ช่วงปี4ที่คณะวารสารฯ เป็นช่วงที่พวกเราทุกคนจะยุ่งยากมาก เพราะนอกจากจะเรียนอย่างหนักแล้ว ยังจะต้องเตรียมหาสถานที่ฝึกงาน และก็ต้องเขียนสารนิพนธ์ ซึ่งก็น้องๆวิทยานิพนธ์ตอนทำปริญญาโทนั่นแหละ |
ก๊วนของดิฉันก็ยุ่งเหมือนกัน เราต่างแยกย้ายเตรียมฝึกงาน แต่ก็ยังไม่ทิ้งวิชาภาษาญี่ปุ่น เพราะเป็นวิชาโทของพวกเรา ดิฉันเรียนอย่างหนัก และน่าปลื้มใจ ที่ภาษาของดิฉันพัฒนามาก จนกระทั่ง รศ.อรทัย ศรีสันติสุข อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้เปรียบเสมือนแม่ทูนหัวของดิฉัน เรียกเข้าไปพบ (สมัยที่เป็นนักศึกษา ต้องบอกว่าโชคด ีที่มีอาจารย์ท่านนี้เป็นผู้คอยดูแลแนะนำ ชี้แนะ ต้องเรียกว่าดิฉันได้ดีมีวันนี้ก็เพราะท่านอาจารย์อรทัย) |
จำได้ว่าบ่ายวันหนึ่ง ของเดือนมิถุนายนปี 1982 อาจารย์บอกว่า มีทุนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยโฮเซ ประเทศญี่ปุ่นเข้ามา ขอให้ไปลองสอบดู เป็นทุนที่ให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกชั้นปี เพื่อเดินทางไปอยู่กับครอบครัว ของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยโฮเซเป็นเวลา 15 วัน ดิฉันจะได้มีโอกาสใช้ภาษาญี่ปุ่น ที่ร่ำเรียนมาเป็นการปูพื้นในอนาคต ดิฉันลองทำตามที่อาจารย์แนะนำ ตอนไปสอบสัมภาษณ์ มีอาจาร์ยที่ี่เป็นคณะกรรมการ 4 5 ท่าน ที่จำได้คือ ดร.ลิขิต ธีระเวคิน (ตอนนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์) อาจารย์บัญญัติ สุรการวิทย์ (อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์) ดร.ลิลลี่ โปษยานนท์ เป็นต้น ตอนสอบสัมภาษณ์ คณะกรรมการถามทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น แล้วก็ให้แสดงความสามารถพิเศษ ซึ่งดิฉันจำได้ว่าตัวเองรำมโนราห์บูชายัญ รำป้อไปป้อมาจนดร.ลิขิตเวียนหัว ก็เลยให้สอบได้ (เรียกว่ามันต้องมีเทคนิคนะ ของแบบนี้ใครดีใครได้) |
โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในครั้งนั้น รู้สึกจะเป็นครั้งแรก และครั้งเดียว เพราะจากรุ่นของดิฉันแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยโฮเซให้ทุนอีกเลย (อาจจะเข็ดพวกดิฉัน) นักศึกษาที่ได้รับคัดเลือก มีประมาณ 15 คนจากคณะต่างๆคือ ศิลปศาสตร์ 4 คน พาณิชยศาสตร์และการบัญชี 1 คน เศรษฐศาสตร์ 2 คน วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน 1 คน รัฐศาสตร์ 5 คน สังคมศาสตร์ 1 คน นิติศาสตร์ 1 คน มีอาจารย์ผู้ควบคุมความประพฤติไปด้วยสองท่าน คือ ดร.ลิขิต ธีระเวคินซึ่งท่านได้รับเชิญไปบรรยาย เกี่ยวกับเรื่องการเมืองไทย ที่มหาวิทยาลัยโฮเซด้วย และอีกท่านคืออาจารย์บัญญัติ สุรการวิทย์ ซึ่งได้ฉายาว่า เจ้าพ่อชินจูกุ ( ??: Shinjuku ) หมายถึง ผู้รู้เกี่ยวกับชินจูกุ (ชื่อสถานีรถไฟในโตเกียวที่มีแหล่งช็อบปิ้งอันลือชื่อ) เพราะอาจารย์เป็นนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ที่ไปอยู่ตั้งแต่เด็กๆ ว่ากันว่า ถ้าฝนตก อาจารย์บัญญัติสามารถพาหลบฝน ไปตามชายคาต่างๆ ในชินจูกุได้โดยไม่เปียกฝนเลย เพราะความเจนพื้นที่ น่าเสียดาย ที่อาจารย์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไปเมื่อหลายสิบปีก่อน |
พวกเราผู้ร่วมชะตากรรมทั้งหมด ในโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนี้ เดินทางไปถึงโตเกียวในช่วงตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยโฮเซยังเปิดอยู่ ด้วยว่าการเริ่มต้นภาคการศึกษา ของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นกับไทยต่างกัน ช่วงเดือนตุลาคมของญี่ปุ่นเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง หรือที่เรียกว่า อะคิ อากาศหนาวพอสมควร ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ใบไม้โดยเฉพาะใบเมเปิ้ลหรือใบโมมิจิ เปลี่ยนเป็นสีแดงสวยและโรแมนติกมาก ก่อนออกเดินทางพวกเรารวมกลุ่มเตรียมตัวซ้อมการแสดง ทั้งร้องเพลง โดยเลือกเพลงประจำมหาวิทยาลัยยูงทอง แล้วก็เพลงสายทิพย์ ของ ม.ล.พวงร้อย อภัยวงศ์ กับ ดร.สายสุรี จุติกุล เพราะสั้นและสามารถร้องประสานเสียงได้ โดยมีคุณนายหนุ่ย- วไลพร นิตยานันทะ จากคณะพาณิชยศาสตร์ฯ (ปัจจุบันเป็นเจ้าแม่เอไอเอไปแล้ว ) และนายเอ๋- อรรถพงษ์ เกิดเกียรติพงษ์ จากคณะศิลปศาสตร์ ( ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ประจำนครนิวยอร์ค ) ทั้งสองคนเคยอยู่ในวงทียูแบรนด์ เป็นโต้โผต้นเสียง โดยเฉพาะนายเอ๋นี่เสียงดีมาก มีพลัง กังวาน เวลาตะโกนร้องเพลงซึบารุ ทีไรพวกเราขนลุกทุกที ส่วนรำไทยนั้นรู้สึกว่าจะเลือกรำเพลงเชิญพระขวัญ โดยมีพี่ยี สุมาลี สุรการวิทย์ (ปัจจุบันคือ ดร.สุมาลี อยู่คณะครุสาสตร์ จุฬาฯ ) และเจ้าต๋อง-เย็นจิต เตชะธนาลัย สองสาวจากคณะศิลปศาสตร์ เป็นผู้แปลความหมายของเนื้อเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่น ซ้อมกันทุกวี่ทุกวันตอนเย็นๆ จนหายใจเข้า-ออกเป็นเพลงสายทิพย์และเชิญพระขวัญเลยทีเดียว |
|
เมื่อเดินทางไปถึงโตเกียว ทางมหาวิทยาลัยโฮเซจัดให้พักที่หอเยาวชนอิจิงะย่าใกล้ๆกับมหาวิทยาลัยนั่นเอง เดินข้ามคลองมาก็ถึงมหาวิทยาลัยโฮเซแล้ว สะดวกมาก ที่หอพักนี้ทันสมัยสะดวกทุกอย่าง ผู้จัดการ พ่อบ้านแม่บ้าน ผู้ดูแลก็น่ารัก ใจดีเป็นมิตรมาก เสียอยู่อย่างเดียวคือห้องน้ำ ที่ใช้ระบบห้องน้ำรวมแบบญี่ปุ่น ซึ่งสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับสาวไทยอย่างพวกเรายิ่งนัก |
ห้องน้ำที่ว่านี้มีลักษณะ แยกกันระหว่างหญิงชาย (ถ้ารวมกันเสียเลยก็คงจะไม่อกสั่นขวัญแขวนขนาดนี้นะ ) ภายในห้องน้ำจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก มีล็อกเกอร์สำหรับใส่สัมภาระ ส่วนที่สองเป็นห้องโถงใหญ่ มีสระน้ำอยู่ตรงกลาง รายรอบด้วยกระจก พร้อมก๊อกน้ำเตี้ยๆและเก้าอี้เล็กๆ คนที่จะเข้าไปอาบน้ำจะต้องเปลื้องผ้าที่บริเวณส่วนแรก แล้วก็เดินนุ่งลมห่มฟ้าพร้อมอุปกรณ์อาบน้ำเข้าไปที่ส่วนโถงที่สอง โดยต้องนั่งชำระร่างกายให้หมดจดที่บริเวณก๊อกน้ำเตี้ยๆนี้ แล้วก็ค่อยๆเยื้องย่างลงไปที่สระน้ำร้อน ซึ่งมีอุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียสโดยประมาณ (ต้มไข่สุกเลยทีเดียว) |
กรรมวิธีในการลงสระน้ำร้อน เพื่อความปลอดภัยก็คือ ต้องค่อยๆ หย่อนขาข้างใดข้างหนึ่งลงไปก่อนสักครู่ แล้วก็ตามด้วยขาข้างที่เหลือ ยืนโชว์อยู่สักพัก เพื่อให้คนในห้องมองเห็น เอ๊ย ! ไม่ใช่ เพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะ แล้วจึงค่อยๆ หย่อนก้นลงไปแตะพื้นน้ำ คราวนี้เลือดในตัวก็จะฉีดพล่าน เพราะความร้อน 45 องศาเซลเซียส ซึ่งคนญี่ปุ่นชอบอาบน้ำแบบนี้มาก เพราะถือว่ามีผลดีต่อสุขภาพ และการอาบน้ำร่วมกันแบบน ี้ว่ากันว่าจะก่อให้เกิดความสนิทสนมกลมเกลียวยิ่งขึ้น |
แต่สำหรับสาวไทยอย่างดิฉัน แทบลมใส่ แม้จะพอรู้เลาๆ เรื่องการอาบน้ำรวมแบบนี้มาก่อน จากการเรียนภาษาญี่ปุ่นก็ยังอดทำใจไม่ได้ คนอื่นๆ ที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงเลย คืนแรกก็เกิดโกลาหลในห้องน้ำหญิง เพราะสามสาวรุ่นน้อง จากคณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ เจ้ายุ่ง เจ้าแก่ง เจ้านุ้ย ที่ปกติก็ทั้งแก่น ทั้งยุ่ง และซ่าส์สมชื่ออยู่แล้ว วิ่งหน้าตาตื่น ขึ้นไปหาที่ห้องพัก แล้วก็บอกว่า แม่บ้านผู้ดูแลห้องอาบน้ำ ไม่ยอมให้อาบน้ำ ด้วยเหตุผลที่ทั้งสามสาวไม่ยอมแก้ผ้าอาบน้ำ ซึ่งหนูยุ่งของเราบอกว่า อยู่เมืองไทยยังไม่เคยมีใครโชคดี ได้ดูเจ้าหล่อนแก้ผ้าเลย แล้วมันเรื่องอะไรจะมาแก้ผ้าให้พวกนี้ดู ถ้าเปลี่ยนจากแม่บ้านเป็นพ่อบ้านญี่ปุ่นสิ พวกหล่อนจึงจะยอมแก้ผ้า ดังนั้นสามสาวก็เลยพร้อมใจกันใส่ชุดว่ายน้ำ ลงในสระน้ำร้อน เป็นเหตุให้แม่บ้านไม่ยอม ด้วยว่าทำให้ผู้ใช้บริการคนอื่นๆ มองว่าไม่สะอาด พวกดิฉันก็เลยต้องแก้ปัญหา ด้วยการขอยืมผ้าถุงของคุณนายหนุ่ย ผู้รอบคอบใ ห้ทั้งสามสาวนุ่งกระโจมอกเข้าไปที่ห้องน้ำ แล้วก็ไปอธิบายให้คุณแม่บ้านฟัง ซึ่งกว่าจะรู้เรื่อง และยอมความกันก็เมื่อยทั้งมือ และปาก ด้วยว่าภาษาญี่ปุ่นของเรายังไม่ถึงขั้น ครั้นจะใช้ภาษาอังกฤษ คุณแม่บ้านก็ไม่กระดิกหู จากนั้นก็ให้สามสาวจอมแก่นนี้เดินไปที่สระน้ำ ค่อยๆ ถอดกระโจมอกออกโดยให้โป๊น้อยที่สุด คือค่อยๆ ดึงจากล่างไปบน เนื่องจากผ้านุ่งของคุณนายหนุ่ยเป็นแบบสำเร็จ ที่ใช้ยางยืดเย็บไว้ที่เอว สะดวกในการนุ่งมาก คุณๆ ลองจินตนาการดู ว่ามีสามสาวหน้าตาพอดูได้ เดินกระโจมอกเข้าไปที่ห้อง ซึ่งทุกคนแก้ผ้าหมดนี้ แล้วพอไปถึงขอบสระก็ค่อยๆ หย่อนขาลงไป ขณะเดียวกันก็ดึงผ้าขึ้นทีละเล็กละน้อย มันดูประหลาดไม่น้อยเลยใช่มั้ย |
เรื่องอาบน้ำที่หอพักเยาวชนนี้คาใจพวกเรามาก พอเล่าให้ดร.ลิขิตและอาจารย์บัญญัติฟัง ทั้งสองท่านก็ขำกลิ้ง แล้วก็บอกว่า เฮ้ย ! ทำใจเถอะ แก้ไปเลยว่ะ ควรจะภูมิใจนะ เพราะของสาวไทยสวยกว่าญี่ปุ่นตั้งเยอะ (ไม่รู้อาจารย์ทราบได้ไง) แล้วอาจารย์ก็บอกว่า ผมยังแก้เลย เพราะห้องน้ำชายก็เหมือนกัน เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามสิ ! เอ้า หลิ่วเป็นหลิ่ว แก้เป็นแก้สินะ จากนั้นต่อมาอีกสิบกว่าวันที่อยู่ที่นี่ ไม่มีใครบ่นเรื่องนี้อีกเลย |
กิจกรรมที่อยู่ที่มหาวิทยาลัยโฮเซก็คือ การสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฟังบรรยายช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายก็ทัศนศึกษา รู้สึกว่าเราจะไปหลายที่ เป็นต้นว่า สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชที ( NHK- ย่อมาจาก Nippon Housou Kyoukai : ตอนที่ไปดูมีการถ่ายทำภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องเกี่ยวกับซามูไร มีญี่ปุ่นชายหญิงแต่งกายด้วยชุดกิโมโน ทำผมโบราณย้อนยุคแบบในเรื่องซามูไรพ่อลูกอ่อน ดูแปลกดีเหมือนกัน นอกจากนั้นก็ไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ โตเกียวทาวเวอร์ที่สร้างเลียนแบบหอไอเฟลของฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อขึ้นไปถึงชั้นสูงสุดก็จะมองเห็นรอบกรุงโตเกียวเลยนะ แล้วถ้าอากาศดีๆก็จะเห็นภูเขาไฟฟูจิตระหง่านอยู่ลิบๆ ไปชมรัฐสภาไดเอทของญี่ปุ่นด้วย คล้ายๆตึกรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. |
นอกจากจะทัศนศึกษาในกรุงโตเกียวแล้ว พวกเรายังได้ไปที่คามะคุระ ซึ่งอยู่นอกกรุงโตเกียวออกไป เป็นสถานที่ ที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เรียกว่าไดบุทสึ ตั้งตระหง่านอยู่ ดิฉันไม่แน่ใจว่า เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกรึเปล่านะ แต่ที่แน่ๆ คือมีความเชื่อกันว่า ถ้าใครอยากได้ลูกชาย ให้มาไหว้ที่นี่ แล้วมักจะสมหวัง ช่วงก่อนกลับ พวกเราต้องแยกย้ายกันไปพักกับครอบครัวนักศึกษาโฮเซด้วย 3 วัน 2 คืน ซึ่งก็มีเรื่องขำๆ ต่างๆมาเล่าสู่กันฟัง สำหรับดิฉัน ได้พักกับครอบครัว ของนักศึกษาคณะนิติศาสตร ์ที่คุณพ่อคุณแม่ เป็นโปรดิวเซอร์ทำละครคะบุกิ บ้านพักเป็นเพ้นท์เฮ้าส์ใหญ่มาก ปูพรมแดงตลอด แล้วมีห้องญี่ปุ่น สำหรับให้แขกพัก ซึ่งดิฉันก็ได้พักห้องนี้ ได้คุยแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็น ความเป็นอยู่มากมาย ตอนเย็นก็ช่วยกันทำอาหาร โดยคุณแม่ญี่ปุ่นซึ่งดิฉันเรียกว่า โอะก้าซัง หมายถึงคุณแม่ของคนอื่น ถ้าเรียกแม่ตัวเอง ใช้ว่า ออกเสียงว่าฮะหะ) เป็นคนสอนให้ทำเทมปุระ โดยเอากุ้ง ปลา ผัก มาชุบไข่แล้วก็ไปชุบเศษขนมปัง จากนั้นนำไปทอดในน้ำมันไฟอ่อนๆ เวลาทานก็จิ้มกับโชยุ ผสมหัวผักกาดขาวขูดฝอย ทานกับข้าวร้อนๆ อร่อยดี ตอนทานอาหาร ก็มีเรื่องที่แตกต่างจากคนไทย เพราะคนญี่ปุ่นจะมีคำพูดก่อนทานว่าอิทะดะคิมัส (Itadakimasu) หมายถึง ขออนุญาตทานอาหารแล้วนะ หรือ เอ้า ! ลงมือได้ อะไรทำนองนี้ เมื่ออิ่มก็จะพูดว่าโกะจิโซซามะ ถ้าแปลตามตัวก็คือ ขอบคุณที่ทำให้ท้องอิ่ม ถ้าจะแปลอย่างสละสลวย ก็น่าจะหมายถึง อาหารอร่อยมาก ขอบคุณมากค่ะ/ครับ |
พูดถึงศัพท์แสงต่างๆที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จำได้ว่าตอนไปพักกับครอบครัวญี่ปุ่นครั้งนี้ได้ความรู้มาพอสมควร โอะก้าซัง บอกว่า เวลาที่ จะออกจากบ้านไปข้างนอกเพื่อกิจธุระหรือไปไหนๆก็ตาม คนญี่ปุ่นจะไม่เดินออกไปเฉยๆ แต่จะส่งเสียงบอกคนในบ้านว่าอิตเตะ คิมัส หมายถึง ไป หมายถึงมา แปลรวมความก็คือ ไปแล้วนะ เดี๋ยวกลับมา ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยก็จะบอกว่า อิตเตะ รัชชอิ ) หมายถึงไปเถอะ / เชิญเถอะ เวลากลับมาถึงบ้านก็จะส่งเสียงว่า ทะไดมะ กรุณาออกเสียงดีๆมีบางคนจำผิดจำถูกเป็น ดาไลละมะ ก็มี ) แปลว่า กลับมาแล้วนะ สำหรับคนไทย ดิฉันได้บอก โอะก้าซัง ว่าถ้าจะออกไปไหน เราก็มีพูดเหมือนกันว่า ไปแล้วนะคะ/ครับ แต่เราไม่พูดอย่างเดียว เราต้องไหว้พ่อแม่ก่อนออกจากบ้านด้วย ส่วนเวลากลับมาถึงบ้าน เราก็จะไหว้พ่อแม่อีกเช่นกัน แล้วอาจจะพูดว่า สวัสดีค่ะ/ครับ กลับมาแล้วค่ะ/ครับ หรือบางทีก็ไหว้และพูดว่าสวัสดีอย่างเดียว เพราะคำว่าสวัสดีของไทยนั้น ใช้ได้ครอบจักรวาลที่เกี่ยวกับการทักทาย |
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที