คลังสินค้าหรือสโตร์ FG เป็นเครื่องมือที่สำคัญในระบบ JIT วัตถุประสงค์ของคลังสินค้า ที่จัดทำขึ้นเพื่อ
1. ใช้รองรับกรณีเกิดปัญหาในกระบวนการผลิต เช่น เครื่องจักรเสีย คนขาดงาน เป็นต้น
2. เป็น Buffer สำหรับการปรับเรียบกระบวนการผลิต เหมือนโช๊คอัพ รองรับแรงกระชากจากลูกค้า
3. เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างการผลิตและการจัดส่ง เพื่อทำให้เกิดความสม่ำเสมอในการไหลของงาน
4. เป็นตัวกักเก็บเสมือน เขื่อนกั้นน้ำ กรณีที่ วางระบบการผลิตแบบต่างวันทำงาน (ลูกค้าต้องการสินค้า 600 ชิ้น ทุกวันวันละ 100 ชิ้น ส่งงาน 6 วัน แต่เราสามารถผลิตได้ วันละ 120 ชิ้น จึงทำงานแค่ 5 วัน ต้องเก็บไว้วันละ 20 ชิ้น สะสมจนครบ 100 ชิ้นในวันที่ 5 เพื่อส่งงานในวันที่ 6)
จุดสำคัญในเรื่องสต็อก ต้องระวังปริมาณการเก็บ เพราะถ้าหากเก็บงานที่ขายไม่ได้ไว้มากๆ จะเป็นการเพิ่มภาระด้านการบริหารจัดการ เพราะต้องรับภาระดอกเบี้ย และ สต็อกที่ขายไม่ได้ไม่ถือเป็นสินทรัพย์ แต่ถือเป็นของเสียในบริษัท
ประเภทของ สโตร์สินค้า แบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
1. Sequence มีการจัดเรียงสินค้าตามลำดับการส่งมอบ หรือตามลำดับการผลิต จะมีสินค้าไม่ครบทุกรุ่น (เหมาะใช้กับการผลิตแบบ Made to Order) การแบ่งพื้นที่จัดเก็บจะแบ่งตามรอบส่ง เช่น พื้นที่เก็บงานรอบส่งที่ 1 พื้นที่เก็บงานรอบส่งที่ 2 เป็นต้น โดยจะต้องมีการจัดทำป้ายบ่งชี้ไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นพื้นที่อะไร และมี List รายการสินค้าแสดงไว้ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาความผิดพลาดในการจ่ายงาน การจ่ายงานจะทำเป็นรอบๆ ไป
2. Supermarket มีการจัดเรียงสินค้าแบ่งเป็นหมวดหมู่ เหมือนกับ ตู้แช่เย็นในร้านสะดวกซื้อ จุดสำคัญจะมีสินค้าทุกประเภทที่จะขายเก็บสต็อกอยู่ ทั่วไปที่นิยมใช้จะมีทางเข้าด้านหลัง และลูกค้าหยิบสินค้าออกด้านหน้า ปัจจุบันนิยมใช้แบบ Gravity Model ใช้แรงโน้มถ่วงของโลกเป็นตัวควบคุมการ FIFO โดยมีรางวางแบบ Roller
3. Mountain ลักษณะการวางสินค้าแบบกองๆ ไว้กับพื้น โดยไม่มีการจัดเก็บที่เป็นระบบ เรียกง่ายๆ ว่าวางแบบมั่วๆ เวลาจะค้นหาทำได้ลำบาก ไม่มีการควบคุม FIFO เป็นแบบที่ไม่ดีและก่อให้เกิดปัญหามากที่สุด
หลักของการปรับปรุง สโตร์ เพื่อทำระบบ JIT นั้น เราจะทำการปรับ สโตร์แบบ 3 ไปเป็นแบบ 1 หรือ 2 แล้วแต่ความเหมาะสมของระบบ และพื้นที่ โดยทั่วไปถ้าระดับ JIT ไม่สูงมาก คือ มีการใช้ สโตร์เป็น จุดรองรับส่วนแกว่งของ Order จะทำการปรับเป็น สโตร์แบบ 2 ถ้าเป็นระดับสูง คือ ทำการผลิตแล้วส่งทันทีจะเป็นแบบ 1
ในการจะประสบความสำเร็จสำหรับ JIT นั้นจะขึ้นอยู่กับการควบคุมการทำงานของสโตร์ทั้งหมด เพราะเป็นผู้กำหนดการสั่งผลิต การจ่ายสินค้าเพื่อส่ง การเรียกวัตถุดิบ ดังนั้นสโตร์จึงเป็นจุดที่มีปัญหาไม่ได้ เพราะถ้ามีปัญหาจะส่งผลกระทบไปทั้งระบบ ขั้นตอนจัดทำสโตร์จึงมีความสำคัญ ซึ่งตอนต่อไปจะอธิบายขั้นตอนการจัดทำและการคำนวณเพื่อสร้างสโตร์แต่ละแบบ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที