อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 21 พ.ค. 2007 15.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 125785 ครั้ง

สรุปโรคร้ายในภาคอุตสาหกรรมไทย จากประสบการณ์การให้คำปรึกษา


โรค "ชอบคิดใหญ่ แต่ได้แค่คิด ลงมือไม่ได้เสียที"

โรคนี้ก็เป็นมากเช่นกัน ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าพวกเราไปเอาความคิดมาจากหนังสือ "คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก" หรือเปล่า ผมไม่ได้มีอคติกับหนังสือเล่มนี้หรอกครับ เพราะผมก็ซื้อมาอ่านเหมือนกันเมื่อหลายปีก่อน สมัยบูมๆ แต่การคิดใหญ่เพียงอย่างเดียว แล้วขาดการย่อยเป็นงานเล็กๆเพื่อให้สามารถนำไปทำได้วันนี้เดี๋ยวนี้ มันก็จะไม่ได้ทำสักทีนั่นเอง
          กลุ่มคุณภาพ เป็นกลุ่มพนักงานหน้างาน ที่ต้องทำตามสั่ง ต้องอยู่หน้างาน วันทั้งวันจะเอาเวลาที่ไหมมาทำเรื่องใหญ่ๆได้ล่ะ ดังนั้น ด้วยความเป็นจริงเช่นว่านี้ การแก้ไขปัญหาของกลุ่มคิวซีจึงใช้หลักคิดใหญ่ ไม่ได้ ต้องคิดและทำเรื่องเล็กๆ เท่านั้น หากคิดใหญ่ๆ ทำใหญ่ๆ ก็แปลว่า พนักงานว่างงานจัด ไม่ก็น่าจะให้ตำแหน่งซุปเปอร์ไวซ์เซอร์ หรือหัวหน้าแผนกไปเสียเลย เพราะงานใหญ่ๆ มันควรเป็นของกลุ่มคนดังกล่าว
          หากท่านใดอ่านบทความผมตอนนี้ และเอะใจ ว่าทำไมจึงคิดใหญ่ไม่ได้ เอาอย่างนี้สิครับ ท่านลองทำตัวเป็นพนักงานหน้างานสักวัน ถอดหัวโขนเลยครับ ลองลงไปทำงานอย่างที่พวกเขาทำกัน ท่านจะร้องอ๋อ ทันที (พวกที่ยังไม่ร้องอ๋อ ก็อย่าหวังว่าอ่านบทความของผมตอนนี้จะเข้าใจ)
          หากท่านลงไปทำงานอย่างพนักงานหน้างาน ท่านจะพบทันทีเลยครับว่า "เวลาฉี่แทบจะไม่มี" เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะเราใช้หลัก Time Study ไงครับ จะทำอย่างไรให้พนักงานทำงานในเวลาเท่านั้นเท่านี้ ได้กี่ชิ้นกี่อัน แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปทำงานปรับปรุงครับ เพราะตอนทำ Time Study น่ะ ไม่ได้คิดเวลาในการปรับปรุงงานใส่ลงไปด้วยนี่นา อย่าว่าแต่เรื่องใหญ่ๆเลยครับ เรื่องเล็กๆ ก็ยากมากอยู่แล้ว บางโรงงานนะครับเป็นโรงงานผลิตอาหาร มีพนักงานอายุรุ่นป้า ยืนอยู่ท้ายเครื่องปอกเปลือก คอยคัดว่าเครื่องปอกออกมาดีหรือไม่ ดีก็ปล่อยไป ไม่ดีก็จับโยนไปยังสายพานป้อนกลับ แล้วไอ้ที่ปอกออกมาน่ะ ออกมาทีละชิ้น ทีละลูกซะที่ไหน มาทีเป็นสิบๆ สายพานวิ่งเร็วปี๊ด มืองี้เป็นลิงเลยครับ เช้าๆ น่ะพอมีแรงโยน บ่ายๆ เข้า โยนไม่ถึงโยนเกินไปบ้าง เพราะเริ่มเมื่อยล้า ควบคุมระยะไม่ได้ แบบนี้จะเอาเวลาที่ไหนมาปรับปรุงงาน ถ้าบริหารแบบนี้ หัวหน้าที่ชอบนั่งโต๊ะ ท่านเองนั่นแหละครับที่ต้องลงมาปรับปรุงงานแล้วล่ะ
          สมัยผมเป็นที่ปรึกษาใหม่ๆ ไม่ซึ้งกับคำว่าทำเรื่องเล็กๆ เลยครับ รู้สึกเหมือนไม่ได้อะไรเป็นกอบเป็นกำ เลยชอบทำเรื่องใหญ่ๆ คิดว่าท้าทายดี แต่จนแล้วจนรอด กว่าจะจบสักเรื่อง โอย เป็นปีครับ หาความคืบหน้าไม่ค่อยได้เลย ก็คิดมาตลอดว่าต้องมีวิธีที่ดีกว่านี้ และเริ่มมาซึ้งตอนอาจารย์โทซาว่า มาสอนไคเซ็น ท่านมักบอกเสมอครับว่า "จะกินช้างให้กินทีละคำ" และผมได้นำไปใช้ในการให้คำปรึกษา ก็พบความจริงว่า ไคเซ็นที่สามารถปฏิบัติวันนี้เดี๋ยวนี้เท่าที่พนักงานมีเวลานั้น เป็นไคเซ็นที่เรื่องเล็กๆ เท่านั้น
          เชื่อเถอะครับ อย่าหลงอยู่กับเรื่องใหญ่ๆเลย แต่จงย่อยให้เล็กลง แล้วลงมือไปทีละเรื่องๆ ท่านจะเข้าใกล้ความสำเร็จได้ เว้นแต่ท่านไม่มีงานยุ่ง มีเวลาว่างมาก ท่านค่อยทำเรื่องใหญ่ๆ
 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที