Daisy

ผู้เขียน : Daisy

อัพเดท: 17 ต.ค. 2022 21.51 น. บทความนี้มีผู้ชม: 289205 ครั้ง

รอบรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รู้ก่อน รักษาก่อน บทความที่จะมาเชิญชวนให้นักอ่านทุกคนหันมาดูแลสุขภาพเพื่อตัวเองและคนที่คุณรัก


ไทรอยด์ ภัยเงียบอันตรายที่สังเกตได้ยาก มีวิธีตรวจไทรอยด์อย่างไรบ้าง ?

ไทรอยด์

นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย เหงื่อยง่าย น้ำหนักน้อยหรือมากกว่าปกติ ดูเหมือนอาการเหล่านี้จะไม่ได้เป็นอาการที่ดูเหมือนจะเป็นโรคร้ายแรงอะไร แต่ความจริงแล้วอาการที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นผลจากฮอร์โมนที่ผิดปกติทั้งสิ้น โดยฮอร์โมนที่มีหน้าที่ให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกตินั่นคือฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งสร้างมาจากต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอนั่นเอง 
 
ดังนั้นโรคไทรอยด์นี้จึงไม่ควรมองข้าม สามารถตรวจหาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เพื่อเริ่มรักษาให้อย่างรวดเร็ว ในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับโรคไทรอยด์คืออะไร มีวิธีตรวจไทรอยด์ วิธีตรวจคอพอก ขั้นตอนการตรวจไทรอยด์อย่างไรบ้าง มีวิธีการรักษาโรคไทรอยด์นี้อย่างไรบ้าง

รู้จักโรคไทรอยด์

รู้จักโรคไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณลำคอ มีหน้าที่ผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์เข้าสู่กระแสเลือด โดยฮอร์โมนไทรอยด์นี้จะทำหน้าที่เผาผลาญพลังงานในร่างกายและช่วยให้ร่างกายทำงานไปตามปกติ 

ปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ที่ผลิตและหลั่งนี้จะถูกควบคุมภายใต้ต่อมใต้สมองและต่อมไฮโปทารามัส เพื่อให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายอยู่ในระดับที่เหมาะสม 
 
แต่เมื่อใดที่ฮอร์โมนไทรอยด์นี้มีการผลิตและหลั่งออกมาน้อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็ทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานผิดปกติได้ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (Hyperthyroidism)

โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์เข้าสู่กระแสเลือดมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานในร่างกายที่มากเกินปกติ ส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล 
 
ตัวอย่างอาการของผู้ที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ เช่น น้ำหนักตัวลดลงมาก น้ำหนักตัวลดง่าย อารมณ์หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ใจสั่น ขี้ร้อน เป็นต้น

2. โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ (Hypothyroidism)

โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติเป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์เข้าสู่กระแสเลือดน้อยกว่าปกติ เมื่อฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เผาผลาญพลังงานในร่างกายน้อย จึงทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ 
 
ตัวอย่างอาการของผู้ที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ เช่น น้ำหนักตัวมาก น้ำหนักขึ้นงาน อ่อนเพลีย ง่วงนอนบ่อย หัวใจเต้นช้า ซึมเศร้า เป็นต้น

3. โรคก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Nodule)

โรคก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ หรือที่ชาวช้าเรียกกันว่าโรคคอพอก มาจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ คือมีเนื้องอกเป็นก้อนเนื้ออยู่บริเวณต่อมไทรอยด์ อาจมีเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ 
 
โดยเนื้องอกนี้มีทั้งเนื้องอกชนิดดี (Thyroid Adenoma) และเนื้องอกชนิดร้าย (Toxic Adenoma) ซึ่งส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนในปริมาณที่น้อยหรือมากเกินไป และหากเนื้องอกนั้นเป็นเนื้อร้ายก็อาจนำไปสู่โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Carcinoma) ได้

อาการสัญญาณเตือนโรคไทรอยด์

อาการสัญญาณเตือนโรคไทรอยด์

ก่อนจะเข้ารับการตรวจไทรอยด์ สามารถสังเกตอาการของตนเองได้ว่าเข้าข่ายโรคไทรอยด์มากน้อยแค่ไหน โรคไทรอยด์มีทั้งประเภททำงานมากกว่าปกติและทำงานน้อยกว่าปกติ แต่ละประเภทก็อาการของโรคที่แตกต่างกันดังนี้

โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (Hyperthyroidism)

- ผอม น้ำหนักตัวลดเฉียบพลัน รับประทานอาหารเยอะแล้วแต่น้ำหนักตัวลดลงเรื่อย ๆ
- หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น  หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
- เหนื่อยง่าย
- ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก
- อารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิด วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี
- นอนไม่หลับ
- ผิวซีด
- ผมแห้ง
- ขับถ่ายบ่อย
- ตาโปน
- ในผู้หญิงประจำเดือนจะมาน้อยกว่าปกติ

โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ (Hypothyroidism)

- อ้วน น้ำหนักตัวขึ้นง่ายมาก รับประทานอาหารน้อยแต่น้ำหนักตัวขึ้นเรื่อย ๆ
- หัวใจเต้นช้า
- ตัวเย็น ขี้หนาว เหงื่อออกน้อยกว่าปกติ หรือไม่ออก
- ภาวะซึมเศร้า
- เพลีย ง่วงตลอดเวลา
- ผิวแห้ง หยาบกร้าน
- ผมร่วง
- ท้องผูก ขับถ่ายยาก
- ร่างกายบวมน้ำ

วิธีเช็คต่อมไทรอยด์เบื้องต้นด้วยตนเอง

ก่อนพบแพทย์ เราสามารถสังเกตและตรวจหาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เบื้องต้นด้วยตนเองก่อนได้ ดังนี้
 
1. ยืนตัวตรงหน้ากระจก ยืดลำคอขึ้น แล้วหันซ้าย-ขวาช้า ๆ สังเกตบริเวณลำคอว่าบวมเป็นก้อนหรือไม่
2. ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางทั้งสองข้าง กดคลำเบา ๆ ที่ลำคอในลักษณะขึ้นและลง จากหลังขึ้นมาหน้าพร้อม ๆ กัน
3. หากระหว่างคลำสัมผัสได้ถึงก้อนบวม ให้ลองคลึงเบา ๆ
4. หากพบว่าสิ่งที่สัมผัสได้นั้นเป็นก้อนผิดปกติ แปลว่ามีโอกาสที่จะเป็นโรคไทรอยด์ ให้ทำการนัดและเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจไทรอยด์กับแพทย์เฉพาะทาง

การตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์

การตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์

การตรวจคัดกรองโรคไทรอยด์เป็นการตรวจหาความผิดปกติของต่อไทรอยด์ แพทย์จะดูถึงการทำงานของต่อมไทรอยด์ของคนไข้ว่าทำงานไปตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ 

วิธีการตรวจไทรอยด์แพทย์จะทำการตรวจตัวอย่างเลือดคนไข้เพื่อดูระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย ฮอร์โมนต่อมใต้สมอง แอนติบอดี้ของต่อมไทรอยด์ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง
 
การทำงานของต่อมไทรอยด์และฮอร์โมนไทรอยด์นั้นสำคัญกับร่างกายมาก ๆ เนื่องจากมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญพลังงานและควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ หากต่อมไทรอยด์เกิดทำงานผิดปกติก็สามารถส่งผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ภายในร่างกายได้

ใครที่ควรเข้ารับการตรวจไทรอยด์

- ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีและอายุมากกว่า 60 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์ หรือเนื้องอกบริเวณต่อมหมวกไต
- มีอาการของฮอร์โมนไทรอยด์น้อยหรือมากเกินไป เช่น ขี้ร้อนหรือขี้หนาวมาก น้ำหนักขึ้นหรือลงง่าย หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เป็นต้น
- คอบวม เมื่อสัมผัสเจอก้อนเนื้อบริเวณลำคอ
- มีอาการกลืนอาหารกลืนน้ำลายลำบาก
- เสียงแหบ เปร่งเสียงออกมาได้ไม่เต็มที่
- หายใจเข้า-ออกได้ไม่เต็มปอด
- มีภาวะมีบุตรยาก
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจไทรอยด์

ผู้ป่วยที่จะต้องเข้ารับการตรวจไทรอยด์จะไม่มีการเตรียมตัวก่อนตรวจไทรอยด์ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และในวันนัดตรวจไทรอยด์ควรมาโรงพยาบาลก่อนประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อทำการเก็บตัวอย่างเลือดด้วยการเจาะเลือด 
 
ตัวอย่างเลือดนี้จะถูกส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ และเมื่อได้ผลตรวจแล้วแพทย์จะนำผลตรวจนี้มาประกอบคำวินิจฉัยและแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนจะวางแผนการรักษาต่อไป

วิธีตรวจไทรอยด์มีอะไรบ้าง

เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการตรวจไทรอยด์ แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเลือดหรือชิ้นเนื้อด้วยการเจาะเลือดตรวจไทรอยด์หรือเจาะชิ้นเนื้อไทรอยด์ เพื่อนำไปตรวจวัดค่าต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ
 
วิธีตรวจไทรอยด์มีอะไรบ้าง

1. ตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Hormones)

ฮอร์โมนชนิด T4 และ T3 หรือ free t3 คือ ฮอร์โมนที่ผลิตมาจากต่อมไทรอยด์ที่ทำหน้าที่แปลงสารอาหารที่ได้รับมาเป็นพลังงานให้กับร่างกาย ซึ่งการตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์นี้จะเป็นการตรวจระดับฮอร์โมน T3 และ T4 ที่ทำงานร่วมกันว่ามีความผิดปกติหรือไม่ 
 
โดยสามารถตรวจฮอร์โมน T3 และ T4 นี้ได้ในเลือด หากพบว่าการทำงานของฮอร์โมน T3 และ T4 มีความผิกปกติก็ได้ผลตรวจว่ามีภาวะไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยกว่าปกติ

2. ตรวจวัดการทำงานของต่อมใต้สมอง (Thyroid-Stimulating Hormone: TSH)

ต่อมใต้สมองมีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนสำหรับสั่งการให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์และหลั่งเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งหากฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมีการทำงานที่ผิดปกติก็จะนำมาสู่ปัญหาการผลิตตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ของต่อมไทรอยด์ได้ 
 
โดยสามารถตรวจการทำงานของต่อมใต้สมองหรือ TSH นี้ได้ในเลือดเช่นเดียวกัน หากพบว่าในเลือดมี TSH ต่ำแต่มีฮอร์โมน T3 และ T4 สูง แสดงว่าอาจมีภาวะไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ แต่โดยกลับกันหากพบว่าในเลือดมี TSH สูงแต่มีฮอร์โมน T3 และ T4 ต่ำ แสดงว่าอาจมีภาวะไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติหรือขาดฮอร์โมนไทรอยด์นั่นเอง 

3. ตรวจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Antibodies)

ที่ต่อมไทรอยด์ก็มีแอนติบอดี้ไทรอยด์ ซึ่งทำหน้าที่สร้างระบบภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย แอนติบอดี้จะเป็นตัวเข้าไปจับกับแอนติเจนหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายเรานั่นเอง ซึ่งสำหรับการตรวจระดับปริมาณแอนติบอดี้ของต่อมไทรอยด์นี้สามารถตรวจได้จากเลือดเช่นกัน 
 
หากตรวจพบปริมาณแอนติบอดี้ของต่อมไทรอยด์จำนวนมากหรือทำงานผิดปกติ นั่นแปลว่าระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีการทำงานที่ผิดปกติไป เช่น แอนติบอดี้เข้าไปทำลายเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะในร่างกาย เป็นต้น

4. ตรวจบริเวณลำคอด้วยการเจาะคอตรวจไทรอยด์ (Fine Needle Aspiration)

ในผู้ป่วยที่พบก้อนเนื้อบริเวณคอและต้องสงสัยว่าก้อนเนื้อนี้จะเป็นเนื้องอกที่เป็นอันตรายหรือไม่ แพทย์จะทำการเจาะบริเวณลำคอด้วยเข็มขาดเล็ก และเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของเซลล์ที่งอกผิดปกติบริเวณต่อมไทรอยด์ไปตรวจชิ้นเนื้อในห้องปฏิบัติการ และทำการประเมินว่าเนื้องอกนั้นเป็นเนื้องอกดีหรือเนื้องอกร้ายที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในอนาคตหรือไม่

แนะนำวิธีรักษาโรคไทรอยด์ผิดปกติ

แนะนำวิธีรักษาโรคไทรอยด์ผิดปกติ

1. การรักษาด้วยการทานยา

สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคไทรอยด์ระยะแรกและในหญิงตั้งครรภ์ แพทย์อาจแนะนำวิธีรักษาโรคไทรอยด์ด้วยการทานยาต้านไทรอยด์ (Antithyroid Drugs) ซึ่งตัวยามีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ของต่อมไทรอยด์ 
 
การรักษาด้วยการทานยานี้จัดเป็นการรักษาระยะยาว ผู้ป่วยจำเป็นต้องทานยาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัด เพื่อให้ผลการรักษามีแนวทางที่ดีขึ้น หากรับประทานยาไม่ต่อเนื่องอาจส่งผลให้โรคไทรอยด์ทวีความรุนแรงของโรคมากขึ้น ทำให้รักษาได้ยากขึ้น

2. การกลืนแร่ไอโอดีน-131

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไทรอยด์ระยะแรกจนถึงระยะรุนแรง หรือเคยผ่านการรักษาด้วยการทานยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจใช้วิธีรักษาไทรอยด์ด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน-131 (Radioactive Iodine Therapy) 
 
โดยแร่ไอโอดีน-131 นี้เป็นกัมมันตรังสีธาตุไอโอดีน เมื่อกลืนแร่เข้าไป แร่นี้จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นไอโอดีน-128 ในระหว่างเกิดปฏิกิริยา จะมีสารกัมมันตรังสีที่ถูกปล่อยออกมาและเข้าไปทำลายเซลล์ต่อมไทรอยด์ จึงทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลงและอาการของโรคต่อมไทรอยด์ก็จะดีขึ้น แต่วิธีการรักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน-131 นี้ไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตรได้

3. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์

สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้อบริเวณต่อมไทรอยด์ หรือเป็นโรคคอพอกและก้อนเนื้อหรือเนื้องอกนี้ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ โดยการผ่าตัดนี้จะเป็นการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้องอกที่อยู่บริเวณต่อมไทรอยด์ออกมาทั้งหมด

ข้อสรุป

โรคไทรอยด์เป็นโรคที่อาจสังเกตได้ยาก หลายคนมักจะเป็นโรคไทรอยด์โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นหากร่างกายเกิดความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ และดูแล้วเข้าข่ายจะเป็นโรคไทรอยด์ ควรเข้ารับการตรวจไทรอยด์ หากผลตรวจไทรอยด์ออกมาเป็นบวกก็จะทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที