อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 22 ธ.ค. 2006 11.05 น. บทความนี้มีผู้ชม: 71862 ครั้ง

PDCA คือ Management Circle ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ TQM


PDCA กับ 5ส ในสไตล์ทุกคนมีส่วนร่วม (ตอน : C-Check)

พูดถึง PDCA ทีไร มีเรื่องให้พูดเยอะครับ แต่จะหาเรื่องเด่นๆมาเล่าให้ฟังนั้น ไม่ค่อยง่ายสักเท่าไหร่ คราวนี้ไปเจออะไรดีเรื่อง 5ส เลยเอาเรื่องนี้มาฝาก

ผมคงไม่เริ่มต้นที่บอกว่า 5 ส ทำอย่างไรนะครับ เพราะเข้าใจว่าท่านคงพอรู้ๆกันอยู่แล้วเอาเป็นว่า ติ๊งต่างว่าท่านได้ดำเนินการมาสักระยะเวลาหนึ่งก่อน และยังมีความรู้สึกว่า ยิ่งทำนานๆเข้า ท่านรู้สึกเบื่อและพาลไม่อยากทำ กรรมการก็มักลาออกและไม่มีใครอยากเป็น ต้องทำความสะอาดมากขึ้นเพราะสกปรกมันเกิดตลอด เลยกลายเป็นงานเพิ่มไปเลยแทนที่จะลดการทำงาน ถ้าเข้าข่ายนี้ ผมว่าเรามา C-Check กันก่อนดีไหมครับ

และเมื่อพูดถึงคำว่า Assessment ก็คำๆเดียวกันนะครับ อย่าไปหลงประเด็นเข้าล่ะ มันก็คือการเช็ค นั่นเอง

อะไรควรเช็คบ้าง

1. นโยบาย ครับผม ให้ดูว่านโยบายเดิมเขียนว่าอย่างไร สามารถวัดผลได้หรือไม่ หรือ เขียนให้สามารถวัดผลไม่ได้ มันเบลอๆ แบบนี้ก็ปกติครับ เวลาปฏิบัติมันก็แย่ตาม

2. แผนงานการอบรม ทั้งคนเก่า คนใหม่ ที่เข้ามาทำงาน ได้มีการบรรจุหัวข้อนี้ลงใน ปฐมนิเทศน์หรือไม่ ถ้าไม่ก็ปกติครับ ที่มันจะเข็นไม่ขึ้น

3. แผนงานการประชาสัมพันธ์ แผนงานนี้จำต้องใช้คนที่มีหัวคิดเชิงการตลาดหน่อย คิดสร้างสรรค์ คิดแล้วโดนใจผู้คนให้อยากมีส่วนร่วม มีระยะเวลาการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริม ตลอดปี ถ้าไม่มี หรือแค่มี แต่ไม่มีประสิทธิภาพ มันก็ไม่ได้ประสิทธิผลหรอกครับ คนไม่ซื้อ ซื้อใจคนไม่ได้ก็ถือว่าล้มเหลว

4. ประเมินพื้นที่โดยรวม ในที่นี้แนะว่าต้องดูให้รอบคอบ เพราะบางทีมันมีพื้นที่กองกลาง และไม่มีใครรับผิดชอบ

5. พื้นที่กลุ่มย่อย หัวข้อนี้ค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ และเมื่อจะพิจารณาให้ดูว่ากลุ่มมีพัฒนาการหรือไม่อย่างไร การดูพัฒนาการคือ

        ให้ดูตั้งแต่วันทำความสะอาดใหญ่ ว่ามีเวรทำความสะอาด แยกรายพนักงานหรือไม่ โดยมีเป้าหมายการรักษาความสะอาดคือ ให้ทุกคนทำความสะอาดทุกวัน วันละ 5 นาที ทั้งนี้การจะทำให้ได้นั้นเราต้องจัดเวรให้ดี หรือใช้หลักการง่ายๆคือ ไม่ต้องทำความสะอาดทุกอย่างในแต่ละวัน แต่แบ่งๆกันทำ ให้ครบใน 1 สัปดาห์ เมื่อแบ่งได้แบบนี้ จึงสามารถทำความสะอาดได้ภายใน 5 นาที

        ให้ดูว่าพื้นที่นั้นมีคนใช้งานจริงอยู่ทำงานหรือไม่ หากไม่มีก็ลำบากหน่อย และที่สำคัญคือ ในพื้นที่ทำงาน มีอะไรที่ยังกำจัดไม่ออกอีกบ้าง ถ้ามี ให้แยกประเภทว่า กลุ่มทำได้เอง หรือเป็นหน้าที่ของผู้บริหาร 

-แนะว่า กลุ่มควรจำกัดขอบเขตพื้นที่ของกลุ่มลง เพราะ ไปทำในสิ่งที่ผู้บริหารต้องรับผิดชอบไม่ได้
-ผู้บริหารเดิมมักไม่มีพื้นที่ของตัวเองชัดเจน แต่คราวนี้ท่านจะมีครับ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เก็บของค้างทั้งหลาย เพราะพนักงานไม่มีอำนาจสะสาง มันเป็นหน้าที่ของผู้บริหารครับ และต้องลงมาทำอย่างจริงจัง

        ให้ดูว่ามีการสำรวจจุดผิดปกติขณะทำความสะอาดไหม ถ้าไม่มี ก็เหลวอีกครับ แนะว่าต้องมี

        ให้ดูระบบการจัดเก็บ WIP ตลอดจนเครื่องมือต่างๆ เอกสาร และอื่นๆ  ว่าใช้หลัก 3 มี หรือไม่ (มีที่ มีชื่อ มีจำนวน) ถ้าไม่มีต้องสร้างล่ะครับ 

        ให้ดูกระบวนการพัฒนาว่ามีการปรับปรุงจุดที่เป็นแหล่งความสกปรกหรือไม่ ถ้าไม่มี จะทำความสะอาดมากเกินความจำเป็น ครับ ต้องปรับปรุงด่วนด้วยการ Kaizen


ไม่ใช้ Kaizen มาช่วยปรับปรุงในเชิงป้องกัน ก็ก้าวข้ามความยากลำบากไม่ได้หรอกครับ แนะว่า ทำ 5 ส สักระยะ ต้องเริ่มปรับปรุงในเชิงป้องกันแล้วครับ เพื่อลดการทำความสะอาดซ้ำซาก ลดการหยิบคืน ลดการเคลื่อนไหว เคลื่อนย้าย และยึดเป้าหมายให้ชัดครับ ด้วยการลด Space Loss, Time Loss, Motion Loss ไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ไม่ลดแน่ๆ เผลอๆ ต้องทบทวน Layout ใหม่ครับ และมันก็เป็นหน้าที่ของหัวหน้างานอีกแล้วครับท่าน

อย่ามุ่งแก้ที่พนักงานหน้างาน หรือกลุ่มย่อยมากเกินไป กลับมาดูหัวหน้า จะได้ผลกว่าครับ ฟันธง

         

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที