Daisy

ผู้เขียน : Daisy

อัพเดท: 17 ต.ค. 2022 21.51 น. บทความนี้มีผู้ชม: 308213 ครั้ง

รอบรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รู้ก่อน รักษาก่อน บทความที่จะมาเชิญชวนให้นักอ่านทุกคนหันมาดูแลสุขภาพเพื่อตัวเองและคนที่คุณรัก


ตรวจความเข้มของเลือด มีความสำคัญอย่างไร บ่งบอกปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง ?

ตรวจความเข้มของเลือด

ในร่างกายของเรามีของเหลวอยู่ในปริมาณมาก ของเหลวที่ว่านั้นคือ “เลือด” นั่นเอง ในเลือดจะประกอบด้วยเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดลอยอยู่ภายในพลาสมาหรือน้ำเลือด โดยสีแดงของเลือดนี้มาจากเม็ดเลือดแดง ที่ทำหน้าที่สำคัญอย่างคอยนำส่งสารอาหาร ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงทั้งร่างกาย ดังนั้นหากเม็ดเลือดแดงนี้เกิดความผิดปกติก็ส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติตามไปด้วย 

 

ดังนั้นจึงสามารถตรวจความข้นของเลือดเพื่อดูปริมาณของเม็ดเลือดแดงในเลือด หากพบค่าผิดปกติตามที่ควรจะเป็นแพทย์ก็จะสามารถตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง สำหรับการตรวจความเข้มข้นของเลือดมีขั้นตอนอย่างไร ปกติแล้วควรจะมีความเข้มข้นของเลือดประมาณไหน หากผิดปกติสามารถบ่งบอกปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง มาหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย

 

การตรวจวัดความเข้มของเลือด (Hematocrit)

 

Hematocrit หรือ HCT เป็นวิธีการตรวจความเข้มของเลือด หรือก็คือความเข้มของเม็ดเลือดแดงต่อปริมาณเลือดทั้งหมด สามารถคิดเป็นเปอร์เซนต์ของเซลล์เม็ดเลือดแดงต่อปริมาตรของเหลวทั้งหมด เมื่อนำเลือดไปปั่นแยกจะทำให้เม็ดเลือดแดงตกตะกอนอยู่ก้นหลอด โดยเม็ดเลือดแดงที่ตกตะกอนนี้สามารถบ่งบอกและนำมาคิดเป็นเปอร์เซนต์ของความเข้มข้นของเลือดได้นั่นเอง ความเข้มข้นของเลือดจะมีเกณฑ์ปกติอยู่ตามช่วงอายุและเพศ 

 

หากผลของการตรวจวัดความเข้มข้นของเลือดต่ำหรือสูงไป แพทย์ก็จะสามารถนำส่งผู้ป่วยไปตรวจเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุและวินิจฉัยโรคได้ สำหรับการตรวจความเข้มข้นของเลือดหรือ Hematocrit นี้อาจเป็นการตรวจแยกหรือถูกตรวจรวมกับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count, CBC) ก็ได้

 

ความเข้มข้นของเลือดคืออะไร

ความเข้มข้นของเลือดคืออะไร

ความเข้มข้นของเลือด คือ ปริมาณเม็ดเลือดแดงที่พบในเลือด ซึ่งเม็ดเลือดแดงมีองค์ประกอบสำคัญอย่างฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ที่ทำหน้าที่นำส่งก๊าซออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายและนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภายในร่างกายส่งไปที่ปอดเพื่อขับออก นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมในหลอดเลือดแดงจะมีเลือดสีแดงสดและหลอดเลือดดำมีสีแดงคล้ำ 

 
ปริมาณของเม็ดเลือดแดงนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับระดับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง หากค่าความเข้มข้นเลือดสูงหรือต่ำ ก็ทำให้ระดับฮีโมโกลบินสูงหรือต่ำตามเช่นกัน

ทำไมต้องตรวจความเข้มของเลือด

การตรวจความเข้มข้นของเลือดมักจะเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจเพื่อคัดกรองความผิดปกติในเบื้องต้น เนื่องจากสามารถตรวจได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน และยังมีประโยชน์อีกมากมาย ดังนี้
 
- การตรวจความเข้มข้นของเลือดสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพโดยรวมในร่างกาย เนื่องจากเลือดมีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก หากความเข้มของเลือดผิดปกติไป ก็จะสามารถทราบได้เบื้องต้นว่าสุขภาพร่างกายเกิดความผิดปกติขึ้น และเนื่องจากความเข้มของเลือดสูงไปหรือต่ำไปก็ยังสามารถจำแนกกลุ่มโรคที่อาจเป็น การตรวจความเข้มของเลือดก็จะสามารถทำให้แพทย์ส่งผู้ป่วยตรวจเพื่มเพื่อวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ
 
- การตรวจความเข้มของเลือดสามารถบ่งบอกถึงสถานะการติดเชื้อในร่างกาย เนื้อบางชนิดส่งผลต่อการทำงานของเลือด จึงทำให้สามารถทราบถึงสถานะการติดเชื้อว่ามีความรุนแรงระดับไหน
 
- การตรวจความเข้มข้นเลือดก่อนเข้ารับการผ่าตัด หากผู้ป่วยมีความเข้มข้นเลือดที่น้อยเกินไปก็จะทำให้แพทย์พิจารณาเลื่อนการผ่าตัด หรือเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงแก่ผู้ป่วยได้ และที่สำคัญอย่างยิ่งทำให้สามารถบ่งบอกถึงปริมาณเกล็ดเลือดเนื่องจากมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดระหว่างผ่าตัดอีกด้วย

ขั้นตอนการตรวจความเข้มข้นของเลือด

ขั้นตอนการตรวจความเข้มข้นของเลือด

การเตรียมตัวก่อนตรวจความเข้มของเลือด

การตรวจความเข้มข้นของเลือดนั้นผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใด ๆ เมื่อถึงเวลาตรวจ แพทย์หรือพยาบาลจะพาผู้ป่วยไปเจาะเลือดเพื่อเก็บตัวอย่างเลือดไว้ใช้สำหรับตรวจความเข้มข้นของเลือด ใช้เวลาเจาะเลือดไม่นานและผู้ป่วยสามารถเข้าฟังผลการตรวจภายหลังได้

วิธีการตรวจความเข้มของเลือด

เมื่อแพทย์หรือพยาบาลเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยแล้วจะนำตัวอย่างเลือดนี้ใส่หลอดแก้วที่ใส่สารป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น EDTA, Heparin จากนั้นอาจนำตัวอย่างเลือดไปหยดลงแผ่นสไลด์ และส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรืออาจนำไปปั่นเหวี่ยงที่ความเร็วรอบ 10,000 rpm เพื่อแยกเม็ดเลือดและน้ำเลือดหรือพลาสมาออกจากกัน และนำไปคำนวณเปรียบเทียบเพื่อหาความเข้มข้นของเลือดได้

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการตรวจ

การตรวจความเข้มของเลือดมีขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยด้วยการเจาะเลือด ในบริเวณที่เจาะเลือดอาจมีอาการปวด เป็นรอยช้ำ ซึ่งอาการนี้สามารถหายได้เองประมาณ 2-3 วัน

ค่าความเข้มของเลือดปกติอยู่ที่เท่าไหร่

ค่าความเข้มของเลือดปกติแล้วจะแตกต่างกันตามช่วงอายุและเพศ ดังนี้

 

- เพศชาย : 38-50% HCT

 

- เพศหญิง : 36-45% HCT

 

- เด็ก : 29-59% HCT

 

- ทารก : 44-64% HCT

 

หากค่าความเข้มของเลือดผิดปกติ บอกอะไรได้บ้าง

ค่าความเข้มของเลือดต่ำกว่าปกติ

- โลหิตจาง จากเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยเกินไป

 

- การเสียเลือดมาก เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ริดสีดวงทวาร ตกเลือด

 

- โรคตับแข็ง

 

- โรคมะเร็วเม็ดเลือด

 

- โรคที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตก เช่น G6PD

 

- โรคไตวายเรื้อรัง

 

- โรคที่เกี่ยวข้องกับไขกระดูก ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างเม็ดเลือดแดง

 

- การติดเชื้อ

 

- การขาดสารอาหารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น วิตามินบี12 ธาตุเหล็ก

 

- ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ

 

ค่าความเข้มของเลือดสูงกว่าปกติ

- ภาวะเม็ดเลือดแดงมาก

 

- โรคหัวใจแต่กำเนิด เนื่องจากร่างกายต้องสร้างเม็ดเลือดแดงในการลำเลียงออกซิเจนให้กับกล้ามเนื้อหัวใจและอวัยวะอื่น ๆ ในปริมาณสูงกว่าปกติ

 

- โรคเม็ดเลือดแดงมากเกิน

 

- โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ร่างกายจำเป็นต้องสร้างเม็ดเลือดแดงเป็นจำนวนมากเพื่อลำเลียงออกซิเจนไปชดเชยภาวะขาดออกซิเจนจากโรคปอด

 

ปัจจัยที่อาจทำให้ผลลัพธ์คาดเคลื่อน

ปัจจัยที่อาจทำให้ผลลัพธ์คาดเคลื่อน

- การตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายจะมีการสร้างน้ำมากกว่าปกติ ทำให้เม็ดเลือดแดงในเลือดถูกเจือจาง การวัดค่าความเข้มของเลือดจึงให้ค่าต่ำกว่าปกติ

- การรับประทานยาบางชนิด ที่อาจส่งผลให้ค่าความเข้มข้นของเลือดต่ำกว่าปกติ เช่น ยาปฏิชีวนะเพนนิซิลิน
 
- การอยู่ในที่สูง เนื่องจากที่สูงจะมีออกซิเจนที่น้อยกว่าระดับพื้นดิน ทำให้ร่างกายต้องเร่งสร้างเม็ดเลือดแดงในจำนวนมากเพื่อลำเลียงออกซิเจนให้เพียงพอต่อร่างกาย
 
- การได้รับเลือด หรือการถ่ายเลือด โดยการนำเลือดเข้าหรือออกจากร่างกายในปริมาณมากก็ส่งผลให้ค่าความเข้มของเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติ
 
- ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง เช่น การถ่ายท้องอย่างรุนแรง การถูกไฟลวกไฟคลอก
 
หากการตรวจความเข้มของเลือดเกิดผลลัพท์คลาดเคลื่อนจากปัจจัยเหล่านี้ หรือหากทราบว่าคนไข้มีปัจจัยเหล่านี้ก่อนการตรวจความเข้มข้นของเลือด แพทย์อาจทำการนัดผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยอยู่ในสถานะปกติก่อนจึงค่อยรับการตรวจความเข้มของเลือดอีกครั้ง หรืออาจใช้วิธีการตรวจแบบอื่น หากการตรวจความเข้มข้นของเลือดให้ผลลัพท์ที่ไม่แน่นอน

ข้อสรุป

การตรวจความเข้มข้นของเลือดเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีเบื้องต้น เนื่องจากสามารถทำการตรวจได้ง่าย คนไข้ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ ให้ผลการตรวจที่เร็ว สามารถคัดกรองสุขภาพโดยรวมของคนไข้ได้ในเบื้องต้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางหากพบว่าผลตรวจความเข้มข้นเลือดต่ำหรือสูงเกินไป แพทย์จะสามารถส่งคนไข้เข้ารับการตรวจหาโรคได้อย่างแม่นยำขึ้น
 
 
 
 
 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที