ทำความรู้จัก PRK ทางเลือกของการผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติ
ปัญหาทางสายตาเป็นปัญหาที่หลาย ๆ คนพบเจอ ซึ่งปัญหาทางสายตาอาจไม่ใช้โรคที่ร้ายแรง หรือเป็นอันตรายโดยตรงแก่ร่างกาย แต่ก็สามารถเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตได้ วิธีแก้ปัญหาทางสายตาก็มีหลายทางแก้ ไม่ว่าจะเป็นการใส่แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ แต่ทั้งสองวิธีไม่ได้ช่วยให้สายตากลับมาปกติอย่างถาวร เป็นเพียงแค่ตัวช่วยในการมองเท่านั้น หากต้องการแก้สายตาถาวรอาจต้องเลือกวิธีผ่าตัด เช่น การทำเลสิค การทำ PRK เป็นต้น ในบทความนี้จะมาแนะนำการทำ PRK ที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาปัญหาทางสายตา
PRK คืออะไร
Photorefractive Keratectomy หรือ PRK คือวิธีผ่าตัดแก้ไขปัญหาทางสายตาที่มีมาก่อนเลสิค โดยขั้นตอนการรักษาจะใช้เลเซอร์ในการปรับความโค้งของกระจกตาเช่นเดียวกันกับเลสิค แต่ความแตกต่างระหว่างการทำ PRKและเลสิคคือ
การทำ PRK จะไม่มีการแยกชั้นกระจกตา แต่จะทำการลอกผิวกระจกตาด้านนอกออกไป ก่อนจะปรับความโค้งกระจกตาชั้นกลางด้วย Excimer Laser และใช้คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษปิด และรอให้ผิวกระจกตาด้านบนกลับมาคลุมเหมือนเดิมก่อนที่จะนำคอนแทคเลนส์ออก
PRK สามารถแก้ไขปัญหาสายตาแบบใด
การทำ PRK สามารถแก้ปัญหาทางสายตาได้ทั้งสายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวโดยกำเนิด และสายตายาวตามอายุได้อย่างถาวร
เปรียบเทียบ PRK กับ LASIK ต่างกันอย่างไร
ถึงการทำ PRK และการทำ LASIK จะเป็นการแก้ไขปัญหาทางสายตาด้วยการผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ และสามารถแก้ไขปัญหาทางสายตาอย่างถาวรเช่นเดียวกัน แต่ทั้งสองวิธีก็ยังมีจุดแตกต่างกันทั้งขั้นตอนการผ่าตัดและผลข้างเคียงหลังผ่าตัด ดังนั้นหัวข้อนี้จะมาชี้จุดเด่นของ PRK Vs LASIK
PRK
-
การทำ PRK ไม่มีการแยกชั้นกระจกตา ทำให้หลังผ่าตัดไม่มีรอยจากการแยกชั้นกระจกตา
-
การทำ PRK ยังคงความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของกระจกตา
-
การทำ PRK คือทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่สามารถทำเลสิคได้จากภาวะกระจกตาบาง หรือไม่สามารถแยกชั้นกระจกตาได้
-
การทำ PRK ทำให้ตาแห้งน้อยกว่าการทำเลสิค
-
การทำ PRK ราคาถูกกว่าการทำ LASIK
LASIK
-
การทำ LASIK มีอาการปวดตา อาการเคืองหล้งผ่าตัดน้อยกว่าการทำ PRK
-
การทำ LASIK ใช้เวลาพักฟื้นที่น้อยกว่า และสามารถมองชัดได้เร็วกว่าการทำ PRK
-
การทำ LASIK สามารถแก้ไขค่าสายตาได้มากกว่า PRK สำหรับสายตาสั้นการทำ LASIK สามารถแก้ไขค่าสายตาได้ถึง -1000 แต่การทำ PRK สามารถแก้ไขค่าสายตาไม่เกิน -600
การทำ PRK เหมาะกับใคร
ถึงการทำ PRK อาจเป็นวิธีที่มีมาก่อนเลสิค และมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้การทำเลสิคเป็นที่นิยมมากกว่า แต่ที่การทำ PRK ยังนำมาใช้รักษากันจนถึงปัจจุบันเพราะการทำเลสิคก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถมาทดแทนการทำ PRK ได้ทั้งหมด ดังนั้นการทำ PRK จึงเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มีปัญหาดังนี้
-
ผู้ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการทำเลสิคได้จากภาวะกระจกตาบาง กระจกตาโค้งผิดรูป ไม่สามารถแยกชั้นกระจกตาได้
-
ผู้ที่มีโรคทางตาบางอย่างที่ไม่สามารถใช้เลสิคในการแก้ไขปัญหาทางสายตาได้ เช่น โรคต้อหิน (แพทย์ต้องพิจารณาว่าสามารถรับการรักษาภาวะทางสายตาได้)
-
ผู้ที่มีอาการตาแห้งมาก
-
ผู้ที่มีประวัติกระจกตาถลอกง่าย หรือมีประวัติการลอกของกระจกตา
-
ผู้ที่มีข้อจำกัดทางอาชีพเช่น นักบิน (อาชีพนักบิน การทำ PRK เป็นการรักษาภาวะสายตาผิดปกติวิธีเดียวที่อนุญาตให้ทำ)
-
ผู้ที่มีค่าสายตาไม่มาก
ข้อดี - ข้อจำกัดของการทำ PRK
ข้อดีของการทำ PRK
-
การทำ PRK สามารถคงความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของกระจกตา
-
การทำ PRK ไม่มีการแยกชั้นกระจกตา ทำให้หลังผ่าตัดไม่ต้องเย็บแผล และไม่มีรอยต่อจากการแยกชั้นกระจกตา
-
หลังการทำ PRK พบอาการตาแห้งน้อย
-
การทำ PRK เพิ่มโอกาสการประกอบอาชีพบางอาชีพ เช่น ทหาร ตำรวจ นักบิน เป็นต้น
ข้อจำกัดการทำ PRK
-
การทำ PRK มีผลข้างเคียงหลังผ่าตัดมาก เช่น ไม่สบายตา ปวดตา น้ำตาไหลมาก ลืมตาไม่ขึ้น ไม่สามารถสู้แสงได้ ซึ่งอาการจะดีขึ้นเมื่อผ่านไปสักระยะ แต่ในบางรายอาจไม่พบผลข้างเคียงใดใด
-
การทำ PRK ใช้เวลาพักฟื้นนาน แผลหายช้ากว่าการรักษาความผิดปกติทางสายตาด้วยวิธีอื่น
-
ต้องใส่คอนแทคเลนส์หลังผ่าตัดเพื่อลดอาการระคายเคือง
-
พบแพทย์เพื่อติดตามอาการหลังผ่าตัดถี่กว่าการรักษาวิธีอื่น ๆ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการทำ PRK
ก่อนเข้ารับการรักษาแก้ไขความผิดปกติด้านสายตาผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ จากนั้นต้องเข้ารับคำปรึกษาจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะนัดเพื่อมาตรวจประเมินสภาพตาอย่างละเอียด ดังนั้นก่อนที่จะเข้ารับการตรวจสภาพตา จะต้องเตรียมตัวก่อนดังนี้
-
งดใส่คอนแทคเลนส์ 3 วันสำหรับคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม หรืองดใส่คอนแทคเลนส์ 7 วันสำหรับคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ในระหว่างนี้สามารถใส่แว่นสายตาทดแทนได้
-
งดยาบางชนิดที่ส่งผลต่อดวงตา (ในวันที่เข้ารับปรึกษาแพทย์ ถ้ามียาที่รับประทานประจำต้องแจ้งแพทย์ก่อนนัดตรวจสภาพตา)
-
งดการทำให้ตาอาจเกิดอาการระคายเคือง เช่นการแต่งหน้า การใช้สเปรย์
-
ในวันตรวจสภาพตาควรพาญาติมาอย่างน้อย 1 คน เพราะในวัดตรวจมีการหยอดยาขยายม่านตา ทำให้ดวงตาไม่สามารถสู้แสงได้
การตรวจสภาพตาก่อนเข้ารับการผ่าตัด
ไม่ว่าจะเข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธี PRK หรือ LASIK แพทย์จะต้องตรวจสภาพตาอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยและพิจารณาถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยแพทย์จะหยอดยาขยายม่านตาเพื่อวัดสายตาในสภาพที่ม่านตาขยายตัว วัดความหนาและความโค้งของกระจกตา และตรวจสุขภาพของกระจกตาและจอประสาทตา เพื่อหาว่ามีโรคทางตาที่ทำให้ไม่สามารถรักษาความผิดปกติทางสายตาได้หรือไม่
ขั้นตอนการทำ PRK
เมื่อจักษุแพทย์ได้ทำการตรวจสภาพตาโดยละเอียด และประเมินแล้วว่าสามารถรักษาความผิดปกติทางสายตาด้วยการทำ PRK ได้ แพทย์จะนัดอีกครั้งเพื่อเข้ารับการผ่าตัด โดยขั้นตอนการทำ PRK มีดังนี้
-
หยอดยาชาเพื่อระงับอาการเจ็บปวด
-
ลอกผิวกระจกตาด้านนอกสุดออก
-
ใช้ Excimer Laser ปรับความโค้งของกระจกตา
-
ใช้คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษปิดบนกระจกตา
-
สำหรับการทำ PRK จะใช้เวลาผ่าตัดเพียงประมาณ 15-20 นาทีเท่านั้น
ข้อควรปฏิบัติหลังการผ่าตัด
เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ ควรดูแลตนเองและปฏิบัติตามข้อแนะนำดังนี้
-
หลังทำ PRK ห้ามถอดที่ครอบตาออกจนกว่าแพทย์จะสั่ง
-
หลังทำ PRK ในช่วงคืนแรก ๆ ควรพักผ่อนให้มาก
-
หลังทำ PRK จะมีอาการปวดตามาก สามารถรับประทานยาแก้ปวด พาราเซตามอลได้
-
รับประทานยาและหยอดยาตามแพทย์สั่ง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
-
ห้ามให้ตาโดนน้ำเด็ดขาด ควรหลีกเลี่ยงการสระผมเอง การล้างหน้า เพราะน้ำอาจเข้าตาได้
-
ห้ามขยี้ตาเด็ดขาด หากมีอาการคันมากสามารถใช้นิ้วที่ล้างสะอาดแตะบริเวณหัวตา หรือหางตาได้เท่านั้น
-
หากระคายเคืองตา สามารถหยอดน้ำตาเทียมได้
-
เมื่อแพทย์นัดพบเพื่อติดตามอาการ หรือนัดถอดคอนแทคเลนส์ ควรไปตามนัดทุกครั้ง
อาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัด
หลังทำ PRK คนไข้อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ดังนี้
-
ปวดตามาก
-
ระคายเคืองตามาก
-
น้ำตาไหลมาก น้ำตาไหลไม่หยุด
-
ตาไม่สามารถสู้แสงได้
-
ไม่สามารถลืมตาได้
โดยอาการเหล่านี้เป็นอาการที่พบได้หลังทำ PRK แต่เป็นเพียงอาการชั่วคราว โดยอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นในภายหลัง
ค่าใช้จ่ายในการทำ PRK ราคาเท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายในการทำ PRK ราคาโดยประมาณจะอยู่ที่ 35,000 - 45,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลนั้น ๆ โดยส่วนใหญ่ราคาจะรวมค่าตรวจสภาพตาและค่าผ่าตัดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามควรสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับสถานพยาบาลนั้น ๆ ก่อนเข้ารับบริการ
ทำ PRK ที่ไหนดี
นอกจากวิธีการรักษาความผิดปกติทางสายตาที่มีมากมาย ไม่ว่าจะทำเลสิค หรือทำ PRK ในปัจจุบันก็มีสถานพยาบาลต่าง ๆ ที่สามารถรักษาด้วยการทำเลสิคหรือการทำ PRK ให้เลือกมากมายเช่นกัน แต่จะเข้ารับการรักษาที่ไหนดี ควรมีเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเลือกสถานพยาบาลดังนี้
-
สถานพยาบาลนั้นมีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยภาวะผิดปกติทางสายตา
-
สถานพยาบาลนั้นควรมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย และครบครัน เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาที่หลากหลาย
-
สถานพยาบาลนั้นควรมีความน่าเชื่อถือ สะอาดและปลอดภัย
-
หากสถานพยาบาลนั้นสามารถเดินทางได้สะดวก เมื่อมีความผิดปกติจะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
FAQs การทำ PRK (Photorefractive Keratectomy)
หลังทำ PRK ต้องพักฟื้นกี่วัน
ตอบ หลังทำ PRK ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 3-5 วัน ซึ่งใช้เวลาพักฟื้นมากกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น เนื่องจากแผลจากการผ่าตัดมีขนาดใหญ่ หายได้ช้า และต้องรอให้ผิวกระจกตาสมานตัวเอง
หลังทำ PRK กี่วันถึงจะมองเห็นได้ชัดเจน
ตอบ เพราะการสร้างและสมานตัวของกระจกตาอาจทำให้การมองเห็นยังไม่คงที่ เมื่อกระจกตาสมานตัวกลับเป็นปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์จึงจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
ทำ PRK แล้วมองไม่ชัด เกิดจากอะไร
ตอบ ในระยะแรกบาดแผลจากทำ PRK ผิวกระจกตาที่สร้างใหม่นั้นอาจยังไม่เรียบ และในช่วงนี้ค่าสายตาจะยังไม่คงที่ ส่งผลให้การมองเห็นไม่ปกติ เช่น มองไม่ชัด เบลอ หรือภาพซ้อน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อผิวกระจกตาที่เกิดใหม่กลับสภาพปกติ และค่าสายตาคงที่แล้ว
ข้อสรุป
PRK เป็นเทคโนโลยีที่ใช้รักษาความผิดปกติของสายตาที่มีมานานก่อนเลสิค ถึงในปัจจุบันอาจไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากผลข้างเคียงที่มาก และใช้เวลาพักฟื้นนาน แต่การทำ PRK ก็เป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถรับการรักษาด้วยเลสิคได้
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที