Daisy

ผู้เขียน : Daisy

อัพเดท: 17 ต.ค. 2022 21.51 น. บทความนี้มีผู้ชม: 286615 ครั้ง

รอบรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รู้ก่อน รักษาก่อน บทความที่จะมาเชิญชวนให้นักอ่านทุกคนหันมาดูแลสุขภาพเพื่อตัวเองและคนที่คุณรัก


ผู้หญิงอายุ 40 มีลูกได้ไหม เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง?

ด้วยหลักการทางการแพทย์ ผู้ใดก็ตามที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป การมีลูกจะเริ่มยากขึ้น เนื่องจากรังไข่จะเสื่อมสภาพลงทุกปี ซึ่งการเจริญพันธุ์ได้ดีของผู้หญิงจะอยู่ในช่วง 20-35 ปี ผู้หญิงหลายอาจมีคำถามว่า อายุ 40 มีลูกได้ไหม หากอายุ 40 ปีโอกาสในการตั้งครรภ์ก็จะยิ่งยากขึ้น แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเมื่ออายุ 40 ปี แล้วจะมีลูกไม่ได้เลย แต่จะมีวิธีไหนบ้าง ถ้าตั้งครรภ์แล้วจะเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนอะไรไหม บทความนี้มีคำตอบค่ะ
 
อายุ 40 มีลูกได้ไหม
 

ช่วงอายุที่เหมาะกับมีลูก

ผู้หญิงที่ต้องการมีลูก ช่วงอายุที่เหมาะแก่การเจริญพันธุ์จะอยู่ในช่วง 20-27 ปี เพราะเป็นช่วงที่เซลล์ไข่ยังมีความสมบูรณ์ และโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ยังมีน้อยอีกด้วย
 
อายุยิ่งมากขึ้นคุณภาพของเซลล์ไข่ก็จะเสื่อมลง ดังนั้น กรณีผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปี ต้องการมีลูกด้วยวิธีผสมเทียม แพทย์จะทำการคัดตัวอ่อนที่ได้รับการผสมแล้วในห้องทดลอง โดยจะตรวจเช็คความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อน หากพบความผิดปกติ แพทย์จะไม่ย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก ทั้งนี้ หากผู้หญิงอายุ 40 ปี แต่ยังมีฮอร์โมนดี รังไข่สามารถสร้างไข่ได้อยู่ ก็ยังมีโอกาสมีลูกได้อยู่ แต่อาจจะยากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย
 

จะรู้ได้อย่างไรว่ายังสามารถมีบุตรได้?

สำหรับผู้ที่ต้องการมีลูกในวัย 40 ปี จะรู้ได้อย่างไรว่ายังมีลูกได้ เรามีวิธีสังเกตอยู่ 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้
 
ผู้หญิงอายุ 40 มีลูกได้ไหม

ประจำเดือน

หากยังมีประจำเดือนอยู่ก็ยังสามารถมีลูกได้ แต่อาจจะไม่ได้ 100% เนื่องจากการตั้งครรภ์จะมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งหมายรวมถึงฝ่ายชายด้วย

การตรวจฮอร์โมน AMH

AMH หรือ Anti-Mullerian Hormone เป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากไข่ในรังไข่ที่บ่งบอกได้ถึงปริมาณของเซลล์ไข่ และความสามารถในการทำงานของรังไข่ โดยที่ถ้ามี AMH สูง แปลว่า มีเซลล์ไข่สะสมในปริมาณมาก มีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูง แต่หากมี AMH ต่ำ แปลว่า มีจะนวนไข่ที่น้อย ควรเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก
 
 

การอันตรายหากมีลูกในวัย 40

อันตรายที่เกิดจากการตั้งครรภ์ในวัย 40+ แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ

สุขภาพของคุณแม่

มีความเสี่ยงในการเกิดโรคระหว่างตั้งครรภ์ อาทิ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากสำหรับหญิงตั้งครรภ์ในวัยนี้ ซึ่งโรคดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ และเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ความแข็งแรงของทารกในครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ในวัย 40+ การฝังตัวของทารกเสื่อมสภาพลง ทำให้ทารกตัวเล็กกว่าปกติ เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และเด็กมีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมได้
 

การแพทย์ที่จะช่วยให้มีบุตรในวัย 40 อย่างปลอดภัย

การแพทย์ที่ทำให้การตั้งครรภ์ได้สำเร็จ ปลอดภัย และเป็นที่นิยมกันก็คือ “เด็กหลอดแก้วร่วมกับการตรวจโครโมโซม” แพทย์จะช่วยกระตุ้นไข่ตก และนำตัวอ่อนมาเลี้ยงภายในห้องทดลองจนได้ระยะ Blastocyst (5 วัน) แล้วจึงย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูก จึงมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สำเร็จมากขึ้น
 
กับอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ร่วมกัน คือ การตรวจโครโมโซม เนื่องจากเมื่ออายุมาก ลูกจึงเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติจากโครโมโซมมากขึ้น ได้แก่ ดาวน์ซินโดรม, โรคเอ๋อ และโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งก่อนที่จะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก แพทย์กับผู้เข้ารับการรักษาจะร่วมกันเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงที่สุด เพื่อการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์
 

ผู้ชาย อายุ 40 มี ลูก ได้ ไหม

 
ช่วงอายุที่อสุจิมีความแข็งแรงมากที่สุดจะอยู่ที่ 30-35 ปี และปริมาณอสุจิจะลดลงเมื่ออายุ 55 ปี ขึ้นไป ถ้าต้องการมีลูกตอนอายุ 40 ปี สามารถทำได้ ตราบใดที่ยังมีปริมาณอสุจิตรงตามมาตรฐานและยังแข็งแรงอยู่ แต่เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้สำเร็จ แนะนำว่าควรเข้ารับการตรวจคุณภาพของอสุจิจะดีที่สุดค่ะ
 
ผู้ชายอายุ 40 มีลูกได้ไหม
 

ถ้าอายุมากขึ้นไปอีก อายุ 45 46 47 48 49 หรือ 50 ปี มีลูกได้อยู่หรือไม่

คำถาม “อายุ 45 มีลูกได้ไหม” หรือ “อายุ 46 ท้องได้ไหม” เมื่ออายุ 45 ปี ขึ้นไปแล้ว โอกาสในการตั้งครรภ์ก็น้อยลงไปด้วย เนื่องจากความเสื่อมของรังไข่, จำนวนไข่ที่น้อยลง และคุณภาพไข่ก็ลดลง เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น หากต้องการมีลูกในวัยนี้ ควรเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด จากนั้นแพทย์จะวางแผนการรักษาให้เหมาะกับแต่ละบุคคลต่อไป
 

ข้อสรุป

โดยสรุปแล้วการท้องตอนอายุ 40 ของผู้หญิง สามารถทำได้ค่ะ หากรังไข่ยังไม่เสื่อมสภาพมากและยังมีการตกไข่อยู่ สำหรับฝ่ายชายก็ยังทำได้เช่นกัน หากหลังการตรวจอสุจิแล้วยังมีความแข็งแรง และมีปริมาณที่ตรงตามมาตรฐานอยู่
 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที