของบุคคลต่างๆและส่งเสริมให้กิจกรรมเหล่านั้นประสบความสำเร็จโดยใช้หน้าที่ทางด้านการบริหาร ที่จะทำให้ทุกคนถูกดึงและดันให้เกิดการรวมพลังกันช่วยทำให้เป้าหมายต่างๆขององค์การประสบความสำเร็จ กิจกรรมต่างๆของธุรกิจที่ผู้บริหารจะต้องทำการประสานงานให้สำเร็จประกอบด้วย
การผลิตสินค้าเป็นกิจกรรมอันดับแรกประกอบด้วย การออกแบบสินค้า ออกแบบกระบวนการผลิต จัดหาเครื่องจักร แรงงาน วัตถุดิบ สถานที่ตั้งโรงงาน ออกแบบโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักร วางแผนการผลิต และตรวจสอบคุณภาพสินค้า เพื่อผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ราคาถูก ลูกค้าพึงพอใจนิยมยกย่อง โดยได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกคนทุกระดับและทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ
ระบบควบคุมคุณภาพทั่วทั้งองค์การ(QC Circle) ดร.อิชิกาวา ชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ให้กำเนิด QC และพัฒนาจนประสบความสำเร็จจนได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่ง QC เริ่มนำมาใช้ในปี ค.ศ.1948 ในวงการอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเป็นประเทศมหาอำนาจทางธุรกิจของโลก ระบบ QC เริ่มต้นจากการปลูกฝังแนวคิดในหมู่ผู้บริหารระดับสูงและระดับกลางให้เข้าใจเสียก่อน แล้วจึงลงมาสู่พนักงานระดับล่างในภายหลังจนกระทั่งครอบคลุมพนักงานทั่วทั้งองค์การ โดยพยายามดึงความสามารถของพนักงานออกมาจากความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวของพนักงานเอง สนับสนุนพนักงานได้ใช้สมองและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต่างๆเพื่อนำมาพัฒนาการทำงาน นอกจากนั้นความร่วมมือร่วมใจและการสื่อสารที่ดียังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างชัดเจน
ระบบการบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์การ(TPM)เริ่มนำมาใช้ในประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1971 โดยบริษัทนิปอนเดนโซ่ ซึ่งใช้แนวคิดแบบเดียวกับ QC โดยเริ่มต้นปลูกฝังแนวคิดให้กับผู้บริหารระดับสูงและระดับกลางก่อน แต่เน้นเรื่องการบำรุงรักษาคุณภาพสินค้าอย่างยั่งยืน เพราะการผลิตสินค้าที่เป็นของดีราคาถูกให้ลูกค้าพึงพอใจได้นั้นจะต้องได้มาจาก เครื่องจักรที่ดี วัตถุดิบที่ดี บุคลากรที่ดี วิธีการหรือกระบวนการที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จึงจะได้สินค้าคุณภาพดีราคาถูกออกมาได้ TPM สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ ปรัชญาของ TPM จึงได้รับการถ่ายทอดสู่อุตสาหกรรมและได้รับการยอมรับกันทั่วโลก โดยสถาบัน JIPM ( Japan Institute of Plant Maintenance) ซึ่งทำให้โรงงานผลิตสินค้าต่างๆสามารถลดการสูญเสียและต้นทุนการผลิตหรือเพิ่มผลผลิตขึ้นมาก็ได้ ด้วยความรู้ความสามารถและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของพนักงานเอง นับว่าเป็นความสำเร็จของผู้บริหารที่นำ TPM มาใช้นั่นเอง
TPM เป็นกิจกรรมที่เริ่มต้นจากการสำรวจปัญหาและอุปสรรคที่บั่นทอนผลกำไรจากการดำเนินงานแล้วทำการฟื้นฟูและแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดปกติหรือไม่ได้มาตรฐานในการทำงานให้ถูกต้องเสียก่อนโดยเริ่มต้นที่เครื่องจักร “เครื่องจักรที่ดีย่อมผลิตสินค้าที่ดีออกมา” แล้วจึงดำเนินการปรับปรุงให้ดีขึ้น (Kaizen) เมื่อปรับปรุงจนสามารถกำหนดเป็นมาตรฐาน (Standardization) ได้แล้ว ขั้นสุดท้ายก็มองเชิงป้องกัน ( Prevention) เพื่อรักษาความยั่งยืนของคุณภาพสินค้าไว้อย่างสม่ำเสมอซึ่ง TPM เรียกว่า Quality Maintenance นั่นเอง กิจกรรมของ TPM ทั้ง 8 กิจกรรมหลักก็มีเป้าหมายการดำเนินการเดียวกันคือผลิตสินค้าคุณภาพดี ราคาถูก ลูกค้าพึงพอใจ พนักงานทำงานด้วยความปลอดภัย บริษัทมีกำไร มีบริษัทหลายแห่งที่มีผลประกอบการไม่ดีแม้ว่าจะได้รับการปรับปรุงด้วยเทคนิคต่างๆมาแล้ว แต่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไร แต่ TPM เมื่อปรับปรุงแล้วจะทำให้เกิดผลกำไรอย่างแท้จริงเพราะว่า TPM มีเทคนิคการปรับปรุงโดยการแยกปัญหาที่เกิดขึ้นของบริษัทในเชิงปริมาณและมูลค่าของความสูญเสียและค่าใช้จ่าย(Cost) ที่ตัดทอนผลกำไรลงและคัดเลือกหัวข้อการปรับปรุงที่สามารถสร้างผลกำไรได้จริงมาดำเนินการ การค้นหาการสูญเสียที่เป็นตัวบั่นทอนผลกำไรผู้บริหารจะสามารถมองเห็นได้จากการรวบรวมข้อมูลในรูปของ Cost-Loss Matrix
ดังแสดงให้เห็นในภาพด้านล่างนี้
ซึ่งจะทำให้เข้าใจได้ง่ายว่ามีการสูญเสียและค่าใช้จ่ายอะไรบ้างมากน้อยแค่ไหนที่เป็นตัวบั่นทอนกำไร ทำให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจกำหนดเป้าหมายดำเนินการปรับปรุงเรื่องต่างๆได้อย่างเหมาะสม TPM เรียกว่า การปรับปรุงเฉพาะเรื่องหรือFocused Improvement ( Kobetsu Kaizen)นั่นเอง
การทำกิจกรรม TPM เริ่มต้นจะเน้นไปที่การดำเนินกิจกรรมที่ฝ่ายผลิตก่อนหลังจากนั้นก็จะขยายครอบคลุมไปถึงฝ่ายบริหาร การขายและฝ่ายสนับสนุนต่างๆทั่วทั้งบริษัทจึงจะสอดคล้องกับความหมายของคำว่า TPM เพราะในอดีตที่ผ่านมาหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า TPM เป็นกิจกรรมเฉพาะการบำรุงรักษาเครื่องจักรของฝ่ายผลิตเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมากเพราะการจะก่อให้เกิดผลผลิตที่ดีออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือร่วมใจกันทำงานจึงจะสามารถบรรลุความสำเร็จไปได้ ปรัชญาของTPMและการปฏิบัติจริง จึงมีความจำเป็นที่พนักงานทุกคนจะต้องเรียนรู้ ฝึกฝนการทำกิจกรรม TPM สู่การปฏิบัติจริงให้ได้ไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับใดในองค์การ จะเป็นพนักงานปฏิบัติการผลิต สำนักงาน ช่างเทคนิค วิศวกร หัวหน้างาน ผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูง หรือแม้แต่ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษา ทางด้านช่างเทคนิค วิศวกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจ และกำลังจะก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมก็ตาม
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามและค้นหาความรู้เรื่อง TPM เพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง สังคมและประเทศชาติต่อไป
พยัพ มาลัยศรี
ที่ปรึกษาอุตสาหกรรม สสท.
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที