พยัพ

ผู้เขียน : พยัพ

อัพเดท: 12 พ.ย. 2013 15.02 น. บทความนี้มีผู้ชม: 152295 ครั้ง

ทำไม TPM จึงน่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรม


จะเข้าถึงปรัชญาของ TPM ได้อย่างไร

การเรียนรู้หรือการกระทำสิ่งใหม่ๆที่เรายังไม่เคยทำมาก่อนให้สำเร็จด้วยความถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆน้อยคนนักที่จะทำได้และยิ่งให้กระทำครั้งที่2,3 หรืออีกหลายๆครั้งให้ได้ผลสำเร็จออกมาเหมือนเดิมยิ่งยากใหญ่ แต่ก็มีคนทำได้ แต่บางคนอาจจะต้องใช้เวลามากหน่อยนั่นก็แสดงว่าเขา เข้าถึงปรัชญานั้นแล้ว  แต่บางคนจะให้มาเรียนรู้เองจนเข้าใจแล้วนำไปสู่การกระทำนั้นทำไม่ได้แต่ถ้าเคยเห็นคนอื่นเขาทำมาก่อนแล้วเมื่อมาลงมือทำเองก็ทำได้สำเร็จเหมือนกันแบบนี้เขาเรียกว่า ขอถึงปรัชญานั้น  TPM ก็เหมือนกันการที่เราจะเข้าถึงปรัชญาของ TPM ได้ทั้งหมดด้วยเวลาอันสั้นนั้นมีคนไม่มากนักที่ทำได้แต่ถ้ามีเวลาให้นานๆหน่อยคนส่วนใหญ่ก็สามารถทำได้  แต่ถ้าจะเอาเร็วก็ต้องใช้วิธีการ ขอถึง TPM เหมือนกัน  ดังนั้นการทำกิจกรรม TPM ในเมืองไทยจะมีทั้ง 2 ประเภทปะปนกันอยู่ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการขอถึงก่อนแล้วจึงค่อยๆเข้าถึงทีละน้อย  เป็นเรื่องๆไป แต่ผลลัพธ์ของทั้งสองประเภทแตกต่างกันมาก ประเภทแรก จะสามารถ ออกแบบ แก้ไขปัญหา ปรับปรุง บำรุงรักษา หรือป้องกันผลงานของตัวเองได้ด้วยตนเอง แต่ประเภทที่สองนี้ถ้าไม่มีตัวอย่าง ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่มีใครมาแนะนำ ไม่มีใครสั่งให้ทำก็ไม่สามารถสร้างผลงานออกมาได้ เนื่องจากการปลูกฝังทักษะยังเข้าไปไม่ถึงอุปนิสัย ได้แต่ขอถึงตามเขาไปเขาทำอะไรกันก็ทำด้วย เขามีอะไรก็มีด้วย ได้ประโยชน์มากน้อยไม่เป็นไรเพื่อให้เห็นว่าทำเหมือนกันมีเหมือนกันแต่ในระยะยาวจะไม่ยั่งยืน

                การตรวจประเมินเพื่อขอรางวัล TPM Awards ของ JIPM ก็เช่นเดียวกันผู้ตรวจประเมินจะเข้ามาประเมินผลการนำปรัชญาของ TPM-JIPM มาใช้ว่าโรงงานสามารถเข้าถึงหรือขอถึงปรัชญาTPM มีสัดส่วนเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลหรือไม่ ถ้ามีแต่ขอถึงมากเกินไปก็คงจะไม่สามารถมอบรางวัลให้ได้ จากการศึกษาเรียนรู้ ค้นคว้าหาประสบการณ์ TPM มาหลายปีทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่นติดตามดูการตรวจประเมินของผู้เชี่ยวชาญ JIPM ที่มาตรวจที่เมืองไทยหลายระดับรางวัล หลายโรงงาน หลายปีและได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร Assistant Assessor TPM Excellence Award ที่ทาง JIPM ร่วมมือกับ TPA พัฒนาผู้เชี่ยวชาญTPMไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ JIPM ที่เป็นผู้สอน(หลักสูตร Assistant Assessor)หรือผู้เชี่ยวชาญ JIPM ที่เป็นผู้ตรวจ ( Assessor TPM Awards)จะเน้นเรื่องนี้มาก โดยการเข้าไปซักถามผู้จัดการ หัวหน้างาน และผู้ปฏิบัติงานที่หน้างานว่าเข้าถึงปรัชญา TPM มากน้อยเพียงใด

การจะเข้าถึงปรัชญา TPM  หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ถ้าอยากรู้ว่าโรงงานเราเป็นอย่างไรอยู่ในระดับไหน ก็ให้ทดลองตอบคำถามต่างๆเหล่านี้ดูก่อนว่าตอบได้หรือไม่แล้วทดลองประเมินตนเองดูได้หรือถ้าต้องการให้ผมประเมินให้ก็ส่งคำตอบมาให้ผมทาง E-mail ก็ได้ว่าอยู่โรงงานไหนไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่ยังไม่เคยทำ TPM เลย หรือโรงงานที่กำลังทำอยู่ก็ได้ครับ

       ตอนที่ 1  สำหรับผู้บริหารโรงงานและคณะกรรมการส่งเสริมกิจกรรม (TPM Promotion Committee)

                1.ทำไมจึงต้องทำ TPM และเพราะเหตุใดจึงเลือก TPM เข้ามาใช้ในโรงงาน

                2.จุดมุ่งหมายของ TPM คืออะไร?

                3.TPM ทำไมต้องมี Pillar ด้วยคิดว่าเพราะอะไร?

                4.Activity Board ของผู้บริหารมีการเคลื่อนไหวข้อมูลเป็นไปตามโครงสร้างองค์กรหรือไม่?

                5.ผู้จัดการโรงงานมีความคาดหวังต่อการทำกิจกรรม การบำรุงรักษาด้วยตนเองของพนักงาน

                แค่ไหน?

                6. ผู้จัดการโรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ขั้นตอนไหน อย่างไร?

                7.บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารระดับต่างๆแบ่งให้กันอย่างไรในการทำ TPM ?

                8.การรวบรวม OEE,OPE ของโรงงานทำกันอย่างไร?

                9.การติดตามความก้าวหน้าของการทำกิจกรรม TPM ทำอย่างไร?

                10.การติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรม TPM ดูได้จากอะไร?

       ตอนที่ 2 สำหรับผู้จัดการฝ่าย-แผนกและคณะอนุกรรมการ(TPM Sub-Committee)

1.การทำกิจกรรม TPM ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการปรับปรุงเพื่อลดการ

  สูญเสีย  การบำรุงรักษาด้วยตนเอง และ การบำรุงรักษาตามแผน 3 กิจกรรมนี้มีเป้าหมายเดียวกัน  

   แต่แบ่งงานกันทำตามหน้าที่เป้าหมายคืออะไรแบ่งงานกันอย่างไร?

2.การเข้าถึงTPM ต้องใช้ประสบการณ์และค้นพบด้วยตนเองไม่ใช่อ่านจากตำราเท่านั้น การ

   ดำเนินการทำอย่างไร?

3.การพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่ม OEE ทำอย่างไร?

4.ปัจจุบันMTBF มีค่าเท่าไร? มีมาตรการอย่างไรที่จะทำให้ MTBF ยาวนานขึ้น

5.สาเหตุที่ MTTR ไม่ลดลงหรือลดน้อยมากเพราะเหตุอะไร?

6.การพัฒนาบุคลากรเพื่อลด MTTR ทำอย่างไร?

7.แนวคิดในการให้การศึกษาและฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนการทำ TPM ทำอย่างไร?

8.QM ต่างจาก QC อย่างไร? Q-Component ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

9.EM ทำไปเพื่ออะไร? ใครได้ประโยชน์

10.อะไรคือการสูญเสียของงานสำนักงานและเป้าหมายการปรับปรุงงานสำนักงานคืออะไร?

         ตอนที่ 3 สำหรับกลุ่มย่อย(Small Group) และพนักงานปฏิบัติการ

1.             บทบาทหน้าที่ของพนักงานผู้ใช้เครื่องจักรคืออะไร?

2.             จุดมุ่งหมายของการบำรุงรักษาด้วยตนเองคืออะไร?

3.             ผลลัพธ์ของการทำกิจกรรม AM Step 1 คืออะไร?

4.             ผลลัพธ์ของการทำกิจกรรม AM Step 2 คืออะไร?

5.             ผลลัพธ์ของการทำกิจกรรม AM Step 3 คืออะไร?

6.             ผลลัพธ์ของการทำกิจกรรม AM Step 4 คืออะไร?

7.             การเรียนในโรงงานต่างจากการเรียนในโรงเรียนอย่างไร?

8.             อุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆเกิดขึ้นจากอะไร?

9.             ทักษะพื้นฐานทางเทคนิค 6  เรื่องมีความสัมพันธ์กับเครื่องจักรอย่างไร?

10.      Kaizen ของ AM ต่างจาก Kaizen ของ FI อย่างไร?

เกณฑ์การให้คะแนน

                คะแนนเต็มข้อละ 10  คะแนน

                0 คะแนน : ตอบไม่ได้/ไม่มีความรู้ TPM เลย

                5คะแนน : ทำ TPM แบบขอถึงเท่านั้น

                10 คะแนน : ทำ TPM แบบเข้าถึงได้แล้ว

การประเมินผล

                คะแนนเต็มรวมทั้งหมด  :  300 คะแนน

                 0 -150    :   ควรหากิจกรรมมาทำหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน

                151 -210 :  ส่วนมากยังทำกิจกรรมแบบขอถึงปรัชญา TPM ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่

                211-240  : เริ่มเข้าถึงปรัชญาของ TPM  บ้างแล้วแต่ยังต้องพัฒนากันอีก

                241-300  : เข้าถึงปรัชญาของ TPM ได้มากแล้วช่วยพัฒนากันต่อไปความสำเร็จมองเห็นแล้ว

                ดังนั้นการนำปรัชญา TPM มาใช้ต้องวางรากฐานให้ดีจะให้ผลตอบแทนได้คุ้มค่ายาวนาน แต่ถ้านำมาใช้แบบไม่เข้าใจ รีบร้อน ลองผิดลองถูก ไม่กล้าลงทุน ยังไม่มั่นใจ ยังไม่ศรัทธา  กลัวๆกล้าๆ หรือกล้ามากเกินไป อาจประสบความล้มเหลวได้ หรือถ้าหากประสบความสำเร็จก็เพียงในระยะสั้นๆเท่านั้นและถ้าเกิดล้มเหลวแล้วแก้ยากเพราะความรู้สึกมันถูกปลูกฝังเข้าไประดับหนึ่งแล้วเหมือนความรักของคนบางคนที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วน่าจะอธิบายเรื่องนี้ได้ดี

                                                                                                                                                พยัพ มาลัยศรี

                                                                                                                ที่ปรึกษาอุตสาหกรรม ส.ส.ท.

 

 

 

 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที