อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 21 พ.ค. 2007 15.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 125546 ครั้ง

สรุปโรคร้ายในภาคอุตสาหกรรมไทย จากประสบการณ์การให้คำปรึกษา


โรค “คิดว่ามีอาจารย์ที่ปรึกษา แล้วจะประสบความสำเร็จเพราะอาจารย์ทำให้”

มีองค์การหลายองค์การทีเดียว ที่ติดต่อมาขอให้เข้าไปให้คำปรึกษา แล้วกำหนดไว้เสร็จสรรพ ว่าจะต้องให้จบภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ ในประเด็นนี้ผมมีประเด็นต่างๆ ที่จะต้องทำความเข้าใจครับ

ที่ปรึกษาเป็นหินลับมีด ไม่ใช่อาวุธ

ที่ปรึกษาเป็นหินลับมีด ไม่ใช่อาวุธ ที่จะเอาไปฟาดฟันพนักงาน หรือเอาไปฟาดฟันกับลูกค้า หินลับมีดทำหน้าที่ลับอาวุธ ซึ่งในที่นี้ก็คือลับสมองพนักงานในองค์การ ให้สมองคม คิดเป็นทำเป็น และสามารถเอาความรู้ความสามารถไปฟาดฟันกับอุปสรรคในงาน ให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ หากไม่มีใครเอาอาวุธมาลับมันก็ทื่อ จะเอาความคมที่ไหนไปฝ่าฟันอุปสรรคในงาน การที่ที่ปรึกษาเข้าไปให้คำปรึกษา แปลว่าพนักงานในองค์ต้องเอาความรู้ไปทำให้เป็นรูปธรรม อันเป็นการลับสมอง ไม่ใช่ที่ปรึกษาไปทำให้ ดังนั้นความสำเร็จหรือความล้มเหลว เป็นเรื่องของตัวพนักงานในองค์การนั้นๆเอง

ที่ปรึกษา ไม่ใช่เล็คเชอเร่อร์

การสอนในห้องเรียน ผู้สอนจะทำการเตรียมสอนในหัวข้อที่ต้องสอนตามความต้องการขององค์การที่ได้พูดคุยกันไว้ เริ่มสอน 09.00 จบเวลา 16.30 น. โดยอาจจะมีการทดสอบก่อนและหลังการอบรม เพื่อดูว่าผู้คนที่เรียนนั้นเข้าใจมากแค่ไหน (โดยมีสมมติฐานว่าผู้เรียนจะไม่ลอกกัน และตอบจากความเป็นจริง ว่าตนรู้มากน้อยแค่ไหน) จบแล้วก็จบกัน เอาไปทำหรือเปล่า ไม่รู้ เพราะไม่รู้จะไปวัดยังไง ไม่มีระบบการวัดผลการนำไปปฏิบัติ ส่วนที่ปรึกษา มักเป็นงานระยะยาว มักจะเข้าไปให้ท่านถาม แต่ก็หนีไม่พ้นที่อาจจะต้องสอนหลักการเพื่อให้พูดภาษาเดียวกันก่อน หลังจากนั้นก็จะให้เริ่มปฏิบัติบนพื้นฐานของงานของแต่ละคน ความคืบหน้าจึงขึ้นกับว่าผู้คนที่เข้ามารับคำปรึกษานั้นเอาไปทำหรือไม่ ถ้าไม่ทำ อาจารย์ที่ปรึกษาเข้ามาครั้งที่สอง ก็ไม่มีอะไรจะพูด เพราะไอ้ที่พูดคราวที่แล้วยังไม่ได้ทำเลย แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไร

  1. ทำอย่างนี้สิ ไม่ต้องสนว่า ทำมาหรือไม่ทำ ให้ความรู้ต่อไปได้เลย เพราะไม่งั้นแผนงานการให้คำปรึกษาก็ไม่คืบหน้า
  2. ทำอย่างนี้สิ คือให้กลุ่มที่ยังไม่ได้เอาไปทำ ไปทำก่อน แล้วค่อยกลับมาให้คำปรึกษาใหม่ ส่วนเนื้อหาที่ต้องสอนต่อ ต้องพักไว้ก่อน
  3. ทำอย่างนี้สิ เอาสองข้อข้างบนมาใช้ร่วมกัน กลุ่มไหนไม่ทำก็ไม่ต้องสนใจ กลุ่มไหนทำมาก็ให้คำปรึกษาต่อ(มันต้องมีบ้างล่ะน่า) และสอนต่อในหัวข้อต่อไป

ท่านอยากให้ที่ปรึกษาทำแบบไหนดี?

ปกติที่ปรึกษาต้องใช้วิจารณญาณ ในการให้คำปรึกษา มักใช้หลายๆแนวทาง และหนีไม่พ้นที่จะต้องสร้างคุณค่าเพิ่มจากการที่เข้าไปให้คำปรึกษาแต่ละครั้ง ไม่เช่นนั้นอาจจะผิดหลักที่ว่าต้องยึดความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ หากยากที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในระยะเวลาที่จำกัด ที่ปรึกษามักจะให้องค์การทำอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องเล็กๆ ไม่ใหญ่มาก แล้ววัดความสำเร็จเป็นขั้นๆ ไปก่อน เพื่อให้ได้เข้าใจในหลักการ ส่วนการประยุกต์ในภาพใหญ่ องค์การก็ต้องประยุกต์ ตามหลักการที่เคยได้ทำไป

ที่ปรึกษาที่ดีจะไม่จับมือทำ หรือทำให้

ที่ปรึกษามีหน้าที่ต้องไปทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวพนักงานเอง กระตุ้น และให้คำแนะนำ สร้างคำถามที่กระตุ้นให้ผู้รับคำปรึกษาได้คิดหลายๆ ช่องทาง เพราะการที่พนักงานได้คิด แปลว่าอนาคตจะคิดเป็น ถึงแม้จะไม่มีที่ปรึกษาอยู่แล้วก็ตาม แต่ถ้าคิดให้ วันใดที่ที่ปรึกษาไม่อยู่ องค์การก็จะไม่สามารถพัฒนาต่อได้ เพราะพนักงานยังคิดไม่เป็นเหมือนเดิม ที่ปรึกษาทั่วๆไปจะมีแนวคิดว่า “ไปสอนให้ตกปลาเป็น ไม่ใช่ไปตกปลา ทอดปลา และเสริฟให้ถึงโต๊ะ ที่องค์การทำหน้ากินแต่เพียงเท่านั้น” เพราะการทำเช่นนั้น เป็นการเพิ่มความอ่อนแอให้กับองค์การ ที่สนับสนุนให้เป็นแต่เพียงผู้บริโภค คิดเอง ทำเองไม่เป็น แล้วเมื่อไหร่กันที่องค์การจะพัฒนา

เวลาเป็นตัวกำหนดทิศทางและขอบเขต

แต่ต้องได้รับการตอบสนองที่ดีจากผู้คนในองค์การด้วย ถ้าผู้คนในองค์การไม่กระดิกตัวเลย ที่ปรึกษาเข้าไปก็แค่นั้น เพราะไม่รู้จะแนะนำอะไร ผมมักพูดบ่อยๆ กับผู้บริหารเชิงเย้าเล่นว่า ถ้าไม่อยากให้ผมเข้ามาให้คำปรึกษา ก็ไม่ต้องทำการบ้าน เพราะผมไม่รู้จะเข้ามาทำไม ไม่มีอะไรให้คอมเม้นท์ ที่ปรึกษาเองไม่กลัวครับว่าจะทำงานหนักมากน้อยแค่ไหน หากองค์การทำการบ้านที่อาจารย์ให้ไว้ และการบ้านนั้นเองที่จะโยงไปยังเนื้อหาในบทต่อๆไป หากท่านไม่ทำการบ้าน ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาโยงไปสู่บทเรียนต่อไป จริงๆน่ะโยงได้ครับแต่เหมือนยกเมฆไงครับ ยกไปยกมาท่านก็ไม่ซึ้ง เมื่อไม่ซึ้ง ท่านไม่ร้องอ๋อ หากท่านไม่ร้องอ๋อ ท่านจะทำไม่ได้ และประยุกต์ไม่ได้ (บางคนร้องอ๋อตอนเรียน กลับบ้านไปยังงง ทำไม่ได้ก็มี แล้วถ้าไม่อ๋อเลย มันจะกลับไปทำได้ไงนี่ สงสัยจัง)

สรุปว่าการใช้ที่ปรึกษา ต้องมั่นใจนะว่าพร้อมจะทำตามคำแนะนำ และการกำหนดเวลา ควรต้องพิจารณาและประเมินผลร่วมกันทั้งสองฝ่าย ว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคระหว่างทาง ไม่งั้น อาจารย์ที่ปรึกษาอาจจะขอบอกเลิกการให้คำปรึกษา เพราะทำไปมีแต่เจ็บตัว


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที