GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 09 ม.ค. 2019 16.31 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1290 ครั้ง

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2561 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 7.72 หรือมีมูลค่า 11,101.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่า 12,030.82 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.77 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำพบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 7,133.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าเติบโตสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.29 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่


สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2561

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2561 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 7.72 (ร้อยละ 13.18 ในหน่วยของเงินบาท)  หรือมีมูลค่า 11,101.54 ล้านเหรียญสหรัฐ (355,056.65 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่า 12,030.82 ล้านเหรียญสหรัฐ (408,966 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.77 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำพบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 7,133.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (228,339.33 ล้านบาท) ซึ่งมีมูลค่าเติบโตสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.29 (ร้อยละ 1.07 ในหน่วยของเงินบาท)

เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า

1)    สินค้าสำเร็จรูป เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงิน เติบโตร้อยละ 11.22 และร้อยละ 5.09 ตามลำดับ

2)    สินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.91,
ร้อยละ 0.96 และร้อยละ 3.94 ตามลำดับ

ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2561 ได้แก่ ฮ่องกง ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.02 เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้ลดลงร้อยละ 2.06 และร้อยละ 38.12 ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่ยังเติบโตได้ คือ เพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ซึ่งขยายตัวได้ร้อยละ 3.65, ร้อยละ 2.21 และร้อยละ 2.60 ตามลำดับ

ตลาดหลักรองลงมาเป็นสหภาพยุโรปขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 10.71 จากการส่งออกไปยังเยอรมนี เบลเยียม และสหราชอาณาจักร ตลาดหลักใน 3 อันดับแรก ได้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 18.59, ร้อยละ 6.21 และร้อยละ 1.32 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังเยอรมนีเป็นเครื่องประดับเงิน ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปเบลเยียมเป็นเพชรเจียระไน สำหรับสินค้าส่งออกหลักไปยังสหราชอาณาจักรเป็นเครื่องประดับทอง ที่ล้วนเติบโตได้เป็นอย่างดี

ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.34 เนื่องมาจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ยังคงส่งสัญญาณสะท้อนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น มีผลให้ไทยส่งออกสินค้าหลายรายการได้เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน สินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ที่ต่างขยายตัวสูงขึ้น

สำหรับตลาดสำคัญอื่นที่เติบโตได้ดี อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.80 โดยเป็นผลมาจากการส่งออกไปยังอิสราเอล และกาตาร์ ตลาดสำคัญในอันดับ 2 และ 3 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.37 และ 1.07 เท่าตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังอิสราเอลเป็นเพชรเจียระไน ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังกาตาร์เป็นเครื่องประดับทอง ซึ่งล้วนขยายตัวได้ค่อนข้างสูง ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดอย่างสหรัฐ-อาหรับเอมิเรตส์ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.39 เนื่องจากการส่งออกเพชรเจียระไน สินค้าสำคัญถัดมาได้ลดลงมากถึงร้อยละ 48.53 แม้ว่าการส่งออกเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าหลักจะเติบโตได้ร้อยละ 20.16 ก็ตาม

จีนก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 31.06 เนื่องมาจากการส่งออกกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเครื่องประดับเงิน ที่ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 38.96 อีกทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไนก็เติบโตได้ถึงร้อยละ 23.21

ส่วนอาเซียนยังคงเติบโตสดใสร้อยละ 14.64 อันเป็นผลมาจากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ และเวียดนาม ตลาดที่อยู่ในอันดับ 1 และ 3 ได้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 31.24 และร้อยละ 33.36 โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังสิงคโปร์เป็นเครื่องประดับเทียม ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 47.76 ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังเวียดนามเป็นอัญมณีสังเคราะห์ เติบโตกว่า 1.61 เท่า ในขณะที่การส่งออกไปยังมาเลเซีย ตลาดในอันดับ 2 หดตัวลงร้อยละ 26.43 เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักได้ลดน้อยลงร้อยละ 29.52

 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

9 มกราคม 2562

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที