Tawan

ผู้เขียน : Tawan

อัพเดท: 23 ส.ค. 2021 11.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 487 ครั้ง

ไขข้อสงสัยเรื่องวัคซีนโควิด 19 กับคำตอบจากกรมควบคุมโรค


ไขข้อสงสัยเรื่องวัคซีนโควิด 19 กับคำตอบจากกรมควบคุมโรค

1. หากได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้อาการของโรครุนแรงน้อยลงหรือไม่
แม้วัคซีน โควิด 19 จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่สามารถระงับความรุนแรงของโรคได้เกือบทั้งหมด ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังสามารถรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ แต่จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก หลังฉีดวัคซีนจึงยังจำเป็นที่จะต้องต้องรักษามาตรการเพื่อป้องกันการติดเชื้อในชุมชนต่อไปอย่างเคร่งครัด จนกว่าจะมีความมั่นใจว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมีภูมิคุ้มกันโรคแล้ว ได้แก่ 
- การสวมหน้ากากอนามัย 
- เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการไปยังที่ที่มีคนหนาแน่น 
- ล้างมือบ่อย ๆ 
 
 
2. เมื่อฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว ร่างกายจะสามารถป้องกันการติดเชื้อที่กลายพันธุ์ไปแล้วได้หรือไม่
วัคซีนโควิด 19 ที่ผลิตขึ้นในปัจจุบันได้รับการพัฒนามาจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่ระบาดในช่วงแรก จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ลดลง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของไวรัสกลายพันธุ์ต่อประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดจำเป็นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกในอนาคต ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าต้องมีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม สำหรับไวรัสที่กลายพันธุ์ซ้ำอีก
 
 
3. ระยะห่างของการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 กับ เข็มที่ 2 ควรนานเท่าใด
ระยะห่างของการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระหว่างเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 ของวัคซีนโควิด 19 ทั้ง 2 ชนิดนั้น มีระยะเวลาที่ต่างกัน ดังนี้
- Sinovac 2-4 สัปดาห์ 
- AstraZeneca 10-12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ถ้าจำเป็น
 
หากมีเหตุขัดข้อง ไม่สามารถมารับวัคซีนได้ตามกำหนดหรือล่าช้าไปกว่ากำหนด ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อขอรับวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 2 โดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องเริ่มฉีดใหม่ สามารถนับต่อเนื่องจากเข็มแรกไปได้เลย
 
 
4. ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด 19 มาก่อน จำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนโควิด 19 อีกหรือไม่ หรือหากมีความประสงค์จะรับวัคซีน สามารถทำได้หรือไม่
สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคโควิด 19 แม้จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ในร่างกายแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ จึงควรรับวัคซีนโควิด 19 แม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด19 มาก่อนก็ตาม โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้อไปอย่างน้อย 3 เดือน และไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน 
 
นอกจากนี้ แม้จะมีประวัติเคยได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด 19 มาก่อน ก็ไม่ทำให้ได้รับอันตรายจากการฉีดวัคซีน โดยอาจพิจารณาฉีดเพียง 1 เข็ม เพราะจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างเพียงพอ
 
 
 5. วัคซีนโควิด 19 ต่างชนิด ยี่ห้อ หรือผู้ผลิต สามารถฉีดสลับกัน (Interchangeable) ได้หรือไม่
ในขณะนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิดเดิมไปก่อน จนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยออกมาเพิ่มเติม ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถหาวัคซีนชนิดเดิมฉีดได้ หรือมีอาการอันไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนชนิดแรก
 
 
6. ข้อห้ามและข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีอะไรบ้าง
เนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนชนิดใหม่ จึงยังไม่มีข้อมูลเรื่องอาการแพ้วัคซีนที่พบได้บ่อย จึงควรได้รับวัคซีนโควิด 19 ในสถานพยาบาลหรือในสถานที่ที่มีเจ้าหน้าที่และเครื่องมือช่วยเหลือกรณีมีปฏิกิริยาแพ้รุนแรง และควรเฝ้าระวังอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที และไม่ควรฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มบุคคลที่มีอาการดังต่อไปนี้
 
    • มีอาการป่วยหรือร่างกายอ่อนเพลียจากสาเหตุต่าง ๆ แนะนำให้เลื่อนฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าอาการจะเป็นปกติ
    • บุคคลที่กลุ่มอายุไม่ได้รับการรับรอง
    • หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (แต่ฉีดในหญิงหลังคลอดหรือให้นมบุตรได้)
    • ผู้ที่มีโรคประจำตัวรุนแรงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิต อาการยังไม่คงที่ มีโรคกำเริบ นอกจากแพทย์ประจำตัวจะประเมินว่าฉีดได้
 
เลือกเสริมความคุ้มครองสุขภาพด้วย “ประกันสุขภาพคุ้มค่า” หรือ “ประกันสุขภาพเอกซ์ตราประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย จ่ายค่ารักษาตามจริง เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่จำกัดจำนวนครั้งให้วุ่นวาย ด้วยวงเงินสูงสุด 500,000 บาท เบี้ยเริ่มต้นเพียง 5,000 บาท/ปี คลิก https://www.smk.co.th/prehealth
 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที