Daisy

ผู้เขียน : Daisy

อัพเดท: 17 ต.ค. 2022 21.51 น. บทความนี้มีผู้ชม: 289736 ครั้ง

รอบรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รู้ก่อน รักษาก่อน บทความที่จะมาเชิญชวนให้นักอ่านทุกคนหันมาดูแลสุขภาพเพื่อตัวเองและคนที่คุณรัก


อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง รู้โรคเร็ว รักษาทัน

อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง

การอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) คือการนำคลื่นเสียงความถี่สูงมาใช้ประโยชน์ในการตรวจอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้แพทย์มีข้อมูลภาพที่ชัดเจน สามารถนำมาประกอบการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น ถึงแม้ว่าการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่การตรวจสุขภาพของช่องท้องด้วยอัลตร้าซาวด์ช่องท้องก็สำคัญไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพราะมีอวัยวะสำคัญ ๆ มากมายอยู่ในช่องท้อง

อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง (Abdominal Ultrasound)

การอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง (Abdominal Ultrasound) คือการตรวจวินิจฉัยโรคโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสะท้อนให้เกิดภาพ ซึ่งสามารถตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เห็นได้ถึงความผิดปกติบางชนิด ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้ การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด จึงไม่ต้องใช้ยาชา หรือฉีดยา และคลื่นเสียงที่ใช้ก็ปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอันตราย

ทำไมต้องอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง

การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องก็เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้องในขณะที่ยังไม่มีอาการ เป็นการตรวจตามช่วงอายุ  เช่น

 

- ตับ : ตรวจหาก้อนเนื้อหรือการแพร่กระจายของมะเร็งจากอวัยวะอื่น ๆ มาสู่ตับ ดูขนาด ดูภาวะผิดปกติ เช่น ตับแข็ง ฯลฯ

- ถุงน้ำดี : ตรวจหานิ่วถุงน้ำดีอักเสบ มะเร็ง และเนื้องอก อื่น ๆ ของถุงน้ำดี

- ท่อน้ำดี : ตรวจหาภาวะอุดตันจากนิ่ว เนื้องอก มะเร็ง ภาวะตีบตันหรือโป่งพอง

- ตับอ่อน : ตรวจดูเนื้องอก มะเร็งภาวะตับอ่อนอักเสบ ตรวจหานิ่วในท่อตับอ่อน

- ม้าม : ดูขนาดของม้าม ตรวจดูภาวะฉีกขาดเลือดออกในรายประสบอุบัติเหตุ

- ไต : ตรวจหานิ่วในเนื้อไต และท่อไต ตรวจหาเนื้องอกและซีสต์ของไต วัดขนาดไตผู้ป่วยไตวาย ไตอักเสบ

- การตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะอุ้งเชิงกราน มดลูก ดูขนาดของมดลูก ต่อมลูกหมาก ตรวจหาเนื้องอกในมดลูกและรังไข่ และก้อนเนื้อในอุ้งเชิงกราน

สุดท้ายการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องซ้ำ เพื่อติดตามผล เนื่องจากความผิดปกติบางอย่างที่ได้รับการรักษาไปแล้ว หรือเพื่อเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของความผิดปกตินั้น ๆ

อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง วินิจฉัยอะไรได้บ้าง

การอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง เป็นเครื่องมือช่วยในการวินิจฉัยถึงความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้องโดยแพทย์ที่ได้ดูภาพที่แปลงมาจากการอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง  สามารถแบ่งออกเป็น

 

อัลตร้าซาวด์

1. อัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน

เป็นการตรวจดูอวัยวะช่องท้องส่วนบน ได้แก่ ตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ไต และช่องท้องทั่ว ๆ ไปตลอดจนเส้นเลือดต่าง ๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ก้อนที่ผิดปกติ นิ่วที่ไตหรือถุงน้ำดี เป็นต้น

2. อัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง

เป็นการตรวจดูอวัยวะช่องท้องส่วนล่าง ได้แก่ มดลูก รังไข่ (สำหรับเพศหญิง) ต่อมลูกหมาก (สำหรับเพศชาย) ไส้ติ่งกระเพาะปัสสาวะ และบริเวณช่องท้องส่วนล่างอื่น ๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น

3. อัลตร้าซาวด์ช่องท้องทั้งหมด

เป็นการตรวจดูอวัยวะช่องท้องทั้งหมด เช่น ตับ ม้าม ถุงน้ำดี ไต มดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะ ไส้ติ่ง ว่าสภาพการทำงานผิดปกติหรือไม่

การเตรียมตัวก่อนอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง

ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำและเอกสารแนะนำในการเตรียมตัวก่อนเข้ารับอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ต้องการตรวจ บางอวัยวะมีการงดอาหารและน้ำดื่ม  บางอวัยวะต้องดื่มน้ำมากๆ ล่วงหน้าก่อนตรวจ บางอวัยวะไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ

1. การตรวจอวัยวะในช่องท้องส่วนบน

งดอาหาร และเครื่องดื่มที่มีไขมันทุกชนิด ก่อนตรวจ 4-6 ชั่วโมง (สามารถดื่มน้ำเปล่าได้)  เพื่อให้ถุงน้ำดีเก็บกักน้ำดี และลดปริมาณลมในกระเพาะและลำไส้ ช่วยให้เห็นอวัยวะต่าง ๆ ได้ชัดเจน

2. การตรวจอวัยวะในช่องท้องส่วนล่าง

ดื่มน้ำ 2-3 แก้ว และกลั้นปัสสาวะก่อนตรวจ 30-60 นาทีเพื่อเพิ่มน้ำในกระเพาะปัสสาวะ ที่จะช่วยให้การตรวจสมบูรณ์


3. การตรวจอวัยวะในช่องท้องทั้งหมด

งดอาหาร และเครื่องดื่มที่มีไขมันทุกชนิด ก่อนตรวจ 4-6 ชั่วโมง (สามารถดื่มน้ำเปล่าได้)  เพื่อจะได้เห็นอวัยวะต่าง ๆ ได้ชัดเจนหลังจากตรวจเสร็จช่วงแรก ก็จะมีการให้พักคอยและดื่มน้ำ 2-3 แก้ว เพื่อตรวจต่อใหม่ เพื่อดูอวัยวะต่าง ๆ ในอุ้งเชิงกราน สำหรับคนไข้ที่มีโรคประจำตัว ยังสามารถใช้ยาประจำกินตามเวลาที่กำหนดได้ตามปกติ

ขั้นตอนการอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง

ขั้นตอนการอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง

โดยปกติแพทย์จะเป็นผู้ทำการตรวจ ขั้นตอนต่าง ๆ มีดังนี้

1. ในวันตรวจ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากเอกสารแนะนำ มาถึงก่อนเวลาประมาณ 30 นาที

2. เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเป็นของโรงพยาบาล ดังนั้นผู้ป่วยควรสวมใส่เสื้อผ้า รองเท้าที่ถอด/ใส่ง่าย

3. ผู้ป่วยนอนหงายสบาย ๆ บนเตียง ไม่มีการฉีดสี แต่แพทย์จะทาผิวหนังบริเวณตรวจด้วยยาเจล

4. แพทย์ทำการตรวจด้วยหัวตรวจอัลตร้าซาวด์บนร่างกาย แล้วภาพที่แปลงจากคลื่นเสียงความถี่สูงจะปรากฏบนจอเครื่องตรวจ เวลาที่ใช้ในการตรวจประมาณ 10-45 นาทีขึ้นกับตำแหน่งอวัยวะที่ตรวจ

5. หลังทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องเสร็จเรียบร้อย ให้รอฟังผลเพื่อรอการรักษาขั้นต่อไป

ใครที่ควรตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง

บุคคลดังกล่าวต่อไปนี้ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง เพราะระบบทางเดินอาหาร และตับมีการทำงานที่ซับซ้อน จึงต้องการการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง


- ชาย/หญิง อายุ 30 ปีขึ้นไป

- ผู้มีความผิดปกติ อาหารไม่ย่อย ท้องอืด จุกเสียด

- ผู้มีความผิดปกติระบบขับถ่าย

- ผู้ที่เคยตรวจสุขภาพประจำปีทุก ๆ ปี แต่ไม่เคยตรวจอัลตร้าซาวด์

ข้อสรุป

การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำหรับการตรวจสุขภาพประจำปีที่ไม่ควรมองข้าม เพราะคนไทยในปัจจุบัน มีโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายในช่องท้องเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ฉะนั้นการ อัลตร้าซาวด์ช่องท้องสามารถบอกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และควรเตรียมความพร้อมอย่างไร และใครบ้างที่ควรต้องเข้ารับการตรวจ

 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที