TPA Magazine

ผู้เขียน : TPA Magazine

อัพเดท: 25 พ.ย. 2006 09.59 น. บทความนี้มีผู้ชม: 9076 ครั้ง

ฉบับนี้เรามีนัดที่ อ. อุทัย จ. พระนครศรีอยุธยา ไปนั่งพูดคุยกับ ดร. สาโรช ธีรศิลป กรรมการผู้จัดการ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดร. สาโรช”


“ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดร. สาโรช” ธุรกิจที่น่าบอกต่อ

ฉบับนี้เรามีนัดที่ อ. อุทัย จ. พระนครศรีอยุธยา ไปนั่งพูดคุยกับ ดร. สาโรช ธีรศิลป กรรมการผู้จัดการ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดร. สาโรช”

จากนักวิทยาศาสตร์ที่น่าจะอยู่แต่ในห้องแล็บมากกว่า แต่เหตุไฉนกลายมาเป็นนักธุรกิจได้อย่างไรกันล่ะนี่ ข้อสรุปนี้คุณผู้อ่านได้คำตอบแน่นอน

ธุรกิจที่น่าจะบอกต่อนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ต้น ๆ ปี 2530 โดยความคิดของเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตท่านนี้ ที่ต้องการจะนำความรู้ทางด้านงานวิจัยที่ทำอยู่มาใช้ประโยชน์ แต่ทำเพื่อรู้คงยังไม่พอ น่าจะถูกนำมาพัฒนาเพื่อให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจ จึงได้ผูกความคิดนี้ เข้ากับงานวิจัยสมุนไพรที่อาจารย์ให้ความสนใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว มาประกอบเป็นธุรกิจ

ทำไมเรื่องสมุนไพรจึงได้แว้บเข้ามาอยู่ในความคิดได้ ซึ่งอาจารย์ให้เหตุผลว่า “ลองมาหยั่งเชิงดูแล้วว่ามันน่าจะมีความเป็นไปได้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องสำอางสมุนไพร ซึ่งแต่เดิมถ้าเราจะใช้สมุนไพรเกี่ยวกับความงาม เราก็ต้องไปที่ร้านเสริมสวย ขั้นตอนก็ดูค่อนข้างจะยุ่งยาก และคิดต่ออีกว่า จะมีทางเป็นไปได้ไหมที่เราจะพัฒนาให้เป็นเครื่องสำอางสมัยใหม่ โดยการสกัดเอาส่วนที่ดีของสมุนไพรออกมาให้อยู่ในรูปของเนื้อครีมหรือโลชัน เช่นเดียวกับเครื่องสำอางสมัยใหม่ทั่ว ๆ ไป”

อาจารย์กล่าวอีกว่าเริ่มทำครั้งแรกก็ดูขลุกขลักมากเหมือนกัน เพราะกว่าผลิตภัณฑ์จะส่งมอบถึงมือผู้บริโภคได้นั้น "ในเบื้องต้นต้องทำการวิจัยและทดลองพัฒนาขึ้นมาเป็นตำรับ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด ผสมผสานให้ออกมาเป็นรูปของตัวครีม แล้วนำไปทดลองกับอาสามัครเพียงไม่กี่คนที่มีสภาพผิวหน้าเสีย จากการใช้สารระงับการสร้างเม็ดสีผิว ซึ่งน่าอัศจรรย์จริง ๆ ที่ว่าสภาพผิวหน้าของอาสาสมัครกลุ่มนั้นดูดีขึ้น จากนั้นก็เริ่มมีอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้น และจากจุดนั้นก็ทำให้เกณฑ์ของการวิจัยขยายตัวมากขึ้น สร้างความมั่นใจที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอื่นต่อไป

ขอบอกว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ทำมาจากสมุนไพรไทยจริง ๆ ซึ่งทุกชิ้นเราเน้นที่คุณภาพ และก็เป็นคุณภาพจริง ๆ เพราะเกิดจากงานวิจัย โดยมีความเชื่อว่า ถ้าสินค้าดีก็จะยังคงอยู่ในตลาดตลอด มองที่ความยั่งยืนมากกว่าขายความรู้สึก ซึ่งก็ได้ผลจริง ๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้รับการบอกต่อมาเรื่อย ๆ แรก ๆ ไม่ได้ใช้ชื่อ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดร. สาโรช จนเมื่อสร้างแบรนด์จนติดตลาดแล้วจึงได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อที่ได้ยินในปัจจุบัน”

"ธุรกิจขายตรง” ที่จวนอยู่เจียนไปในช่วง 6 ปีแรก ปัจจุบันมีจุดกระจายสินค้าถึง 400 แห่งทั่วประเทศ โดยอาจารย์เปิดเผยให้ทราบว่าในช่วงนั้นงบประมาณ อันเป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างแบรนด์ให้ติดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ยังมีไม่มากพอ จนเมื่อปี 2538 ค่อยเริ่มแข็งแรงขึ้น จึงเริ่มมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น มากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับในตราสินค้า และที่สำคัญช่วยให้ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ฯ สามารถขายได้ง่ายขึ้น

อาจารย์กล่าวเสริมเกี่ยวกับงานวิจัยในข้างต้นว่า บริษัทฯ ให้ความสนใจในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น ผลิตภัณฑ์ทุกตัวกว่าจะออกมาได้ ต้องผ่านการวิจัยหลายขั้นตอน โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ ในการนำพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติทางยา และเครื่องสำอางที่น่าสนใจที่ปรากฏอยู่ในตำราโบราณ เช่น ทำให้ผิวขาว ชะลอความแก่ ลดรอยเหี่ยวย่น เป็นต้น และนำสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มาทดสอบความเป็นพิษในห้องแล็บที่สามารถจะพัฒนา มาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ตามสภาพความเหมาะสมที่มันควรจะเป็น ให้ออกมาในรูปไม่ว่าจะเป็นครีม โลชัน เจล แล้วจึงจะมาทดสอบกับกลุ่มอาสาสมัคร จากนั้นค่อยมาติดตามผลว่าปัญหาของผิวหน้า ไม่ว่าจะเป็น สิว ฝ้า ต่าง ๆ นั้น หายบ้างหรือไม่ แต่จริง ๆ แล้ว ขั้นตอนต่าง ๆ ที่อาจารย์เล่าให้ฟังมานี้มีมากกว่านี้อีก เอาเป็นว่าเรารู้แค่พอสังเขปก็พอ แถมยังอาจารย์ได้ฟุ้งต่อว่าห้องแล็บของที่บริษัทฯ เป็นห้องที่ทันสมัยมากแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งถ้ามีโอกาสผู้เขียนคงจะต้องขออนุญาตเข้าไปชมห้องแล็บของบริษัทฯ ดูบ้างสักครั้ง และคิดว่าสมาชิก ส.ส.ท. ที่เป็นสถาบันการศึกษาคงจะได้เข้าไปเยี่ยมชมที่นี่กันมาบ้างแล้ว

การนำสมุนไพรมาเป็นจุดขายผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย อาจารย์แจงให้ทราบว่าสมุนไพรที่นำมาผลิตนี้จะต้องควบคุมตั้งแต่สายพันธุ์ อายุการเก็บเกี่ยว การปลอดสารปนเปื้อน โดยเฉพาะยาฆ่าแมลง ดังนั้น จึงได้เกิดเป็น บริษัท ทรัพย์ไทร จำกัด ขึ้นมาเพื่อปลูกสมุนไพร กอปรกับตัวบรรจุภัณฑ์เองก็จะต้องทันสมัย และสวยด้วย จึงได้เกิดเป็นบริษัท อยุธยา โพลิเมอร์ จำกัด ตามมา เพื่อออกแบบ และปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ได้ตลอดเวลาให้ทันกับการแข่งขันของตลาด

ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตามแต่ ถ้าเรารู้จักการเรียนรู้ หมั่นหาประสบการณ์อยู่เสมอ เราต้องทำได้แน่นอน อย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักธุรกิจท่านนี้ ซึ่งแรก ๆ อาจารย์ก็ไม่มีความถนัดในเรื่องของการบริหารจัดการ จึงได้พยายามยกระดับการเรียนรู้ของตัวท่านใหม่ โดยการอ่านหนังสือ การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับเพื่อนใหม่ ที่มาจากหลากหลายบริษัท ในขณะที่เข้าอบรมหลักสูตร Mini MBA

ประสบการณ์ที่ผ่านมาสิบกว่าปี ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีทั้งดีและร้ายคละเคล้ากันไป ที่ทำให้ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดร. สาโรช” สามารถยืนหยัดอยู่บนการแข่งขันของตลาดได้อย่างเต็มความภาคภูมิ ในนามของ ส.ส.ท. ต้องขอแสดงความชื่นชมกับความสำเร็จในครั้งนี้ และที่ขาดไม่ได้เลยที่จะกล่าวคำว่าขอบพระคุณ ดร. สาโรช ธีรศิลป เป็นอย่างสูง ที่กรุณาต้อนรับการไปพูดคุยในครั้งนี้

จากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว “สมุนไพร” ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เชย ๆ ปัจจุบันกลับกลายเป็นที่นิยมมาก (ถ้าจะพูดว่ากลับคืนสู่ธรรมชาติก็คงจะไม่แปลก) จนมีผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าออกมา แล้วแอบอ้างว่าเป็นสมุนไพรให้เห็นกันมากมายตามท้องตลาด บางคนที่แพ้ (ของปลอม) ก็อาจจะทำให้หน้าเสียโฉมไปเลย อย่างไรเสีย ก็อยากจะเตือนสมาชิก ส.ส.ท. ทุกท่าน ถ้าจะเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ใดก็แล้วแต่ ขอให้ “เลือกฉลาด” กันสักนิด แล้วชีวิตจะปลอดภัยค่ะ...สวัสดีค่ะ



Interview : อารีย์ ยิ่งวิริยะวัฒน์


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที