ขนิษฐา

ผู้เขียน : ขนิษฐา

อัพเดท: 13 มี.ค. 2007 14.31 น. บทความนี้มีผู้ชม: 922285 ครั้ง

สร้างเสริมการเรียนรู้ โดย นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม ชั้นปีที่ 1


การจัดการโรคพืชในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่

นักศึกษา นายเสรีพันธ์  ล่ำล่อง

การจัดการโรคพืชในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่

 

การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชชนิดอื่นๆ ให้ปลอดภัยโรคหรือไม่ ต้องการให้มีเชื้อสาเหตุโรคพืชติดไปกับเมล็ดพันธุ์ หรือสามารถควบคุมโรคพืชในแปลงพืชได้นั้น เป็นสิ่งที่ถึงปรารถนาอย่างยิ่ง ในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์พืช ก่อนอื่นทั้งนี้ต้องมีความเข้าใจถึงข้อที่ควรปฏิบัติ และควรระวังทั้งก่อนการปลูกพืชและหลังการ

ข้อควรปฏิบัติก่อนการปลูกพืช

1.        เลือกชนิดพืชที่เหมาะสมที่สุดในท้องที่นั้นๆ ซึ่งควรคำนึงถึงสภาพท้องถิ่นที่ปลูก รวมทั้งสภาพภูมิอากาศ และสภาพทางเศรษฐกิจ

2.        ศึกษาหาความรู้ ความเข้าใจถึงความต้องการของพืชที่ปลูก เช่น สภาพดินวิธีการปลูก การดูแลรักษา การให้ปุ๋ย การใช้สารเคมีหรือยาควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช ฯลฯ

3.        เมื่อเกิดปัญหาหรือข้อสงสัย ให้สอบถามผู้รู้หรือผู้ประสบความสำเร็จจากการปลูกพืชชนิดนั้น

เมื่อเข้าใจหรือศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพืชที่ต้องการปลูกแล้ว การที่จะควบคุมโรคพืช  ให้ประสบความสำเร็จสูงสุดนั้นมีข้อพึงปฏิบัติต่อไป

ข้อควรปฏิบัติหลังการปลูกพืช

1.        หมั่นตรวจหรือสำรวจลักษณะอาการที่ผิดปกติ หรือสงสัยว่าพืชเป็นโรค ในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

2.        เมื่อพบว่าพืชแสดงอาการเป็นโรค ให้ทำการวินิจฉัยอาการขั้นต้น โดยการเปรียบเทียบอาการกับเอกสาร หนังสือที่ได้ศึกษาค้นคว้า การวินิจฉัยอาการขั้นต้นนี้ ถ้าเกษตรสามารถดำเนินการได้ทันท่วงที โดยรู้สาเหตุของเชื้อโรคที่แท้จริง จะทำให้สามารถเลือกการควบคุมโรค ที่มีประสิทธิภาพได้ดีและประหยัดที่สุด ในกรณีผู้ไม่มีประสบการณ์ในการปลูกพืชชนิดนั้นมาก่อน ให้สอบถามผู้รู้ หรือส่งให้หน่วยงานราชการช่วยตรวจสอบให้ ทั้งนี้ต้องแสดงข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ประกอบการวินิจฉัยด้วย ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยหาสาเหตุโรคพืชที่แท้จริง

 

ข้อมูลการวินิจฉัยโรคพืช

1.        แจ้งประวัติการปลูกพืชในบริเวณนั้นๆ รวมทั้งพืชที่ปลูกในบริเวณใกล้เคียง

2.        ข้อมูลทางการเขตกรรม เช่น การไถพรวน วิธีการปลูกพืช การให้น้ำ เป็นต้น

3.        แจ้งสภาพแวดล้อมในการปลูกพืช เช่น สภาพดินเป็นกรด- ด่าง ดินเค็ม ความชื้น อุณหภูมิ เป็นต้น

4.        ลักษณะการแพร่ระบาดของโรคที่พบ เช่น พืชตายขยายเป็นวงกว้าง หรือตายเป็นหย่อมๆ หรือระบาดตายเป็นแถว หรือตายเป็นร่องตามแนวปลูกพืช รวมทั้งระยะเวลาที่พืชแสดงอาการเป็นโรคให้เห็น

5.        ชนิดของสารเคมีที่ใช้ในการควบคุมกำจัดโรคพืช แมลงศัตรูพืช รวมทั้งวัชพืช ปุ๋ยและฮอร์โมนที่เร่งการเจริญเติบโตของพืช ตลอดจนอัตราการใช้ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าผู้ปลูกได้ใช้สารเคมีถูกต้องหรือไม่ หรือควรมีข้อระมัดระวังในการใช้สารเคมีเหล่านั้นอย่างไรบ้าง

พืชเป็นโรคได้อย่างไร

เมื่อปลูกพืชไปได้ระยะหนึ่ง เกษตรกรผู้ปลูกพืช มักประสบปัญหาเป็นโรค ทั้งนี้ควรทำความเข้าใจถึงสาเหตูที่ทำให้พืชแสดงอาการเป็นโรคเสียก่อน ซึ่งเรียกว่าวงจรชีวิตของการเกิดโรค มีดังนี้คือ

1.        พืชที่ปลูกมีความอ่อนแอไม่เจริญเติบโตแข็งแรง เนื่องจากเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติขึ้น เช่น การมีสภาวะฝนตกหนัก หรือฝนตกแดดออก สภาพน้ำท่วมขัง หรือสภาพแห้งแล้ง เป็นต้น หรือเกิดขึ้นจากมนุษย์เราเป็นผู้กระทำ เช่น การให้ปุ๋ยไนโตรเจนเร่งการเจริญเติบโตเร็วเกินไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ผนังเซลล์พืชอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรคสาเหตุโรค

2.        เชื้อสาเหตุโรคพืชชนิดนั้นมีความแข็งแรงต่อการเข้าทำลายพืช

3.        เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค เช่น ในช่วงอุณหภูมิ ความชื้นเหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อสาเหตุ

4.        มีช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุของโรค

การแพร่ระบาดของโรค

แบ่งออกได้ 2 กรณี ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อสาเหตุโรคพืช

1.        เชื้อสาเหตุประเภทปลิวหรือฟุ้งกระจายไปกับลมและฝนได้โดยง่าย เชื้อชนิดนี้ส่วนใหญ่เข้าทำลายพืชได้ทางใบ ลำต้น กิ่ง ก้าน ดอก ผล และเมล็ด

2.        เชื้อในดินสาเหตุโรคพืช ส่วนใหญ่เชื้อสาเหตุทำให้เกิดอาการรากเน่าโคนเน่าในพืช การแพร่ระบาดโดยทางเดินน้ำฝน และเศษซากพืชที่เป็นโรค

3.        อาศัยแมลงพาหะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชเป็นโรคไปสู่ต้นปกติ

หลักการจัดการโรคพืช

การควบคุมโรคพืชให้ประสบความสำเร็จนั้น ควรคำนึงถึง

1.        การใช้พันธุ์ต้านทาน เป็นวิธีการป้องกันโรคพืชที่ดีที่สุด แต่ไม่สามารถจะหาสายพันธุ์พืชที่ต้านทานโรคได้ทุกโรค เนื่องจากสภาพในแต่ละท้องที่ มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคระบาดแตกต่างกัน ดังนั้นควรหาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับปัญหาที่ประสบอยู่ในแต่ละท้องถิ่น

2.        เลือกวิธีการและการจัดการปลูกพืชที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้พืชมีความแข็งแรงมากที่สุด

3.        มีความร่วมมือกันต่อการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช หากมีการแพร่ระบาดของโรคและแมลงจากเพื่อนบ้านข้างเคียง เนื่องจากโรคพืชบางชนิดแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เช่น อาศัยแมลงพาหะในการถ่ายทอดโรค บ้างปลิวไปได้ในอากาศ ไปตามน้ำ และเมล็ดพันธุ์

4.        การใช้สารเคมี ขอให้ใช้อย่างถูกต้องกับชนิดของสาเหตุโรคและแมลงศัตรูพืช และใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมตลอดจนปฏิบัติตามคำแนะนำที่ติดมากับสลากอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้แล้ว การควบคุมศัตรูพืชให้ประสบความสำเร็จ ควรคำนึงถึงการลงทุนในการควบคุมต่อการผลิต และการเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย เพื่อให้คุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจ

 

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที