ปิยเดช

ผู้เขียน : ปิยเดช

อัพเดท: 29 พ.ย. 2009 17.38 น. บทความนี้มีผู้ชม: 207547 ครั้ง

(ตอนที่ 1 รู้จัก Just In Time อย่างแท้จริง)


รู้จัก Just In Time อย่างแท้จริง

หลายคนคงรู้จัก คำว่า Just In Time ที่แปลว่า “ทันเวลาพอดี” ซึ่งทั่วไปเรามักจะมองในแง่ของ การส่งสินค้าไปให้ทันตามเวลาที่ลูกค้ากำหนด ซึ่งมี เงื่อนไข 3 ส่วน ได้แก่

  1. ส่งสินค้าได้ทันเวลา หมายถึง ไม่ไปส่งสินค้าก่อนเวลาที่ลูกค้ากำหนด และไม่ไปส่งสินค้าช้ากว่าเวลาที่ลูกค้ากำหนด
  2. ส่งสินค้าได้ถูกต้อง หมายถึง สินค้าที่ส่งไปจะต้องตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
  3. จำนวนสินค้าถูกต้อง หมายถึง สินค้าที่ส่งไปมีจำนวนตรงกับที่ลูกค้าต้องการ ไม่ส่งเกินจำนวนหรือขาดจำนวน

ถ้าเราส่งสินค้าไปก่อนเวลา ลูกค้าของเราคงมีปัญหาเรื่องการหาพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบ เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาใช้วัตถุดิบนั้นๆ และถ้าเราส่งสินค้าไปไม่ทันเวลา หรือทันเวลาแต่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบจำนวนที่ลูกค้าต้องการ ลูกค้าของเราคงต้องหาพื้นที่เก็บสิ่งที่ยังไม่ต้องการ ในขณะเดียวกันก็ขาดสิ่งที่เขาต้องการ อันเป็นเหตุให้เกิดการหยุดการผลิต ซึ่งถ้าเป็นโรงงานที่เป็น Just In Time และมีการขยายผลไปยัง Supplier ต่างๆ ที่เราเรียกว่า SCM (Supply Chain Management) แล้วจะพบความสูญเสียอย่าง มหาศาล เนื่องจาก Supplier อื่นๆ จำเป็นต้องหยุดการผลิตเพื่อรอเราเพียงเจ้าเดียว

นอกจากนี้เรายังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าไปเปลี่ยนหรือส่งสินค้าเร่งด่วนเพิ่มเติม ซึ่งต้องเสียค่ารถบรรทุก เสียพนักงานที่ต้องไปตอบคำถามลูกค้า และที่สำคัญคือ เสีย เครดิตทางการค้า ด้วย ดังนั้นแล้วเราจะพบว่า Just In Time นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

 

ทีนี้ เราลองพิจารณาเงื่อนไข 3 ประการของ JIT แล้วลองคิดว่าจะทำอย่างไรให้บรรลุเงื่อนไข คำตอบแรกๆ สุดนั้นคือ การกำหนดให้มีสินค้าคงคลังในปริมาณที่เพียงพอ แต่ผู้รู้หลายท่านคงบอกว่าไม่ได้มีแค่นี้อย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยว่าไม่ได้มีแค่นี้

การผลิตในปัจจุบันจำเป็นต้องบรรลุวัตถุประสงค์ทั่วไป อันได้แก่ การลดต้นทุน การลดเวลานำ การมีคุณภาพในการผลิต ซึ่งไม่ใช้เงื่อนไข 3 ข้อที่กล่าวมาเลย ดังนั้นแล้ว JIT น่าจะมีความหมายมากกว่านั้น แล้วความหมายนั้นคืออะไร

 

โดยความจริงแล้ว JIT ถูกมองในแง่ของระบบ Logistics ซึ่งเราพิจารณาตั้งแต่ การรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า ในลักษณะของเงื่อนไข 3 ข้อ นั้นคือ ทันเวลาพอดี จำนวนถูกต้อง ชนิดถูกต้อง เช่น ฝ่ายการตลาดรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าและส่งมอบให้ฝ่ายผลิตทันเวลาพอดี จำนวนถูกต้อง และชนิดถูกต้อง ส่วนฝ่ายผลิตทำการผลิตสินค้าได้ทันเวลาพอดี (ไม่ช้าไม่เร็ว) จำนวนถูกต้อง และชนิดถูกต้อง และส่งมอบให้กับฝายจัดส่ง เป็นต้น

 

ดังนั้นแล้ว JIT น่าจะหมายถึง การปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเวลาที่ลูกค้าต้องการสินค้า ซึ่งก็คือ การทำงานให้ได้ตาม Takt Time ของลูกค้านั้นเอง

 

โปรดติดตาม ตอนที่ 2 Takt Time หัวใจของ JIT


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที