khwanjai

ผู้เขียน : khwanjai

อัพเดท: 19 พ.ค. 2010 07.44 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3875 ครั้ง

กำลังใจ


กำลังใจ

      ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ที่แจกในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของ พันตำรวจเอก สมเพียร เอกสมญา สาเหตุที่อ่านเพราะต้องการรู้ว่า ทำไมคนๆหนึ่งถึงสามารถเป็นที่รักของลูกน้อง ผู้ร่วมงาน และประชาชนที่รู้จัก ได้มากมายขนาดนี้ คุณพ่อสามี ซึ่งรู้จักกับจ่าเพียร และยกย่องจ่าเพียรเป็นลูกศิษย์ที่ดี คนหนึ่งบอกว่า เสียดาษคนดีคนหนึ่ง แต่คนร้ายคงจะดีใจน่าดู  ในหนังสือได้เขียนเกี่ยวกับ ความเห็นของการเป็นผู้นำของจ่าเพียร ไว้ดังนี้

        ผู้นำมีอยู่ 2 แบบ คือ ผู้นำอย่างแคบ และผู้นำอย่างกว้าง  โดยผู้นำอย่างแคบ คือ ผู้นำที่ทำไปตามบทบาทหน้าที่เช่น กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ส่วนผู้นำอย่างกว้าง คือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง

        สำหรับผู้นำการเปลี่ยนแปลงในความเห็นของจ่าเพียร มีลักษณะ คือ เกิดมาเพื่อเรียนรู้ เรียนรู้เพื่อการกระทำ กระทำเพื่อให้บรรลุผล บรรลุผลเพื่อให้เห็นประจักษ์

        นอกจากนี้ได้กล่าวถึง ภาวะผู้นำที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เคยมีการดำเนินการหรือปฏิบัติ ดังนี้

1.     ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้

2.     รู้ปัญหาที่เร่งด่วนคืออะไร

3.     ต้องทำตนให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใต้บังคับบัญชา

4.     คิดเสมอว่าตนเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ผู้บริหาร

5.     ต้องสร้างขวัญ และกำลังใจ

6.     ต้องสร้างจิตสำนึก และความภาคภูมิใจ

 

บทสรุปหลังปกหนังสือ ได้เขียนคติในการทำงานของจ่าเพียรไว้ว่า ทำหน้าที่ ที่รับผิดชอบ ให้สำเร็จ

 

ใครหลายๆคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาการทำงานก็ขอให้นำหลักคิดการทำงานข้างต้นเป็นแนวทางในการทำงาน

ได้ และอยากจะให้กำลังใจทุกท่านที่เหนื่อยกับการทำงาน ด้วยพระราชดำรัสของในหลวงที่บันทึกไว้ในหนังสืออนุสรณ์ฯ ว่า

การบำเพ็ญประโยชน์ที่แท้จริง คือ การทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของหน้าที่ ทำเพื่อมุ่งผลงาน ทำด้วยจิตหวังดีต่อมนุษย์โลก ทำโดยไม่คิดหวังประโยชน์นั้นจะกลับมาสู่ตัวเรา ทำเพื่อผลประโยชน์ของหน้าที่และเพื่อผู้อื่น ไม่หวั่นเกรง หรือมีความสะเทือนใจต่อความเข้าใจผิด คำครหานินทาหรือคำสรรเสริญเยินยอ ทำทุกสิ่งโดยไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่หวังลาภยศต่างๆ ทำประดุจดังปิดทองหลังพระ ถ้าท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านคือผู้มีความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม เพราะท่านได้ปฏิบัติสิ่งที่ดีที่สุดมนุษย์จะพึงปฏิบัติแล้วนั้นคือ การบำเพ็ญประโยชน์ที่แท้จริง

 และขอพระราชทานอนุญาต นำเพลงพระราชนิพนธ์  ความฝันอันสูงสุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ พระราชทานแก่ ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่ออกปฏิบัติหน้าที่ ป้องกันอธิปไตยของชาติโดยทั่วหน้า โดยที่มาของบทเพลงเกิดจากพระสุบิน ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถึงองค์พระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นห่วงบ้านเมือง และที่มาปรากฏในสุบินนิมิตนี้ ก็เพื่อจะทรงเตือนว่า ในอนาคตต่อจากนี้ไป บ้านเมืองไทยจะประสบกับความวุ่นวาย โกลาหล เหมือนกับที่เกิดขึ้นในสมัยพระองค์ท่าน ขอให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ได้ทรงนำประชาชน และชาติไทยฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวง ให้ผ่านพ้นไปได้

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ

ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว

ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ

ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง

จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด

จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง

จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง

จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา

ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร

ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา

ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา

ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป

นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง

หมายผดุงยุติธรรม์อันสดใส

ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด

ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน

โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่

เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน

คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ

ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที