นายเจ้าเล่ห์
ช่วงเวลาฮันนีมูนในการทำงานของดิฉันกับนายญี่ปุ่นคนแรก 5 ปีผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว จนตั้งตัวแทบไม่ทัน ความที่ในช่วงเวลาของนายคนแรกนั้น บริษัทมีปัญหาหมักหมมมากมายซึ่งรอเวลาสะสางทั้งเรื่องของพนักงานภายในที่ไม่มีกระจิตกระใจจะทำงานเพราะผู้บริหารเล่นพวก ถ้าใครไม่อยู่ในกลุ่มตนต่อให้ทำงานดีขนาดไหนก็ไม่มีวันได้ผุดได้เกิด ปรากฏการณ์หลายก๊กเกิดอยู่ทั่วไปในบริษัท ส่วนภายนอกบริษัทนั้นเนื่องจากภายในไม่เข้มแข็งทำให้การประสานงานกับลูกค้าที่เป็นคู่ค้าก็พลอยแย่ไปด้วย หลายร้านต้องปิดตัวและบางร้านยอดขายไม่ดีติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้บริษัทต้องเจรจาขอให้ปิดตัวลงซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะต่างก็ไม่อยากปิดและขอให้บริษัทหาทางช่วย ในสถานการณ์เช่นนั้นถ้าช่วยก็จะอยู่ในลักษณะเตี้ยอุ้มค่อม นายญี่ปุ่นและดิฉันต้องเดินสายเจรจาขอให้คู่ค้าปิดตัวเอง เกือบหนึ่งปีเต็มที่ต้องใช้ชีวิตแบบนกขมิ้นเหลืองอ่อน ไปมาจนทั่วและก็เพาะศัตรูไว้ทั่วเช่นกันถึงขนาดที่นายบอกให้ดิฉันใส่เสื้อเกราะกันกระสุนมาทำงานเนื่องจากอาจถูกสั่งเก็บได้ง่ายๆ เพราะการต้องผจญวิบากกรรมดังว่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา ทำให้วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วเหมือนติดปีกบิน พอนายเรียกเข้าไปบออกว่า ครบเทอมแล้ว ผมต้องกลับ ดิฉันจึงรู้สึกโหวงๆ เหมือนญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือกำลังจะจากไป
อย่างไรก็ตามดิฉันไม่มีเวลาเศร้าอยู่นานนัก เพราะระบบงานของญี่ปุ่นนั้นจะมีการส่งมอบงานโดยผู้ที่จะมาประจำคนต่อไปจะต้องเดินทางมาถึงก่อนล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งเดือน เพื่อศึกษางาน รับรู้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่ กรณีนายใหม่ของดิฉันนั้นไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของพวกเรา เพราะก่อนนายละเอียดจะเดินทางกลับ ได้บอกพวกเราว่าคนใหม่ที่มาแทนนี้คือเจ้านายที่ปลุกปั้นนายมากับมือและเคี่ยวมาก พร้อมยกตัวอย่างพอเรียกน้ำย่อยว่า ยุคที่คอมพิวเตอร์เริ่มบูมเข้าไปในญี่ปุ่นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดที่โตเกียวถูกสั่งให้ไปเรียนคอมพิวเตอร์เพื่อนำมาใช้ในงาน แต่นายละเอียดของดิฉันเพิ่งย้ายกลับไปจากฮ่องกงจึงไม่ได้ไปอบรม แล้วก็ให้บังเอิญได้รับมอบหมายงานทางด้านการวิเคราะห์ตัวเลขทางการตลาดที่ต้องส่งงานในวันรุ่งขึ้นจากเจ้านายคนที่ว่านี้ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลานานพอควรถ้าต้องจัดทำข้อมูลแบบเดิม ในที่สุดนายละเอียดของดิฉันก็ไม่สามารถส่งงานได้ตามกำหนด เป็นเหตุให้ถูกตำหนิอย่างรุนแรงแบบไร้ความปราณี พร้อมทั้งออกคำสั่งอย่างเด็ดขาดว่า ให้กลับบ้านไปซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเดี๋ยวนี้ และพรุ่งนี้ต้องนำงานมาส่งก่อนเที่ยงถ้าไม่ได้ก็ขอให้ลาออกไปปลูกแตงโมขายเสีย !! (นายละเอียดของดิฉันมาจากครอบครัวชาวไร่แตงโมที่จังหวัดชิบะ) ดิฉันรับฟังด้วยความรู้สึกยากจะบรรยายว่าหัวหน้าประเภทไหน(วะ) สั่งงานแบบไม่ดูสภาพการณ์ของลูกน้อง แต่ที่ทำให้บ้าหนักเข้าไปอีกก็คือนายละเอียดของดิฉันยอมทำตามแบบไม่มีข้อต่อรอง ก้มหน้าก้มตาไปเดินหาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่ย่านอะคิฮะบะระ แล้วรีบกลับไปทำงานที่บ้าน ซึ่งน่าทึ่งแบบต้องให้เหรียญอดทนเพราะวันรุ่งขึ้นนายก็สามารถส่งงานได้ตามที่หัวหน้าสั่ง แล้วแถมยังบอกดิฉันอีกว่า ถ้าไม่ส่งงานรับรองได้ว่า ผมต้องออกไปขายแตงโมแน่นอนเพราะหัวหน้าคนนี้รักษาคำพูดเสมอ โอ้! พระเจ้าจอร์ช มันยอดแย่ !! แล้วคุณลองตรองดู พวกเราต้องทำงานกับนายใหม่ที่มีลักษณะไร้ความปราณีแบบนี้ ไม่อยากนึกเลยว่าเหตุการณ์ต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร
หลังจากบอกลาซาโยนาระกับนายเก่าแล้วต้อนรับนายใหม่เป็นที่เรียบร้อย ในหนึ่งสัปดาห์ต่อมาพวกเราก็ถูกเกณฑ์ให้เข้าห้องนายใหม่วันละหนึ่งคนเพื่อไปให้นายสัมภาษณ์ว่าที่ผ่านมามีหน้าที่อะไร ทำงานมานานรึยัง ชอบงานที่ทำหรือไม่ งานที่รับผิดชอบอยู่นี้มีปัญหาอะไรบ้างรึเปล่า และสุดท้ายคืออยากจะทำอะไรบ้างในอนาคต ซึ่งการเรียกคุยแบบตัวต่อตัวนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับผู้มาใหม่ที่จะทำให้เข้าใจสภาพการณ์และเข้าใจพนักงานได้ดีและช่วยร่นเวลาในการวางแผนในการบริหารงานอย่างมาก ที่สำคัญคือทำให้ผู้บริหารได้รู้จักพนักงานมากขึ้น โดยทั่วไปแล้วชาวเอเชียจะมีลักษณะของความเกรงใจและไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาซึ่งลักษณะนี้ไม่มีข้อยกเว้นทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่นแต่หากเรียกมาคุยแบบตัวต่อตัวแล้วดูเหมือนจะสะดวกใจมากกว่า ดังนั้นการที่นายญี่ปุ่นคนใหม่ทำเช่นนี้จึงถือเป็นสิ่งที่ดีในแง่ของการรวบรวมข้อมูลที่จะเก็บได้อย่างตรงไปตรงมาเพราะพนักงานจะกล้าพูดโดยไม่กังวลว่าข้อมูลจะล่วงรู้ไปถึงบุคคลที่ตนพาดพิง
หลังจากที่ได้รับฟังข้อมูลแบบตรงไปตรงมาแล้ว สิ่งที่ดิฉันได้เห็นคือ นายคนที่สองนี้ได้สรุปและประเมินสภาพการณ์ของแต่ละแผนก รวมทั้งวางแผนแก้ไขในจุดที่เป็นปัญหา พร้อมทั้งพัฒนาส่วนที่ไม่มีปัญหา ความจริงสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องดีเพราะหมายถึงการพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรเรียนรู้ แต่บังเอิญส่วนที่ต้องพัฒนานั้นมีน้อยกว่าส่วนที่ต้องแก้ไข ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นแผนงานการตลาดก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน นั่นหมายถึงสิ่งที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จในช่วงอดีตที่ผ่านมา อาจใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน เป็นต้น แต่อย่างที่เราๆท่านๆทราบดีอยู่แก่ใจว่า อะไรก็ตามที่ทำจนเป็นความเคยชินการจะให้เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งก็ไม่เว้นแม้แต่ที่บริษัทของดิฉันเพราะพนักงานที่นี่รู้สึกว่าพวกตนก็ทำงานอย่างเดิม วิธีเดิมมาเป็นสิบๆปีไม่เห็นมีอะไรเพลี่ยงพล้ำ สินค้าใหม่ออกมาคราใดก็ขายได้ทุกทีไม่มีค้างสต็อค จัดแคมเปญส่งเสริมการขายที่ห้างเมื่อใดลูกค้าทั้งขาประจำขาจรก็มาอุดหนุนกันตรึม แล้วจะมีอะไรต้องแก้ไขอีก ทั้งพวกเซลล์แมนก็ดี พนักงานขายที่เคาน์เตอร์ก็ดีเริ่มรู้สึกต่อต้าน มีการจับกลุ่มพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของนายต่างๆนานา แต่ที่น่าสนใจก็คือนายเจ้าเล่ห์ของดิฉันมิได้ใส่ใจต่อเสียงนกเสียงกาที่ร้องกันระงมพวกนี้เลย ยังคงเดินหน้าสั่งงานต่อไปแบบสบายๆโดยเวลาสั่งงานนั้น นายจะไม่ลงไปคลุกในระดับล่าง แต่จะเรียกระดับผู้จัดการแผนกมาคุยแล้วให้ผู้จัดการแผนกไปคุยกับหัวหน้าแผนกเป็นทอดๆไป เวลาตามงานก็จะตามกับระดับผู้จัดการแผนกเช่นกัน ซึ่งเป็นการสร้างภาวะกดดันให้กับพวกผู้จัดการแถวหน้าที่ต่างคิดว่าตนเองทำงานดีอยู่แล้ว และเกิดเป็นปมประท้วงที่บางคนไม่ทำตามที่นายต้องการและเลือกวิธีนิ่งแบบอหิงสา บางคนออกอาการกระด้างกระเดื่องแล้วหาพวกจนขยายวงกว้างออกไปจากพนักงานในสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯไปสู่พนักงานในต่างจังหวัด บ้างก็ไม่ยอมให้บริการลูกค้าอย่างดีเหมือนเดิม บางก็ไม่ส่งรายงานสรุปประจำเดือนตามที่ควรจะทำ ช่วงนั้นบรรยากาศในที่ทำงานอึมครึมมาก พนักงานส่วนใหญ่ไม่อยากทำงาน แต่นายเจ้าเล่ห์ของดิฉันไม่สนใจปฏิกิริยาเหล่านี้ กลับเรียกหัวหน้าแผนกที่เป็นพวกรุ่นใหม่ไฟแรงแล้วถูกกดโดยผู้จัดการแผนกเข้ามาทำแทน ซึ่งกลุ่มเลือดใหม่เหล่านี้ก็เครื่องติดอยู่เดิมแล้วเพียงแต่ถูกสต๊าฟไว้ เหมือนผีดิบคืนชีพ จึงทำงานกันเป็นพายุบุแคมสั่งเช้าได้เย็น ขยันออกตรวจร้านค้า เหตุการณ์กระแสแห่งความไม่พอใจนี้ดำเนินไปจนถึงสิ้นปีและขาดสะบั้นลงด้วยผลการประเมินพนักงานปลายปี ที่ผู้ไม่ให้ความร่วมมือทั้งหมดได้รับการประเมินแบบไม่ได้ผุดได้เกิด โบนัสได้น้อยนิดและเงินเดือนไม่ขึ้น ในขณะที่ทีมผีดิบคืนชีพทั้งหมดได้รับการโปรโมทด้วยการให้ไปเที่ยวญี่ปุ่นหนึ่งสัปดาห์พร้อมเงินขวัญถุงสบายใจ เป็นเหตุให้ผู้บริหารระดับกลางหลายคนตัดสินใจลาออก ซึ่งนายก็ให้ออกโดยไม่มีการยับยั้ง
ในขณะนั้นฉันค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายญี่ปุ่นและไม่เข้าใจว่าทำใมนายไม่ยืดหยุ่นเพราะเพียงแต่นายยอมอ่อนลงเล็กน้อย พร้อมกับเพิ่มคำชี้แจงให้พนักงานทั้งหมดเข้าใจว่า บริษัทต้องปรับรูปแบบทางการตลาดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป บริษัทก็จะไม่ต้องสูญเสียมือดีที่อยู่กับเรามานานไปอย่างน่าเสียดาย แต่เมื่อฟังนายอธิบายแล้วก็ถึงบางอ้อ ในมุมมองของนายก็คือ ผู้ที่จับงานทางด้านการตลาดจะต้องเป็นคนที่ไวต่อสิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญคือต้องมีความกระตือรือร้น ที่จะคิดสร้างสรรค์งานใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม เพราะนายมองว่าการทำงานทางด้านการตลาดเป็นเรื่องของความเฉียบไว หมายถึงความคิดต้องเฉียบแหลม ล้ำลึกเกินกว่าคู่แข่ง การกระทำก็ต้องรวดเร็วด้วย นายคิดว่าฝ่ายขายและการตลาดเดิมนั้น แม้จะมีความสามารถแต่ควรเปิดใจกว้างรับสิ่งใหม่ๆด้วย ถ้าหากไม่ยอมขวนขวายเรียนรู้การตลาดแบบใหม่ๆ ในที่สุดก็จะไล่ตามพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ทันและจะกลายเป็นพวกการตลาดแนวอนุรักษ์ ซึ่งนายมองว่าไม่น่าจะเหมาะหรือสอดคล้องกับปรัชญาของบริษัทเรา ดังนั้นการให้พวกเขาออกไปโดยไม่ยับยั้งจึงเป็นเรื่องที่ดีทั้งกับพวกพนักงานเหล่านั้นและกับบริษัทเอง เพราะพนักงานก็ได้มีโอกาสไปทำงานในที่อื่นที่สอดคล้องกับความคิดและความสามารถของตน ส่วนบริษัทเองก็ได้มีเวลาหาพนักงานอื่นที่มีคุณสมบัติตามที่บริษัทต้องการ ซึ่งก็เรียกว่า win / win คือต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ นั่นเอง แล้วนายก็ยังสอนดิฉันต่ออีกว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่จะไม่สร้างความเจ็บปวดหรือความขัดแย้งเพราะคนส่วนใหญ่มักคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นการสร้างภาระ ซึ่งนายคิดว่าก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะคิด ทุกคนมีสิทธิ์คิดเช่นนั้นได้ เพราะโดยสัญชาตญาณของมนุษย์นั้นไม่มีใครอยากลำบาก แต่เราในฐานะผู้บริหารที่ต้องดูแลความก้าวหน้าและการเจริญเติบโตของบริษัท เราถูกกำหนดโดยนโยบายและเป้าหมายของบริษัทที่ต้องบรรลุให้ได้ ดังนั้นเราต้องรู้จักบริหารความเจ็บปวดหรือความขัดแย้งเหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ในฐานะของพนักงานดิฉันรู้สึกค้านอย่างเต็มที่ เพราะพนักงานก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ดังนั้นขวัญและกำลังใจตลอดจนผลประโยชน์ของพนักงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน แต่นายก็บอกว่าถ้าบริษัทอยู่ไม่ได้ พนักงานก็อยู่ไม่ได้ด้วยเช่นกัน ข้อสรุปจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ดิฉันเรียนรู้ว่าตราบใดที่เรายังรับเงินเดือนของบริษัทอยู่ก็คงต้องทำงานตามนโยบายของบริษัทแต่ถ้าไม่เห็นด้วยหรือไม่มีความสุขก็จงลาออกไป อย่าทนทู่ซี้อยู่ให้ลำบากใจทั้งสองฝ่ายเลย
การทำงานของนายเจ้าเล่ห์นี้แม้ไม่ถูกใจหลายคนในบริษัท แต่สังเกตได้ว่าพนักงานระดับกลางได้รับการฝึกฝนพัฒนาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว หลายคนจากที่ไม่เคยทำแผนการตลาดเอง คราวนี้ก็สามารถทำได้อย่างมั่นใจขึ้น มีมุมมองในเชิงการตลาดที่กว้างและหลากหลายกว่าแต่ก่อน ที่สำคัญคือฝ่ายการตลาดได้รับการอบรมให้รู้จักใช้ข้อมูลวิจัยตลาดมากยิ่งขึ้น แต่อย่างที่โบราณว่า จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย พนักงานระดับกลางเหล่านี้ถูกเขม่นจากหัวหน้าและรุ่นพี่ เรื่องลามไปถึงการไม่ให้ความร่วมมือและการใส่ร้ายป้ายสีต่างๆนานา ทำให้พนักงานระดับกลางที่แอ็กทีฟเหล่านี้ทำงานอย่างยากลำบาก และไม่กล้านำเสนอความคิดเห็นกับนายในที่ประชุม ชะรอยว่านายน่าจะสังเกตเห็นความน่าอึดอัดเหล่านี้ เรื่องทั้งหมดมาถึงจุดสุดยอดตอนที่มีผู้จัดการแผนกคนหนึ่ง(ที่ไม่ได้เห็นด้วยกับนาย) เข้าพบนายด้วยเรื่องของการตำหนิพนักงานระดับหัวหน้าคนหนึ่งที่เป็นดาวเด่นของบริษัทว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งส่อให้รู้สึกได้ว่าอาจรับเงินใต้โต๊ะจากซัพพลายเออร์ที่ติดต่อกันอยู่ การกล่าวหานี้เป็นเรื่องใหญ่และเสียหายมากสำหรับผู้ถูกกล่าวหา โดยปกติถ้าจะมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกันก็ควรต้องเรียกมาคุยแบบไม่ให้เผชิญหน้า เพื่อจะทำให้ผู้ถูกถามสามารถพูดได้อย่างเต็มที่ แต่นายญี่ปุ่นคนนี้ไม่สนใจวิธีการดังกล่าว ทันทีที่รับฟังเรื่องจากผู้จัดการแผนกก็เรียกผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปรับฟังข้อกล่าวหาจากหัวหน้าของตน แล้วซักถามกันแบบซึ่งๆหน้า รวมทั้งเรียกดิฉันเข้าไปนั่งฟังเป็นพยานร่วมรับรู้ด้วย ผลก็คือทำให้ผู้นำเรื่องมารายงานหน้าม้านกลับไป และผู้ถูกพาดพิงก็ทั้งงงและโกรธที่ถูกใส่ร้ายลับหลัง แต่ข้อดีที่ได้รับก็คือเราได้เห็นวิธีการชี้แจงที่กระจ่างจากพนักงานคนนั้นเนื่องจากข้อกล่าวหาไม่เป็นความจริง แล้วก็ได้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของหัวหน้างานที่วิเคราะห์สิ่งที่ตนเห็นโดยมีอคติ ซึ่งในวันนั้นก่อนที่ทุกคนจะออกจากห้อง นายได้สรุปแบบสั่งสอนกลายๆว่า การทำงานร่วมกันต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้ใจกันโดยเฉพาะหัวหน้า ถ้าไม่ไว้ใจลูกน้องที่ตนปั้นมากับมือก็เปรียบเสมือนกำลังดูถูกตนเอง ดังนั้นหากมีอะไรที่ไม่เข้าใจกันก็ต้องพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของความยุติธรรม การนำเรื่องของคนอื่นมาพูดลับหลังโดยที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอและเจ้าตัวไม่มีโอกาสชี้แจงนั้นถือเป็นการเสียมารยาทอย่างแรงและผิดวิสัยผู้นำ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเข้าไปรายงานนายด้วยเรื่องแบบนี้อีกเลย
นอกจากเรื่องการขจัดปัญหานินทากาเลเหมือนเทแกลบแบบไทยๆนี้แล้ว อีกเรื่องที่ดิฉันรู้สึกทึ่งมากในการทำงานของนายเกี่ยวกับการคิวซีคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ที่นายจะล้วงลึกและเช็คแบบละเอียดยิบจนน่ากลัว เรื่องมีอยู่ว่า ทุกปีจะผลิตของพรีเมี่ยมให้แก่ลูกค้าสมาชิกที่สะสมยอดซื้อตลอดปีซึ่งของดังกล่าวนี้จะเปลี่ยนไปตามคอนเซ็ปต์ทางการตลาดในแต่ละปี ในปีแรกที่นายเจ้าเล่ห์มาถึงไม่มีปัญหาเพราะเราสั่งของมาจากสำนักงานใหญ่ที่โตเกียว แต่ในปีที่สองของนายนั้นมีการลงความเห็นว่าจะสั่งทำกระเป๋าใส่สูทแบบ one night case โดยนำต้นแบบมาจากญี่ปุ่น ปรากฏว่าในวันที่ผู้ผลิตส่งสินค้ามาให้ตรวจเช็คนั้น นายลงมาทำหน้าที่เป็นคิวซีเองโดยนำนิตยสารเล่มหนาๆหลายฉบับมากใส่ลงไปในกระเป๋านั้นแล้วใช้มือขวาจับหูกระเป๋าเหวี่ยงแรงๆ เหมือนเราเหวี่ยงลูกตุ้ม เพื่อทดสอบความคงทนผลปรากฏว่าหูกระเป๋าขาด ฝากระเป๋าเปิด งานนั้นผู้ผลิตต้องทำใหม่เป็นผลทำให้ขาดทุนยับเยินแต่ลูกค้าพอใจมากเพราะของมีคุณภาพ ซึ่งการคิวซีแบบถึงลูกถึงคนนี้ในสมัยก่อนนั้นที่เมืองไทยค่อนข้างละเลย เพราะยึดคติอะลุ้มอล่วยแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย ที่ขอส่วนลดในการผลิตบ้าง หรือขอให้ผลิตเกินจำนวนแบบแถมๆบ้าง ถ้ามองในระยะยาวแล้วก็จะเกิดผลเสียต่อบริษัทเพราะลูกค้าก็จะไม่ชอบใจและอาจเป็นสาเหตุให้เสียลูกค้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เนื่องจากนายญี่ปุ่นคนนี้เติบโตมาในสายการตลาดดังนั้นเมื่อคิดหรือทำอะไรจึงอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์เสมอ และทำงานเป็นระบบ รวมทั้งรู้ลึกรู้จริงในเรื่องที่ทำหรือกำลังจะทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเอาเป็นแบบอย่างในการทำงานอย่างยิ่ง ในยุคของนายเจ้าเล่ห์นี้การใช้งานประชาสัมพันธ์ในเชิงการตลาดกำลังเป็นที่สนใจและจับตามองอย่างมาก หลายบริษัทใช้แผน Corporate PR เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาด รวมทั้งบริษัทของดิฉันด้วยซึ่งในฐานะหนึ่งในผู้รับผิดชอบงานทางการตลาดขณะนั้น ดิฉันมองว่าบริษัทประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่นายญี่ปุ่นกลับมองว่านี่ไม่ใช่ความสำเร็จที่ควรภาคภูมิใจนานนักเพราะเราทำ Corporate PR ในสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งนายมองว่าไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนักและที่สำคัญนายยังตอกย้ำแบบไม่เกรงใจประเทศแม่ของตนว่า ญี่ปุ่นไม่ใช่ชาติที่เก่งทางด้านการประชาสัมพันธ์ และไม่ใช่ญี่ปุ่นเพียงชาติเดียวที่ไม่เก่งในเรื่องดังว่านี้ ประเทศในแถบเอเชียทั้งหมดก็ไม่เก่งและชำนาญในเรื่องนี้เช่นกันเหตุผลก็คือพวกเราเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมแบบถ่อมตน ดังนั้นการจะพูดถึงตนเองในลักษณะเยินยอ บอกคุณสมบัติที่ดีของตนนั้นพวกเราจะไม่ทำเพราะเหมือนเป็นการอวดอ้างเกินไป แถมนายเจ้าเล่ห์ยังแนะนำให้เราจับตาดูการทำงานของพวกยุโรปและอเมริกาที่นายคิดว่าเป็นต้นแบบของงานPR และการตลาดอีกด้วย นอกจากนั้นยังทำนายแนวทางการตลาดในอนาคตด้วยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในสไตล์ของฝรั่งไม่ใช่ญี่ปุ่นแน่นอนเพื่อเตรียมการสำหรับการเปลี่ยนแปลงอันนี้นายได้ส่งพวกเราไปอบรมทั้งที่อเมริกาและฝรั่งเศส ซึ่งใน ช่วงนั้นหลายคนเดินทางไปแบบจำยอมไม่เชื่อถือนายเท่าใดนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราพบว่าการทำนายของนายแม่นยำมาก หลายบริษัทที่ปรับตัวไม่ทันกลายเป็นบริษัทที่เชย ตกยุคไปทันที
หลายคนที่เป็นลูกน้องอาจมองว่าการมีนายที่มีลักษณะเจ้าเล่ห์แบบนี้ทำงานด้วยยาก แต่ดิฉันกลับมองว่าเป็นความโชคดีเพราะได้เรียนรู้มากมาย ทำให้มีมุมมองกว้างขึ้นแม้จะมีหลายอย่างที่อาจใช้ไม่ได้ผลกับสังคมไทยแต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปตลาดทั่วโลกก็ถูกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว การเรียนรู้และเข้าใจตลาดจะทำให้เรา ก้าวล้ำหน้ากว่าผู้อื่นหลายขุม
By : eriko
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที