Daisy

ผู้เขียน : Daisy

อัพเดท: 17 ต.ค. 2022 21.51 น. บทความนี้มีผู้ชม: 313259 ครั้ง

รอบรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รู้ก่อน รักษาก่อน บทความที่จะมาเชิญชวนให้นักอ่านทุกคนหันมาดูแลสุขภาพเพื่อตัวเองและคนที่คุณรัก


วิตามินแก้ไมเกรน การรักษาไมเกรนแบบธรรมชาติ

โรคไมเกรนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคุณทุกวัย สำหรับคนที่ปวดไมเกรนบางครั้ง ก็ควรพบแพทย์เพื่อรับยาบรรเทาปวดที่ถูกต้องและตรงกับอาการ  และสำหรับคนที่ปวดไมเกรนเป็นประจำ แพทย์จะวินิจฉัยให้ยา หรือวิตามินไมเกรน เพื่อป้องกันและลดอาการปวด

 

วิตามินแก้ไมเกรน

 


รู้ทันโรคไมเกรน

โรคไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะที่ต่างจากอาการปวดศีรษะธรรมดา สาเหตุมาจากหลอดเลือดในสมองขยายตัวและเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองด้วย โรคไมเกรนส่วนใหญ่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาการปวดไมเกรนมีสาเหตุมาจากความผิดปกติที่ระดับสารเคมีในสมอง ทำให้สมองถูกกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าปกติจนทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองเปลี่ยนแปลงไป มีผลทำให้หลอดเลือดสมองเกิดการขยายตัวและเกิดการอักเสบขึ้น เป็นผลทำให้มีอาการปวดศีรษะในที่สุด

 

ปัจจัยสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน คือ ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์โดยอาการปวดหัวแบบ “ไมเกรน” มี ปวดศีรษะข้างเดียวแบบตุบ ๆ เป็นระยะหรือเป็นจังหวะ ส่วนมากลักษณะอาการปวดมักมีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการนำก่อนปวดศีรษะประมาณ 10-30 นาที เช่น เห็นแสงวูบวาบ ไฟระยิบระยับ เห็นภาพเบลอ เป็นต้น


วิตามินรักษาไมเกรน

อาการปวดไมเกรนของแต่ละคนมีสาเหตุและอาการปวดที่แตกต่างกันออกไป ยา วิตามิน หรือ อาหารเสริมแต่ละชนิดก็จะส่งผลที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน  ดังนั้นการทานวิตามิน และอาหารเสริมไม่สามารถกะรันตีว่าจะหายได้ทันที เพราะปัจจัยอาการปวดของเเต่ละคนไม่เหมือนกัน 

ซึ่งวิตามินบรรเทาไมเกรนนั้นก็มีอยู่ด้วยยกันหลายชนิด ควรทานวิตามินเหล่านี้ให้ครบถ้วน เพราะวิตามินแก้ปวดไมเกรนเหล่านี้สามารถหาได้จากอาหารทั่วๆไป ไม่เหมือนการทานยา ที่หากยิ่งทานมาก ก็จะไปส่งผลต่ออวัยวะภายใน

 

ทานวิตามินแก้ไมเกรน

แนะนำ 5 วิตามินแก้ปวดไมเกรน

การรับมือกับโรคไมเกรนที่ดีที่สุด ก็คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นไมเกรน ซึ่งมาจากการลิสต์เป็นข้อ ๆแล้วก็หันมากินวิตามิน แทน การกินยา เพื่อแก้ปวดไมเกรน เพราะวิตามินนั้นสามารถหาได้จากธรรมชาติ ที่ไม่ส่งผลร้ายต่อร่างกายของเรา วิตามินที่จะแนะนำให้กินเพื่อลดความถี่ของโรคไมเกรน คือ

1.วิตามินบี 2 (Vitamin B2)

ยังไม่ได้รับการรับรองจากงานวิจัยว่า วิตามินบี 2 มีส่วนช่วยป้องกันไมเกรนได้อย่างไร  แต่อาจเกี่ยวข้องกับวิธีการเผาผลาญพลังงานของเซลล์ เนื่องจากผู้ที่มีปัญหาไมเกรนอาจมีปัญหาในกระบวนการเผาผลาญนั้น ซึ่งเป็นอีกสาเหตุของอาการปวดหัวได้

แต่การวิจัยได้สรุปว่าวิตามินบี 2 มีผลทำให้ความถี่และระยะเวลาการเกิดของไมเกรนนั้นลดลงแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่สามารถพบวิตามินบี 2 ได้ คือ เนื้อ นม ไข่ ผักสีเขียว ถั่ว  และเพื่อ

ป้องกันโรคไมเกรนควรกินวิตามินบี 2 ประมาณ 400 มิลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันนาน 3 เดือน

 

2.วิตามินดี (Vitamin D)

สำหรับวิตามินดีนั้น จากการทดลองได้พบว่าการได้รับวิตามินดี 50,000 IU ต่อสัปดาห์จะช่วยลดความถี่ในการเกิดอาการไมเกรนได้ อย่างไรก็ดีควรต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเพื่อจะได้รู้ถึงปริมาณที่เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ร่างกายสามารถสร้างวิตามินดีได้เอง เมื่อได้รับแสงแดด หรือ ยูวีบี  หรือจากอาหาร เช่น ไข่แดงปลาไขมันสูง ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน เป็นต้น

3.แร่ธาตุแมกนีเซียม (Magnesium)

เป็นแร่ธาตุที่พบมากภายในเซลล์ของร่างกายคน ผู้ที่มีปัญหาไมเกรนนั้น ส่วนใหญ่จะมีระดับแมกนีเซียมต่ำ ดังนั้นการได้รับแมกนีเซียมที่เพียงพอต่อร่างกายก็มีส่วนช่วยในการป้องกันไมเกรนได้ในบางคน

จากการวิจัยพบว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าทางหลอดเลือดดำสามารถช่วยลดการกำเริบของอาการปวดไมเกรนได้ ปกติร่างกายต้องการแมกนีเซียมจากธรรมชาติ 500-600 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้แมกนีเซียมยังสามารถช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไมเกรนได้ด้วย  

สำหรับอาหารที่มีแมกนีเซียมอยู่ คือ ผักโขม ถั่ว และธัญพืช  แมกนีเซียมเป็นสารอาหารที่ช่วยควบคุมความดันเลือดน้ำตาลในเลือด กล้ามเนื้อและเส้นประสาทให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง ลดความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดไมเกรนได้

 

4.โคเอนไซม์ คิว 10 (Coenzyme Q10)

โคเอนไซม์ คิว 10 มีคุณสมบัติคล้ายวิตามิน ที่ร่างกายสามารถผลิตได้เอง มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย เช่น ช่วยสร้างพลังงานในเซลล์ และช่วยป้องกันความเสียหายออกซิเดชัน

ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถป้องกันอาการปวดไมเกรน แต่สามารถช่วยลดความถี่ของอาการปวดหัวไมเกรนได้ ปริมาณโคเอนไซม์ คิว 10 ที่ควรได้รับคือ 100 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน

แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ 

 

*ข้อควรระวัง หากสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการใช้โคเอนไซม์ คิว 10 * มักพบสารโคเอนไซม์ คิว 10 ใน ปลาทะเลน้ำลึก ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง

5.เมลาโทนิน (Melatonin)

สารเมลาโทนินตัวนี้มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นสารที่ช่วยในการควบคุมการนอนหลับ แน่นอนจึงมีส่วนช่วยลดความถี่ในการเกิดไมเกรนได้  ปริมาณที่ควรบริโภค คือ 3 มิลลิกรัมต่อวัน

ควรระวังงดดื่มแอลกอฮอล์ก่อนใช้เมลาโทนิน เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพต่ำลง และทำให้เกิดอาการง่วงซึม ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการขับขี่และปฏิบัติงาน


คำแนะนำสำหรับวิตามินและอาหารเสริมไมเกรน

การรักษาไมเกรนนั้นมีหลายวิธี รวมทั้งการรับประทานวิตามิน โภชนเภสัช บี2, Q10, แมกนีเซียม, เมลาโทนิน เป็นต้น เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงความถี่ของอาการปวดไมเกรน

สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ควรต้องระวังเป็นพิเศษในการใช้อาหารเสริมและวิตามิน เพราะว่าบางชนิดอาจจะไม่เหมาะกับผู้ตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทั้งครั้ง และสำหรับผู้ที่โรคประจำตัว เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพราะร่างกายอาจไม่ดูดซึมสารอาหารได้ดีเหมือนคนทั่ว ๆ ไป

หากว่ามีการใช้วิตามินหรืออาหารเสริมแล้วเป็นเวลา 1 เดือนแล้วยังไม่เห็นผลลัพธ์ และอาการไมเกรนยังคงกำเริบ หรืออาการแย่ลง ควรหยุดใช้ทันที และปรึกษาแพทย์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะอาหารเสริมและวิตามินไม่จำเป็นต้องเหมาะและปลอดภัยสำหรับทุกคน

 
5 วิตามินแก้ปวดไมเกรน

ปวดไมเกรนเรื้อรัง เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

หากรู้สึกปวดหัวไมเกรนบ่อย (มากกว่า 5 ครั้งต่อเดือน) หรือ ปวดแบบรุนแรง แม้ยาแก้ปวดทั่ว ๆ ไ เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน จะสามารถบรรเทาปวดไมเกรนได้ แต่ไม่ควรใช้บ่อยเกินไป หรือใช้เกินกว่าที่ฉลากยาชนิดนั้น ๆ แนะนำ เพราะในระยะยาวอาจทำให้อาการปวดไมเกรนรุนแรงขึ้น การปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกัน และรักษาอย่างถูกวิธี จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า


วิธีรักษาไมเกรนทางการแพทย์

วิธีรักษาไมเกรนทางการแพทย์

1.การใช้ยาแก้ปวดไมเกรน

เนื่องจากปวดไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง จึงสามารถควบคุมได้หากปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และ ใช้ยาอย่างเหมาะสม

  • หากมีอาการปวดไมเกรนเฉียบพฃัน ก็ให้ใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือ ยาไมเกรน เช่นกลุ่มยาทริปแทน (triptan)  หรือยาลดคลื่นไส้ อาเจียน
  • เวลาไม่ปวด ควรทานยาป้องกันไมเกรนทุกวัน เช่น กลุ่มยากันชัก Topiramate , ยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม Flunarizine , ยกปิดกั้นตัวรับเบต้า  Propanolol  เป็นต้น
  • หากเป็นไมเกรนช่วงรอบเดือน ก็ให้กินยาแก้ปวดไมเกรนก่อนมีรอบเดือนประมาณ 2-3 วัน และกินต่อจนหมดประจำเดือน 4-5 วัน

2.ฉีดยาไมเกรน

การฉีดยา Aimovig 1 เข็ม ซึ่งเป็นยาป้องกันไมเกรนรุ่นใหม่ที่ FDA ยอมรับให้ใช้ในทางการแพทย์ สรรพคุณคือ ใช้ป้องกันอาการปวดไมเกรนได้เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น ป้องกันได้ทั้งผู้ที่มีอาการปวดแบบรุนแรงเป็นครั้งคราว คือเกิดขึ้นน้อยกว่า 15 วันใน 1 เดือน และเป็นแบบเรื้อรัง คือ เกิดขึ้นมากกว่า 15 วันติดต่อกัน ภายใน 3 เดือน

ยาตัวนี้จะไปยับยั้งการทำงานของ Calcitonin Gene Related Peptide ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อกระบวนการเกิดอาการปวดไมเกรน หมายความว่าถ้าสาร CGRP เพิ่มขึ้นไมเกรนก็มา

3.ฝังเข็มแก้ไมเกรน

การแพทย์แผนจีน เช่น ฝังเข็ม เป็นการช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการไมเกรนได้เป็นอย่างดี แต่ในครั้งแรกๆ อาจจะยังไม่เห็นผลอย่างชัดเจน ควรที่จะต้องฝังเข็มต่อเนื่องไปประมาณ 6-10 ครั้ง แล้วจะทำให้ความถี่ในการเกิดอาการปวดไมเกรนห่างกันเรื่อยๆ ตำแหน่งฝังเข็ม คือ บริเวณหน้าผาก ขมับ ท้ายทอย กลางกระหม่อม และกระบอกตา

4.ฉีดโบท็อกรักษาไมเกรน

เป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาไมเกรน คือ การฉีดโบทูลินัมทอกซิน ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีทางการแพทย์ ด้านความงาม วิธีนี้นอกจากจะช่วยโรคไมเกรนแล้ว ยังช่วยบรรเทาและรักษาอาการของโรคอื่น ๆ ทางระบบประสาทและสมองได้อีกด้วย

ยาตัวนี้จะช่วยหยุดสารเคมีก่อนที่จะไปถึงปลายประสาทบริเวณศีรษะและคอ  เมื่อได้รับการฉีดที่กล้ามเนื้อต่าง ๆ รอบศีรษะ จำนวน 30-40 จุด ฉีดที่ศีรษะทั้ง 2 ด้านในปริมาณเท่า ๆ กัน ที่มีเส้นประสาทที่เกี่ยวกับการปวดไมเกรน ก็จะช่วยให้อาการปวดไมเกรนลดลงได้อย่างชัดเจน แต่ควรเน้นที่คนเป็นโรคไมเกรนเรื้อรัง


ข้อสรุป

คนเราไม่จำเป็นต้องกินยาแก้ปวดไมเกรนเสมอไป ยังมีอีกหลาย ๆ วิธีที่ช่วยบรรเทาหรือหยุดอาการปวดหัวได้ เพราะการกินยาไม่ควรจะเป็นคำตอบสุดท้าย สำหรับบางรายการทานยา อาจจะช่วยให้หายปวดได้แค่ชั่วคราว ไม่ใช่การรักษาที่ถูกจุด และการทานยาเป็นจำนวนมาก เป็นเวลานานๆ ก็ส่งผลกระทบต่อตับ ไต ด้วย หรือในบางรายไม่สามารถกินยาแก้ปวดได้ เนื่องจากโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันเลือดสูง เป็นต้น   

ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น กินวิตามินแก้ไมเกรน เพราะหากปวดหัวบ่อย ขาดวิตามินอะไรไป ก็อาจเป็นอีกสาเหตุของอาการปวดหัวได้ ดังนั้นควรหาวิตามินที่ขาดอยู่มาเสริมให้ร่างกาย นอกจากนี้อาหารเสริม ก็เป็นอีกวิธีที่น่าลอง แต่สำหรับการเลือกทานอาหารเสริม ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเริ่มทานเสมอ

 

ขอบคุณบทความดีๆ จาก https://www.migrainethailand.com/

 

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที