อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 24 พ.ย. 2006 21.12 น. บทความนี้มีผู้ชม: 38455 ครั้ง

อ่านแผนงานการนำ TQM ไปปฏิบัติ รวมทั้งอ่านบทความที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารต่างๆ ที่เอาระบบ TQM ไปประยุกต์ใช้


6ปี กับ TQM ได้มาเพราะปลาหมอสีแท้ๆ

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลายคนคงจะใช้โอกาสวันหยุดทำอะไรๆที่ชอบ ไปในสถานที่ที่ชอบ (ทำก่อนที่จะไม่ได้ทำ หรือไม่ได้ไป) ส่วนตัวผมนั้นพักนี้ไม่รู้ทำไม อยากหาสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงดูเล่น เพลินๆ ว่าแล้วก้อไปเดินสวนจตุจักร พอดีนึกขึ้นได้ว่าพี่ที่ทำงานเก่าเขาเลี้ยงปลาหมอสี ในใจอยากได้ของฟรี เพราะปลาหมอสีที่จตุจักรที่เขาคัดสวยๆมาขายนั้น ตัวละพันอั๊พครับพระคุณท่าน บางตัวสี่ห้าพัน ไอ้ที่แพงมากๆก็มีเป็นหมื่นๆ  ผมงี้ควักกระเป๋าไม่ลง เพราะด้วยต้องมีภาระค่าใช้จ่ายอย่างอื่นรออยู่ จึงต้องซื้อพวกถุงละร้อยมาแทน เอามาทดลองเลี้ยงก่อน เผื่อตาย จะได้ไม่เสียดายมาก (คิดแบบนี้คงเหมือนหลายคนที่เบี้ยน้อยหอยน้อย)


ตัวนี้ 4,000 บาทครับ สวยครับ แต่ไม่มีตังซื้อ

17678_DSC00125-1.gif


ตัวนี้ของผมเอง แม้ไม่ถึง 4,000 แต่เป็นตัวนำโชคให้ผมเลยครับ

(ใครเลี้ยงสวยๆ เอามาฝากบ้างดิครับ)


 

ย้อนไปตอนก่อนจะตัดสินใจซื้อ ผมเล่าค้างไว้ว่าคิดถึงพี่ที่ทำงานเก่าที่เขาเลี้ยงไว้เพราะเคยเห็นที่บ้านพี่เขา ก็โทรถาม บังเอิญพี่เขาอยู่บ้านพอดี "หวัดดีพี่ป้อง" ผมชวนสนทนา "เป็นไงบ้างสบายดีไหมครับ" "สบายดี" เสียงพี่เขาตอบมา "พี่ยังเลี้ยงปลาหมอสีไหม" ผมเข้าเรื่อง "เลิกเลี้ยงไปแล้ว เอาไปให้หลานๆหมดแล้ว" พี่เขาตอบกลับมา "อ้าว น่าเสียดาย ผมว่าจะขอพี่สักตัว" ผมรำพึงออกมา ..... หลังจากนั้นเราก็สนทนาเรื่องการเลี้ยงปลา ไอ้ผมน่ะมือใหม่หัดเลี้ยง พี่เขามือเก๋า ผมก็เลยคว้าโอกาสปรึกษาวิธีการเลี้ยงโดยไม่ต้องจ่ายค่าที่ปรึกษา (พี่เขาให้คำปรึกษาโดยไม่รู้ตัว) หลังจากนั้นพี่เขาถามผมด้วยความเป็นห่วงเพราะผมเองน่ะเคยเป็นลูกน้องพี่เขา สมัยก่อนนู้น คงเหมือนน้องชายคนหนึ่ง (ว่างั้น) พี่เขาถามว่า "งานเป็นไงบ้าง" "ก็ดีครับพี่ งานเยอะ" "เอ้อ ไปให้คำปรึกษาที่อื่นๆ เขาเป็นอย่างไรกันบ้างล่ะ" "มีหลายรูปแบบครับ ตั้งแต่เพิ่งทำคลอด หัดคว่ำ หัดคลาน หัดเดิน บางที่ก็วิ่ง" ผมเปรียบเทียบเพื่อให้พี่เขาเห็นภาพ "พี่ล่ะ งานเป็นไง" เท่านั้นล่ะครับ พี่เขาพรั่งพรูสิ่งที่อยากบอกเล่าเก้าสิบให้ผมฟัง จนผมอึ้งไปเลย ที่อึ้งไปไม่ใช่อะไรนะครับ แต่ผมเจอนักปฏิบัติ TQM ตัวจริงเข้าให้แล้ว แต่ตัวพี่เขาเองกลับไม่รู้สึกตัวครับว่าเขาเป็นนักปฏิบัติ TQM แถมยังทิ้งท้ายชนิดถ่อมตัวเสียอีกว่า TQM มันใหญ่ ทำไม่ไหว แต่พี่ทำ........ (รวมๆก็แปดอย่าง TQM ทั้งน้าน ) " คือทำรวมๆปนๆกันน่ะ บางครั้งก็ใช้เครื่องมือนั้น บางครั้งก็ใช้เครื่องมือนี้" น่าน...ผมเจอมือกระบี่ไร้เงาเข้าให้แล้ว แถมกระบี่ที่ใช้เป็นกระบี่ที่อยู่ที่ใจเสียด้วย แล้วอย่างนี้ผมจะไม่เก็บมาเล่าพวกเราได้อย่างไร...

 

            พี่เขาบอกว่าทุกวันนี้ดูแล อยู่ 8 สิ่งคือ

 

สิ่งที่ 1. QC STORY (นี่ก็หัวใจ TQM เลยนะ)

สิ่งที่ 2. KAIZEN (นี่ก็เครื่องมือตัวฉกาจ)

สิ่งที่ 3. 5ส (นี่ก็อีก พื้นฐานเลย)

สิ่งที่ 4. TPM (คงเป็น AM, FI ไม่แน่ใจว่ามีมากกว่านี้ไหม)

สิ่งที่ 5. EEM หรือ TEM ผมไม่แน่ใจหูตัวเองเพราะไม่คุ้นคำย่อนี้ น่าเป็นพลังงานนะถ้าเข้าใจไม่ผิด

อีก 3 อย่างเป็น    ISO รวมๆ ก็แปดพอดิบพอดี

 

"ตอนนี้มีฝรั่งมาช่วย ก็ดีนะ ดูคนละจุด" พี่เขาเล่าต่อ "แต่.... พี่ก็ทำในส่วนที่ปูพื้นเพื่อระยะยาว ส่วนฝรั่งเขามาระยะสั้น เขาจะ FOCUS จุดที่เป็นหัวใจ เมื่อจับจุดได้ ที่เหลือก็สบายแล้วอุดม" นอกจากนี้มีประเด็นต่างๆที่พี่เขาบอกในการนำ TQM ไปใช้งานจริง อีกหลายประเด็น เช่น

 

  1. ช่วงที่นำไปใช้ช่วงแรกๆ จะรู้สึกว่าอะไรๆ มันเยอะมาก หากท้อตอนนี้ก็จะก้าวไม่ผ่าน ช่วงนี้ต้องใช้ความอดทนสูงมาก แต่ถ้าผ่านไปได้จะสบาย
  2. พนักงานต้องการหัวหน้าที่สามารถสอน ชี้แนะ ให้คำปรึกษา และที่สำคัญต้องติดตามแทบทุกวัน และต้องมีเวลาคุยที่ชัด
  3. การแบ่งระดับสายงานการบังคับบัญชาต้องชัด และต้องสร้าง over lapping organization ให้ชัด เพื่อแบ่งความรับผิดชอบว่าใครทำอะไร แล้วจะส่งผ่านคำสั่ง (Top down) และรับข้อมูลข่าวสาร (Bottom up) อย่างไร
  4. หากมีเวลาสั้น ต้อง Focus จุดที่เป็นหัวใจของธุรกิจ เมื่อจับอยู่ก็สบาย (กรณีศึกษาจากฝรั่งชาวต่างชาติ)
  5. การเลือกใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เหมาะกับปัญหานั้นๆ

 

ผมแทบจะขับรถไปกราบขอบคุณงามๆ ที่พี่เขาได้เล่าประสพการจริงในการทำ TQM แต่มันก็เย็นมากแล้ว ผมขอยกยอดเป็นว่าจะขอนำเรื่องที่สนทนามาเล่าสู่กันฟังดีกว่า และบทความตอนนี้ ผมขอยกคุณงามความดีให้กับพี่ป้อง พี่ที่ใจดีกับผมเสมอมา แต่ผมขอพักเรื่องสนทนาไว้เพียงนี้ก่อน เพียงแค่นี้ผมก็มีประเด็นมาขยายความเยอะมากแล้วครับ

 

  1. ทำ TQM นั้น ต้องทำผ่านสองเครื่องมือย่อย (แต่เป็นเครื่องมือหลัก) และต้องสร้างเวทีให้ นั่นคือ PDCA ที่เราแตกออกมาเป็น QC Story นั่นเอง และ Kaizen
  2. QC Story นี้ถูกนำไปใช้ใน QCC ซึ่งเป็นเวทีของพนักงาน Problem Solving ซึ่งเป็นเวทีของ Supervisor ใช้ในการบริหารงานประจำวัน และ การบริหารงานนโยบายครับ การที่ทำ TQM คือการทำการแก้ไขปัญหา หรือปรับปรุงงาน โดยใช้แนวคิด PDCA หรือภาคปฏิบัติคือ QC Story นั่นเอง
  3. Kaizen ก็เป็นเครื่องมือทางการบริหารอีกตัวที่ผมยังไม่ได้พูดถึงในบทความของผมเลย แต่เป็นเครื่องมือที่ดีมาก ไว้ผมเล่ารายละเอียดในตอนของ Kaizen ดีกว่านะครับ
  4. อย่างไรก็ตามจะเลือกเครื่องมือใดนั้น ขึ้นกับสภาพปัญหา อย่ายึดมั่นถือมั่น ดังนั้นหากท่านทำ TQM คือการนำเครื่องมือต่างๆมาประยุกต์ใช้ ที่พูดว่าเอาหลายเครื่องมือมาผสมกันนั้นถูกต้องแล้ว เพราะตามหลักหารบริหารแล้ว “ไม่มีทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่สามารถเอาไปใช้บริหารได้เพียงทฤษฎีเดียว” แต่ให้เข้าใจว่า เครื่องมือที่เอามานั้น อยู่ในเสาที่ 2 ของบ้านแห่งคุณภาพของ Kano’s House นั่นเอง
  5. ช่องทางในการบริหารในเสาที่ 3 นั้น ความสำคัญอยู่ที่ระดับการบังคับบัญชา แต่ระดับที่ต่างกันต้องสร้าง Linkage กันให้ได้ นั่นคือท่านต้องสร้าง Over lapping Organization ให้ชัด และบริหารให้เป็น เมื่อสร้างชัด เรื่องที่จะทำการปรับปรุงมันก็จะตามมาเองว่าควรเลือกเรื่องที่ระดับความยากแค่ไหนมาทำการปรับปรุง
  6. ในเวลาอันจำกัด ผู้บริหารที่ฉลาดต้องรู้จักเลือกทำจุดที่สำคัญเท่านั้น อย่าไปเสียเวลาทำทุกอย่างให้ดี แนวคิดนี้ จึงมักพบเจอในเสาต้นที่หนึ่งอีก หนึ่งแนวคิด นอกเหนือจาก 7 แนวคิดที่เคยเขียนไปแล้ว ดังตัวอย่างที่พี่ป้องได้เล่าให้ฟังโดยไม่รู้ตัว (พี่ป้องคิดว่า เป็นแนวทางของฝรั่งที่เป็นมือปืนที่เข้ามาบริหารในช่วงเวลาสั้นๆ แต่จริงๆแล้วมันเป็นแนวคิดของพาเรโต้นั่นเอง ที่ TQM สอนไว้ตั้งแต่แรก แต่เราคนไทยส่วนใหญ่มักประยุกต์ใช้แนวคิดไม่เป็นนั่นเอง ข้อนี้คงให้ความกระจ่างกับท่านทั้งหลายได้)
  7. จะว่าไป TPM ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งของ TQM ในเสาที่ 2 ได้เช่นกัน หากองค์การพบว่าองค์การมีปัญหางานที่มีสาเหตุมาจากเครื่องจักร ก็ต้องเลือกเครื่องมือ TPM ไปใช้ แต่จะเอาเสาไหนของ TPM ไปใช้ ก็ขึ้นกับปัญหาที่แท้จริงนั่นเอง (ข้อนี้ สาวก TPM อาจจะไม่ชอบนักที่ผมเขียนแบบนี้ ก็จะบอกไว้อีกว่า อย่ายึดมั่นถือมั่น เพราะแค่คิดไม่ลงมือ ก็ไม่มีประโยชน์)
  8. เอาเครื่องมืออื่นๆมาใช้ มันก็คือ เพิ่มความเข้มข้นของเสาที่ 2 ครับ แต่ใช้แล้วก็ต้อง PDCA ว่าผลเป็นอย่างไรเทียบกับแผนที่วางไว้

 

เอาแค่นี้ก่อนนะครับ เพราะแค่นี้นั้น ท่านเชื่อไหมว่า เขาเริ่มมาตั้งแต่ปี 2000 นี่ก็ปาไป 6 ปีแล้ว มาถึงระดับนี้ได้คงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า TQM มีประโยชน์จริงๆ เพียงแต่การสร้างวัฒนธรรมให้ผู้คนทำงานในสไตล์ TQM นั้น ต้องอาศัยเวลาครับ ยืนยัน...

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที