Daisy

ผู้เขียน : Daisy

อัพเดท: 17 ต.ค. 2022 21.51 น. บทความนี้มีผู้ชม: 308846 ครั้ง

รอบรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รู้ก่อน รักษาก่อน บทความที่จะมาเชิญชวนให้นักอ่านทุกคนหันมาดูแลสุขภาพเพื่อตัวเองและคนที่คุณรัก


สายตาสั้นเท่าไหร่ควรใส่แว่น แนะนำวิธีรักษาสายตาสั้น 50 75 150 200 300

ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นจะทำให้การมองเห็นไม่คมชัดเหมือนผู้ที่มีค่าสายตาปกติ โดยค่าสายตาที่เริ่มทำให้การมองเห็นไม่คมชัดจะเริ่มต้นที่ -50 แต่อย่างไรก็ตามค่าสายตาสั้นที่ยังไม่มากอาจทำให้การมองเห็นยังมีความใกล้เคียงกับผู้ที่มีค่าสายตาปกติ หลายคนจึงมีข้อสงสัยว่าสายตาสั้นไม่มากจำเป็นต้องใส่แว่นไหม ค่าสายตาสั้น 50 75 150 200 300 ถือว่าเยอะไหม แตกต่างกันอย่างไร หากไม่ใส่แว่นหรือไม่รักษาจะทำให้สายตาสั้นแย่ลงหรือไม่ ในบทความนี้มีคำตอบค่ะ

 

สายตาสั้น 50 ต้องตัดแว่นไหม

ทำความรู้จัก ‘ค่าสายตา’

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราสายตาสั้น นอกจากอาการที่มองเห็นภาพระยะไกลได้ไม่ชัดแล้ว สิ่งที่เป็นข้อยืนยันว่าเรามีอาการสายตาสั้นคือ “ค่าสายตา” นั่นเองค่ะ เมื่อเราไปร้านแว่น หรือไปโรงพยาบาลแผนกจักษุ สิ่งแรกที่สายมารถยืนยันถึงอาการสายตาสั้นของเราคือการวัดค่าสายตา

 

หลาย ๆ ที่ในปัจจุบันจะเริ่มจากการให้เราวัดค่าสายตาด้วยเครื่องวัดค่าสายตาอัตโนมัติ เนื่องจากทำได้ง่ายและใช้เวลาไม่กี่นาทีก็ทราบค่าสายตาปัจจุบันของเราค่ะ เมื่อเครื่องตรวจวัดค่าสายตาเราเป็นที่เรียบร้อยจะมีตัวเลขค่าสายตาออกมา ทำให้จักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตรสามารถอ่านค่าสายตาและแปลผลให้เราฟังได้ค่ะ

 

ค่าสายตาที่เครื่องวัดค่าสายตาอัตโนมัติรายงานผลออกมาเกิดจากการวัดกำลังของกระจกตาและเลนส์ตารวมกัน มีหน่วยเป็นไดออปเตอร์ (Diopter หรือ D.) หรือก็คือกำลังของเลนส์ (Optical Power) หากสายตาปกติจะมีค่าสายตา 0.00 D. แต่ถ้าหากมีค่าสายตาสั้นจะมีเครื่องหมายลบ (-) อยู่นำหน้าเลขหน่วยไดออปเตอร์

 

ยกตัวอย่างเช่น หากมีค่าสายตาสั้น 50 แสดงว่ามีค่าสายตา -0.50 D. หรือมีค่าสายตาสั้น 150 แสดงว่ามีค่าสายตา -1.50 D. เป็นต้น แต่เรามักจะคุ้นกับการเรียกค่าสายตาด้วยเลขเต็มจำนวน เช่น สายตาสั้น 50 75 150 200 300 ซึ่งไม่ใช่วิธีเรียกแบบสากล หน่วยที่เป็นสากลคือหน่วยไดออฟเตอร์ที่มีทศนิยม 2 ตำแหน่งค่ะ

 

เมื่อตรวจวัดค่าสายตาเสร็จ จักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตรจะต้องให้ใบค่าสายตากับเรา บนในค่าสายตานั้นจะมีตัวย่ออยู่หลายตัวที่เราอาจไม่คุ้นเคย หากเราสามารถแปลผลบนใบค่าสายตาเราได้ก็จะช่วยให้เราสามารถทราบค่าสายตาของตนเองค่ะ

 

วิธีอ่านค่าสายตาอย่างง่าย 

 

ยกตัวอย่าง

 

SPH CYL AX

RE -1.50 -0.50 120

LE -2.00 

 

อันดับแรก RE และ LE หมายถึง Right Eye และ Left Eye หรือตาข้างขวาและตาข้างซ้านนั่นเองค่ะ ในบางที่อาจใช้ตัวย่อ OD(ตาขวา) หรือ OS(ตาซ้าย) ซึ่งเป็นภาษาละตินก็ได้ค่ะ 

 

ในตัวอย่างจะเห็นได้ว่าค่าสายตาของตาขวามีค่า SPH (ค่าสายตาสั้นหรือยาว) -1.50 CYL(ค่าสายตาเอียง) -0.50 AX(องศาที่เอียง) 120 สามารถแปลได้ว่า ตาขวามีค่าสายตาสั้น 150 มีค่าสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้น 50 องศาเอียงที่มุม 120 องศา

 

ส่วนตาซ้ายมีค่า SPH (ค่าสายตาสั้นหรือยาว) -2.00 ไม่มีค่า CYL และ AX สามารถแปลได้ว่า ตาซ้ายมีค่าสายตาสั้น 200 ไม่มีค่าสายตาเอียง

 

การวัดค่าสายตา

สายตาสั้น 100 ต้องตัดแว่นไหม

 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าค่าสายตาจะเป็นตัวบ่งบอกว่าเรามีค่าสายตาเป็นอย่างไร และเป็นตัวยืนยันได้ว่าเรามีปัญหาเรื่องค่าสายตาที่ส่งผลถึงการมองเห็นนั่นเอง และนอกจากนี้การวัดค่าสายตานอกจากทำให้ทราบถึงค่าสายตาของเราแล้ว ยังทำให้สามารถทราบถึงวิธีการแก้ปัญหาสายตาได้อีก เช่นการนำค่าสายตาที่ทราบไปสั่งตัดแว่น เพื่อให้แว่นสายตาที่ตัดมีค่าสายตาที่เหมาะสมกับเรา และทำให้การมองเห็นกลับมาปกตินั่งเอง

 

วิธีการวัดค่าสายตาเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการใช้เครื่องวัดสายตาอัตโนมัติด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Auto Refractometer) หรือการอ่านแผนภูมิวัดสายตา Snellen Chart สำหรับเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติในบางครั้งอาจแสดงค่าไม่ตรงหรือคลาดเคลื่อนกับค่าสายตาจริง ดังนั้นอาจต้องวัดค่าสายตาแบบถามตอบด้วย (Subjective Refraction) 

 

เมื่อวัดค่าสายตาเบื้องต้นแล้วอาจไม่ได้ค่าสายตาที่แท้จริง อาจต้องมีการวัดค่าสายตาอีกหลาย ๆ แบบเพื่อยืนยันค่าสายตาอีกครั้ง โดยนักทัศนมาตรจะให้ดูภาพต่าง ๆ และให้เราตอบคำถาม จะทำให้ได้ข้อมูลเพื่อประเมินค่าสายตาได้อย่างละเอียด หลังจากนั้นอาจให้สวมแว่นทดลองเพื่อทดสอบอีกครั้ง

 

สายตาสั้นเท่าไหร่ควรใส่แว่น

ค่าสายตาสั้นที่เริ่มส่งผลต่อความคมชัดระยะไกลของการมองเห็นจะอยู่ที่ -50 ค่ะ ค่าสายตาสั้น 50 75 150 200 300 ยังจัดได้ว่าเป็นค่าสายตาสั้นในระดับที่ยังไม่มาก แต่อย่างไรก็ตามสายตาสั้น 50 75 150 200 300 ก็ยังมีความแตกต่างกัน ยิ่งค่าสายตาสั้นมากขึ้นจะยิ่งทำให้ความคมชัดของภาพระยะไกลยิ่งแย่ลงค่ะ 

 

สายตาสั้น 150 ต้องใส่แว่นไหม

สายตาสั้น 50 

ค่าสายตาสั้น 50 เป็นค่าสายตาสั้นที่เริ่มส่งผลต่อการมองภาพระยะไกลค่ะ แต่อย่างไรก็ตามค่าสายตาสั้น 50 ยังมีความใกล้เคียงกับค่าสายตาปกติ ดังนั้นคำถามสายตาสั้น 50 ควรใส่แว่นไหม? คำตอบคืออาจใส่ หรือไม่ใส่ก็ได้ค่ะ เพราะการมองเห็นยังใกล้เคียงกับค่าสายตาปกติ ผู้ที่มีค่าสายตาสั้น 50 จะยังไม่ค่อยเห็นความแตกต่างกันมาก แต่ในบางคนอาจเลือกการใส่แว่นสายตาเฉพาะตอนที่ใช้สายตามาก ๆ เช่น การอ่านหนังสือ หรือตอนใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้เช่นกันค่ะ

สายตาสั้น 75 ถึงสายตาสั้น 100

ค่าสายตาสั้น 75 ถึงค่าสายตาสั้น 100 ยังเป็นค่าสายตาสั้นที่ส่งผลต่อการมองภาพระยะไกลไม่มากค่ะ ในบางคนอาจไม่รู้สึกถึงความแตกต่างจากสายตาปกติ แต่ในบางคนอาจเริ่มรู้สึกถึงอาการมองภาพไกลไม่ชัดค่ะ ดังนั้นสายตาสั้น 75 ควรใส่แว่นไหม สายตาสั้น 100 ควรใส่แว่นไหม? คำตอบก็คงจะขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนค่ะว่าต้องการจะใส่แว่นหรือไม่

อาจมีคนสงสัยว่าสายตาสั้น 100 อันตรายไหม อย่างที่ได้ทราบกันไปแล้วว่าค่าสายตาสั้น 100 ยังส่งผลต่อการมองภาพระยะไกลได้ไม่มาก ดังนั้นจึงไม่อันตรายค่ะ แต่อย่างไรก็ตามสายตาสั้น 100 ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะมีค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นค่ะ ดังนั้นหากมีอาการปวดศรีษะ ปวดตา เริ่มมองได้ไม่ชัดมากขึ้น อาจต้องพบจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไปค่ะ

สายตาสั้น 150 ถึงสายตาสั้น 200

ค่าสายตาสั้น 150 ถึงค่าสายตาสั้น 200 จะเริ่มส่งผลถึงการมองภาพระยะไกลไม่ชัดมากขั้นค่ะ หลาย ๆ คนอาจเริ่มมีปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน เช่น อ่านป้ายจราจรได้ไม่ชัด มองตัวอักษรไกลไม่ชัด เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือปัญหาอื่น ๆ ตามมาควรใส่แว่นสายตาสั้น หรือคอนแทคเลนส์ค่ะ ในกรณีที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องมองระยะไกล บางคนอาจไม่ใส่แว่น แต่อย่างไรก็ตามเราอาจเผลอเพ่งสายตาโดยไม่รู้ตัว ก่อให้เกิดอาการปวดตา ตาล้า ปวดศรีษะได้ ดังนั้นควรใส่แว่นเพื่อป้องกันไม่ให้ตาเราเผลอเพ่งและใช้สายตามากเกินไปค่ะ

สายตาสั้น 300 ขึ้นไป

สายตาสั้น 300 เยอะไหม? คำตอบคือเป็นค่าสายตาสั้นที่จัดได้ว่าค่อนข้างมากแล้ว ผู้ที่มีค่าสายตาสั้นตั้งแต่ 300 จะเริ่มมองเห็นได้ไม่ชัดแล้ว ระยะการมองเห็นที่ยังชัดอยู่จะเริ่มน้อยลง และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ที่มีค่าสายตาสั้น 300 ขึ้นไปจำเป็นต้องใส่แว่นสายตาตลอดเวลาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการมองไม่ชัด และลดอาการปวดเมื่อยตา อาการปวดหัวจากการเพ่งมองด้วยค่ะ บางคนอาจไม่ชอบการใส่แว่นก็สามารถเลือกใส่คอนแทคเลนส์แทนได้แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันมากเกินกว่า 12 ชั่วโมง

 

หากการใส่แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเลือกการทำเลสิค เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาสั้นอย่างถาวรได้ค่ะ 

 

เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับสายตาสั้น

สายตาสั้น 300 เยอะไหม

ผู้ที่มีอาการสายตาสั้นคือผู้ที่มองไม่เห็น

เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยเห็นมีมข้อเท็จจริงของผู้ที่สายตาสั้นมาบ้าง อย่างการชูนิ้วแล้วถามว่า “นี่กี่นิ้ว” คนสายตาปกติหลายคนมักเข้าใจผิดว่าคนที่มีค่าสายตาสั้นจะมองไม่เห็น ความจริงคนที่มีอาการสายตาสั้นคือผู้ที่มองภาพระยะไกลได้ “ไม่ชัด” ภาพที่ผู้มีสายตาสั้นเห็นคือภาพเบลอ ไม่ใช่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพจะหายไปค่ะ 

สายตาสั้นไม่ทำให้ตาบอด

ผู้ที่มีค่าสายตาสั้นไม่มากอย่างสายตาสั้น 50 75 150 200 300 จะทำให้การมองภาพเบลอเท่านั้น ไม่ได้ทำให้การมองภาพไม่เห็น แต่ถ้าผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมาก ๆ และไม่มีการแก้ไขค่าสายตาอย่างการใส่แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ หรือการแก้ปัญหาค่าสายตาสั้นถาวรอย่างการทำเลสิค จะทำให้ทัศนียภาพการมองเห็นเบลอมาก จนแทบจะแยกแยะวัตถุไม่ออก ก็จะไม่ต่างจากอาการตาบอด นอกจากนี้ค่าสายตาสั้นมาก ๆ สามารถทำให้เกิดโรคที่ทำให้ตาบอดสนิทหรือบอดบางส่วนได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อม จอตาฉีดขาด เป็นต้น

สายตาจะสั้นลงเมื่อไม่ใส่แว่น

โดยปกติแล้วค่าสายตาสั้นจะเพิ่มได้ในช่วงวัยกำลังเจริญเติบโต และเมื่อร่างกายหยุดเจริญเติบโตแล้วค่าสายตาจะไม่ค่อยเปลี่ยนแล้ว เนื่องจากในเด็กที่ยังอยู่ในวัยเจริญเติบโต หากเริ่มมีอาการสายตาสั้นและไม่ใส่แว่น ทำให้มีการเพ่งมองอย่างไม่รู้ตัวบ่อย ๆ ลูกตาจะยืดออกมากขึ้น ทำให้กระบอกตายาวขึ้น ดังนั้นแสงที่ผ่านเข้าลูกตาจะมีจุดโฟกัสที่อยู่หน้าจอประสาทตา (เรียกง่าย ๆ คือแสงไปไม่ถึงจอประสาทตา) ทำให้เกิดอาการสายตาสั้นมากขึ้น

 

มื่อหมดวัยเจริญเติบโต ลูกตาจะไม่มีการยืดออกอีกแล้ว กระบอกตาของผู้ใหญ่จะไม่มีการขยายออกอีก ดังนั้นการไม่ใส่แว่นสายตาจนเกิดการเพ่งสายตาของผู้ใหญ่ จะไม่ทำให้สายตาสั้นลง แต่จะส่งผลให้เกิดอาการปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตาได้

สายตาสั้นกับสายตายาวสามารถหักล้างกันจนสายตาปกติได้

สายตาสั้นส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงวัยกำลังเจริญเติบโต โดยความผิดปกติของสายตาสั้นมักมาจากสรีระของลูกตา หรือก็คือกระบอกตายาวกว่าปกตินั่นเอง แต่เมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อควบคุมเลนส์ตาเสื่อม จึงทำให้เกิดสายตายาวนั่นเอง ด้วยการเกิดความผิดปกติของสายตาสั้นและสายตายาวเกิดจากคนละจุดกัน ดังนั้นสายตาสั้นกับสายตายาวจึงไม่สามารถหักล้างกันได้ค่ะ ผู้ที่มีทั้งสายตาสั้นและสายตายาว จะทำให้การมองเห็นไกลก็ไม่ชัด ใกล้ก็ไม่ชัดนั่นเอง

 

การแก้ปัญหาของผู้ที่มีค่าสายตาทั้งสั้นและยาว อาจทำได้โดยการตัดแว่นสำหรับสายตาสั้นและสายตายาวแยกกัน เมื่อต้องการมองไกลก็ใส่แว่นสายตาสั้น ต้องการมองใกล้ก็ใส่แว่นสายตายาว หรือหากไม่อยากยุ่งยากในการเปลี่ยนแว่นไปมา อาจตัดแว่นที่มีทั้งสองค่าสายตาได้ โดยเลนส์แว่นสายตาจะแบ่งเป็นสองส่วน ครึ่งบนเป็นค่าสายตาสั้นสำหรับมองไกล และครึ่งล่างเป็นค่าสายตายาวสำหรับมองใกล้ค่ะ

คนสายตาสั้นเมื่ออายุมากขึ้น สายตาจะกลับมาปกติ

มีหลายคนเลยที่เชื่อว่าเมื่อสายตาสั้นตอนเด็ก ตอนอายุมากขึ้นสายตายาวจะไปทำให้สายตาสั้นลดลงจนปกติ ซึ่งไม่เป็นความจริง อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสาเหตุของการเกิดสายตาสั้นกับสายตายาวมาจากคนละจุดกัน ดังนั้นถึงจะอายุมากขึ้นจนสายตายาว ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาสายตาสั้นได้ค่ะ

 

สายตาสั้นแต่ไม่อยากใส่แว่น รักษาอย่างไรได้บ้าง

แว่นสายตาเป็นอุปกรณ์แก้ไขสายตาสั้นที่ทำได้ง่ายและปลอดภัยที่สุด แต่หลาย ๆ คนไม่สะดวกกับการใช้แว่นสายตา ทั้งเรื่องของบุคลิคภาพ และการทำงานและเคลื่อนไหวร่างกายที่แว่นจะทำให้เกิดความไม่สะดวกขึ้น รวมทั้งการใส่แว่นตาก็ไม่ใช่การรักษาสายตาสั้นอย่างถาวร เมื่อถอดแว่นก็ทำให้มองไม่ชัดเหมือนเดิม ดังนั้นการแก้สายตาสั้นโดยไม่ใส่แว่นตาก็ยังมีวิธีอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนี้

คอนแทคเลนส์

การใช้คอนแทคเลนส์เป็นวิธีแก้ไขค่าสายตาสั้นที่เป็นที่นิยมรองลงมาจากการใส่แว่น เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาค่าสายตาได้ทันทีเหมือนกับการใส่แว่น แต่สะดวกที่ไม่มีอะไรมาเกะกะบนใบหน้า ไม่ต้องเจ็บตัวจากการผ่าตัด เพียงแค่ใส่คอนแทคเลนส์บนดวงตาก็สามารถมองได้ชัดเจน

 

แต่คอนแทคเลนส์เองก็มีข้อเสียอยู่หลายประการ เช่น คนที่ใช้คอนแทคเลนส์จะเป็นต้องรักษาความสะอาดดวงตาและคอนแทคเลนส์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นวัตถุสัมผัสกับดวงตา จึงทำให้โอกาสติดเชื้อในดวงตาง่ายขึ้น หากไม่รักษาความสะอาดก็เสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อหรือเกิดโรคตาขึ้นได้

 

และข้อจำกัดของคอนแทคเลนส์คือไม่ควรใส่ติดต่อกันเกิน 12 ชั่วโมง ห้ามใส่ตอนนอน และห้ามใช้คอนแทคเลนส์เดิมนานเกินอายุของคอนแทคเลนส์ เพราะจะก่ออันตรายแก่ดวงตาได้ และการใช้คอนแทคเลนส์ก็ไม่ใช่วิธีแก้ไขค่าสายตาสั้นถาวรเช่นเดียวกับแว่นสายตาค่ะ

การทำเลสิค (Laser-Assisted In-Situ Keratomileusis หรือ LASIK)

ผู้ที่ไม่ชอบการใส่แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ สามารถเข้ารับการรักษาค่าสายตาแบบถาวรได้ โดยการทำเลสิคเป็นวิธีแก้ไขค่าสายตาถาวรวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เนื่องจากสามารถแก้ไขค่าสายตาได้ถาวร ไม่จำเป็นต้องกลับไปพึ่งแว่นสายตาและคอนแทคเลนส์อีก สามารถแก้ไขค่าสายตาได้สูงถึง 1400 หรือ -14.00 D และมีราคาถูกที่สุดในบรรดาการรักษาสายตาสั้นด้วยเลสิคแบบอื่น ๆ 

 

การรักษาจะทำการปรับความโค้งของกระจกตาด้านนอกให้มีความโค้งเหมาะสมกับสายตาเรา โดยใช้มีดอัตโนมัติลอกกระจกตาส่วนบนก่อนจะใช้เลเซอร์ปรับความโค้งกระจกตาค่ะ

แต่การทำเลสิคมีข้อจำกัดคือจะต้องมีความหนากระจกตามากพอ ค่าสายตาจะต้องคงที่แล้ว และไม่มีโรคทางตาที่ส่งผลต่อการทำเลสิคค่ะ

รีแลกซ์สมายล์ (Relex Smile)

รีแลกซ์สมายล์เป็นวิธีแก้ไขสายตาที่พัฒนามาจากเลสิค โดยจะใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดทุกขั้นตอน ทั้งตอนแยกชั้นกระจกตาและตอนแก้ไขกระจกตา การทำรีแลกซ์สมายล์จะให้ความแม่นยำสูง เนื้อเยื่อกระจกตาจะไม่เสียหายขณะผ่าตัด และแผลจากการทำรีแลกซ์สมายล์จะเล็กและหายได้เร็ว

 

แต่ก็ยังมีข้อจำกัดคือผู้ที่มีโรคทางตาบางโรค เช่น ตาแห้งรุนแรง หรือผู้ที่มีโรคที่ทำให้แผลหายช้า ไม่สามารถรักษาด้วยรีแลกซ์สมายล์ได้ และรีแลกซ์สมายล์สามารถรักษาค่าสายตาสั้นได้สูงสุดที่ 1000 หรือ -10.00 D และไม่สามารถแก้ไขสายตายาวได้ รวมทั้งราคาการผ่าตัดรีแลกซ์สมายล์ยังสูงที่สุดในบรรดาผ่าตัดเลสิคอีกด้วยค่ะ

เฟมโตเลสิค (Femto LASIK)

เฟมโตเลสิคเป็นวิธีแก้ไขค่าสายตาโดยใช้เลเซอร์ในการแยกชั้นกระจกตาและการปรับความโค้งกระจกตา โดยต่างตากเลสิคปกติคือการใช้เลเซอร์แยกชั้นกระจกตาแทนใบมีด ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าเลสิคไร้ใบมีดนั่นเอง โดยการแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์จะมีความแม่นยำสูง ลดความเสียหายของกระจกตาได้ มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเลสิคปกติค่ะ 

 

แต่อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของเฟมโตเลสิคคือตาจะแห้งมากหลังผ่าตัด และมีแผลจากการผ่าตัดค่อนข้างใหญ่ ทำให้ใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน และหลังจากผ่าตัดยังต้องระวังเรื่องอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาตลอดด้วยค่ะ สามารถรักษาสายตาสั้นได้น้อยกว่าเลสิค คือรักษาได้ไม่เกิน -1000 หรือ -10.00 D เท่านั้น

พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy หรือ PRK)

PRK เป็นวิธีแก้ไขค่าสายตาที่จะทำการลอกกระจกตาส่วนบนออกไปเลยก่อนจะทำการปรับความโค้งกระจกตา ไม่มีการแยกชั้นกระจกตาเหมือนการทำเลสิค จึงทำให้หลังผ่าตัดกระจกตาจะอยู่ในสภาะที่สมบูรณ์ ไม่มีรอยแยกชั้นของกระจกตาเหมือนเลสิคค่ะ เหมาะกับผู้ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้รักษาแบบเลสิคไม่ได้ เช่น ตาแห้งเกินไป กระจกตาบาง รวมไปถึง PRK เป็นวิธีเดียวที่จะแก้ไขค่าสายตากับผู้ที่ประกอบอาชีพที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับดวงตา เช่น นักบิน ตำรวจ ทหาร 

 

แต่ PRK ก็มีข้อจำกัดอย่างสามารถรักษาค่าสายตาได้ไม่มาก ไม่เกิน -500 หรือ -5.00 D รวมถึงหลังผ่าตัดจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษเพื่อรอให้ร่างกายสร้างกระจกตาขึ้นมาใหม่ก่อน และการทำ PRK จะทำให้ระคายเคืองอละมีผลข้างเคียงมากกว่าวิธีอื่น ๆ ค่ะ

Implantable Collamer Lens หรือ ICL

ICL เป็นวิธีแก้ไขค่าสายตาที่ไม่ใช่เลสิคค่ะ โดยจะใกล้เคียงกับการใส่คอนแทคเลนส์ แต่เป็นการใส่คอนแทคเลนส์เข้าไปที่หน้าเลนส์ตาโดยตรง ทำให้สามารถแก้ไขค่าสายตาได้ และเป็นการผ่าตัดรักษาค่าสายตาที่ปลอดภัย ตัวคอนแทคเลนส์ที่ใส่สามารถถอดเพื่อเปลี่ยนจากค่าสายตาที่เปลี่ยนไป หรือตัวเลนส์อาจเกิดปัญหาได้โดยแพทย์ได้ตลอด และแผลจากการผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก การพักฟื้นจึงสั้น และสามารถแก้ไขค่าสายตาสั้นมาก ๆ ได้ รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาตาแห้ง หรือกระจกตาบางก็สามารถรักษาด้วย ICL ได้เช่นกัน

 

ข้อจำกัดของ ICL คือดวามดันตาอาจเกิดความผิดปกติหลังผ่าตัดได้ ระยะหลังผ่าตัดจะอยู่ในการดูแลของแพทย์ และการผ่าตัดแบบ ICL ราคาจะสูงมาก

ข้อสรุป

อาการสายตาสั้นอาจไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรงถึงชีวิต แต่ก็สามารถสร้างความรำคาญ เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานได้ หากค่าสายตาไม่มากอย่างเช่นสายตาสั้น 50 75 150 200 300 ก็อาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก สามารถแก้ไขด้วยการใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ได้ แต่หากสายตาสั้นมาก ๆ การใส่แว่นอาจทำให้ไม่สะดวกนัก ทั้งเลนส์หนาและหนัก อาจเลือกการรักษาค่าสายตาถาวรด้วยการทำเลสิคค่ะ 

 

ผู้ที่สายตาสั้นยังไม่มากหลายคนอาจปล่อยปละละเลย และไม่รับการแก้ไขค่าสายตาอย่างถูกต้อง อาจทำให้ค่าสายตาเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นควรตรวจวัดค่าสายตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้แก้ไขค่าสายตาได้และนอกจากนี้ยังเป็นการเช็คสุขภาพตาเบื้องต้น เพื่อป้องกันโรคที่ส่งผลให้สายตามีปัญหาได้ค่ะ

 

ขอขอบคุณรายละเอียดข้อมูลที่เป็นประโยชน์จาก https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/do-i-need-glasses


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที