สุมาวสี

ผู้เขียน : สุมาวสี

อัพเดท: 27 พ.ย. 2006 16.37 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4870 ครั้ง

การใช้ ICT ในสถานประกอบการของไทย


การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานประกอบการ

เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ  จะพบว่า  สถานประกอบการขนาดใหญ่มีจำนวนคอมพิวเตอร์ใช้ในการดำเนินงานเฉลี่ยต่อกิจการมากที่สุด คือ ประมาณ 78 เครื่องต่อกิจการ  และคิดเป็นร้อยละ 49.3  ที่ใช้งานในลักษณะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ  เมื่อพิจารณาการใช้อินเทอร์เน็ตของสถานประกอบการแต่ละขนาด   พบว่า  สถานประกอบการขนาดใหญ่มีสัดส่วนของการใช้อินเทอร์เน็ต  ประมาณร้อยละ 90.7 รองลงมาคือสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กตามลำดับ และจำนวนบุคคลากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อสถานประกอบการที่ใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุด 43 คน[1]

วัตถุประสงค์ในการใช้อินเทอร์เน็ตในการดำเนินกิจการของสถานประกอบการส่วนใหญ่ ได้แก่ การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการค้นหาข้อมูล  การรับ-ส่งข้อมูลทางอีเมล์  การซื้อ/ขายสินค้าและบริการหรือดำเนินธุรกิจคู่ค้า  ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด   และใช้เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารอื่น ๆ ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินกิจกรรม ได้แก่ ความสะดวกในการติดต่อธุรกิจกับคู่ค้า  ความสะดวกในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ  สามารถลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการดำเนินงาน  ทำให้กระบวนการธุรกิจดำเนินไปได้รวดเร็วขึ้น เช่น การรับส่งเอกสารอิเล็คทรอนิกส์  เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้า  สามารถขยายเวลาทำการหรือระยะเวลาการดำเนินงานได้มากกว่าชั่วโมงปกติ    

                จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ. 2547  พบว่า  การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต  คิดเป็นร้อยละ 93.61 ของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อการประกอบกิจการ  ขณะที่การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการบริการและประมวลผลจากส่วนกลางมีเพียงร้อยละ 6.38  ของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อการประกอบกิจการทั้งหมด     และสำหรับการใช้คอมพิวเตอร์จากที่อื่นที่ไม่ใช่สำนักงานอันดับแรกสุดคือ  การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจากที่บ้านคิดเป็นร้อยละ 61.5  การใช้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่คิดเป็นร้อยละ 33.4 และการใช้บริการจากศูนย์บริการสารสนเทศอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 5.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบจากตัวเลขในปี 2546 พบว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากที่บ้านเพิ่มขึ้น 14.6%  การใช้บริการจากร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เพิ่มขึ้น13.9% และการใช้บริการจากศูนย์บริการสารสนเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 4.7%   (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 :  เปรียบเทียบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนอกสำนักงาน

ตารางเปรียบเทียบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนอกสำนักงาน

สถานที่

ปี พ.ศ.2546

(ร้อยละ)

ปี พ.ศ. 2547

(ร้อยละ)

อัตราการเปลี่ยนแปลง

(ร้อยละ)

ที่บ้าน

46.9

61.5

เพิ่มขึ้น 14.6

อินเทอร์เน็ตคาเฟ่

19.5

33.4

เพิ่มขึ้น 13.9

ศูนย์บริการสารสนเทศอื่น ๆ

0.4

 

5.1

เพิ่มขึ้น 4.7

หมายเหตุ : เป็นการเปรียบเทียบปริมาณการใช้ (ไม่ใช่จำนวนผู้ใช้) โดยเฉลี่ย

 

จากตัวเลขดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ได้ว่าลักษณะการทำงานของสถานประกอบการต่าง ๆ เริ่มมีบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป  โดยปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่นิยมทำงานนอกสถานที่หรือนอกสำนักงานมากขึ้น   และมีแนวโน้มที่จะมีการทำงานจากที่บ้านเพิ่มมากขึ้น  โดยมีปัจจัยที่สำคัญในการผลักดันและเป็นแรงกระตุ้นในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1.                            กระบวนการพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วและครอบคลุมการให้บริการมากขึ้นในประเทศไทย  

2.                             ผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับการที่รัฐบาลประกาศลอยตัวราคาน้ำมัน



[1] ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ.2547, สำนักงานสถิติแห่งชาติ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที