GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 15 ส.ค. 2016 08.41 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1369 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "จับกระแสเทรนด์เครื่องประดับทอง" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


จับกระแสเทรนด์เครื่องประดับทอง

ค้นพบกระแสมาแรงในเครื่องประดับทองรวมถึงแนวโน้มสถานการณ์ในตลาดเครื่องประดับทองปีนี้

สร้างเลเยอร์

“เราเห็นการสร้างเลเยอร์และใส่เครื่องประดับซ้อนกันเป็นชั้นๆ อยู่บ่อยครั้ง” Jamie Cadwell Gage จาก LoveGold ในลอสแองเจลีสกล่าว “เราเริ่มเห็นหลายคนมีแนวคิดที่จะซื้อเครื่องประดับแท้และค่อยๆ สร้างคอลเลคชั่นเครื่องประดับของตนเองขึ้นมา นักออกแบบผลิตผลงานที่มีขนาดเล็กลงและมีราคาเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น ช่วยให้ลูกค้าสามารถเก็บสะสมเครื่องประดับไปได้เรื่อยๆ แนวโน้มนี้ปรากฏชัดเป็นพิเศษในเครื่องประดับกลุ่มแหวน โดยผู้หญิงอาจเริ่มจากการใส่แหวนทองวงเล็กๆ สักวงหนึ่ง แล้วจากนั้นก็เพิ่มเป็นสามถึงห้าวงเพื่อสร้างรูปลักษณ์ที่โดดเด่นยิ่งขึ้น”

การสร้างเลเยอร์ยังพบเห็นได้ในเครื่องประดับประเภทต่างหูด้วย โดยผู้หญิงหลายคนใช้ประโยชน์จากการเจาะหูหลายรู “เราเห็นผู้หญิงใส่เครื่องประดับหลายชิ้นบนหูข้างเดียว นอกจากต่างหูหนีบด้านข้าง (Ear Cuff) ก็ยังมีต่างหูแบบเสียบหลายรูด้วย ทั้งหมดนี้สัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องการสะสมเครื่องประดับขนาดเล็กในราคาที่เอื้อมถึงได้เพื่อสร้างรูปลักษณ์ที่โดดเด่น”

เครื่องประดับในชีวิตจริง

“เราพบการใช้พื้นผิวได้อย่างน่าสนใจอยู่มากมาย” Gage กล่าวถึงความหลากหลายของพื้นผิวเครื่องประดับซึ่งเน้นความหยาบและเป็นธรรมชาติ “เราเห็นการทำพื้นผิวรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นรอยฝีแปรงและผิวแตกเป็นเม็ดๆ ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมและอยากให้เครื่องประดับดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นแทนที่จะเป็นชิ้นงานที่ขัดเงาจนแวววาว นอกจากนี้ยังอยากได้เครื่องประดับที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของตนเองด้วย การใส่แหวนหมั้นเพชรล้อมบนก้านแหวนหกก้านดูจะไม่เหมาะกับชาวมิลเลนเนียลที่ชอบการเดินเขาและเข้าคลาสโยคะ คนกลุ่มนี้ต้องการเครื่องประดับที่เหมาะกับชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เครื่องประดับที่ใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษ”

รูปทรงและสีสัน

“ผู้หญิงเริ่มหันเหความสนใจจากแหวนทองขาวตามแบบดั้งเดิม และหันมาเลือกแหวนหมั้นทองและทองกุหลาบกันมากขึ้น” Gage กล่าว “เพชรยังคงได้รับความนิยม แต่คนมักจะสำรวจหาเพชรรูปทรงใหม่ๆ ลูกค้าอยากได้งานออกแบบที่เตะตามากกว่าตัวเรือนพื้นฐานที่มีก้านแหวนหกก้าน รวมทั้งเปิดรับสิ่งที่เป็นงานออกแบบและดูมีเอกลักษณ์” แหวนเพชรล้อมยังคงพบเห็นได้ทั่วไป แต่ Gage ระบุว่าแหวนรูปแบบนี้ก็ได้รับการปรับปรุงใหม่ “เราเห็นแหวนล้อมที่มีรายละเอียดน่าสนใจ เช่น ใช้เพชรทรงบาเก็ตต์เป็นเพชรล้อมแทนที่จะใช้เพชรจิกไข่ปลา หรือถ้าเป็นแหวนล้อมแบบทั่วไป ก็อาจผสมผสานสีสันเข้ามามากขึ้น เช่น ใช้ตัวเรือนฝังหุ้มรมดำหรือใช้ก้านแหวนทองสีเหลือง เพื่อให้ดูทันสมัยและแตกต่างออกไป”

 

ประมาณการตลาดทองปี 2016

ตามข้อมูลจาก CPM Gold Yearbook 2016 ทองคำมีราคาเฉลี่ยลดลงต่อเนื่องในปี 2015 เมื่อถึงสิ้นปีราคาลงมาอยู่ที่ 1,060 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนหันไปหาการลงทุนรูปแบบอื่นๆ เช่น หุ้นและอสังหาริมทรัพย์ The CPM Group* เชื่อว่าราคาทองในปีนี้ไม่น่าจะลดลงกว่านี้มากนัก โดยราคาเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ราว 1,190 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในปี 2016 (ในเดือนกรกฎาคม 2016 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,337 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนยังคงให้ความสนใจในการซื้อทองคำสูง)

แม้ว่าราคาจะอ่อนตัว แต่อุปทานจากเหมืองก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลักแล้วมาจากกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองราคาทองที่สูงขึ้นในช่วงปี 2002-2011 อย่างไรก็ดี ราคาที่ลดต่ำลงในปัจจุบันจะส่งผลให้การพัฒนาเหมืองในอนาคตข้างหน้าอยู่ในวงจำกัด และปริมาณการผลิตทองก็จะลดลงในช่วงหลายปีข้างหน้านี้

ราคาที่ลดลงส่งผลกระทบต่อตลาดทองคำจากแหล่งรอง (หรือทองคำจากเศษโลหะ) ซึ่งมีปริมาณลดลงไปอยู่ที่ 30.2 ล้านออนซ์ในปี 2015 The CPM Group คาดว่าตลาดนี้จะมีปริมาณการผลิตลดลงต่อเนื่องในปี 2016 ไปอยู่ที่ 27.7 ล้านออนซ์

The CPM Group คาดว่าราคาทองที่ลดต่ำลงจะส่งผลต่อความต้องการในอุตสาหกรรมขึ้นรูปทองคำ (Gold Fabrication) ด้วย โดยความต้องการในปี 2015 เพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 96.7 ล้านออนซ์ นับเป็นการใช้ทองคำในเครื่องประดับและสินค้าทองขึ้นรูปอื่นๆ เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 และคาดว่าจะไปอยู่ที่ระดับ 97.9 ล้านออนซ์ในปีนี้

 

------------------------------------------

ที่มา: “The next generation of metal trends.” by Shawna Kulpa. MJSA JOURNAL. (July 2016: pp. 26-27).

 

*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ



*The CPM Group เป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ การให้คำแนะนำ การเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน การจัดการสินทรัพย์ และการจัดการโภคภัณฑ์ในนิวยอร์กซิตี้

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที