โรคข้ออักเสบ ปล่อยเอาไว้อันตรายกว่าที่คิด!
โรคข้ออักเสบ ฟังดูแล้วอาจรู้สึกว่าไม่น่าจะอันตรายมากเท่าไหร่นัก แต่ที่จริงอันตรายกว่าที่คิด ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปได้ยากขึ้น หรืออาจไม่สามารถทำได้เลย ดังนั้นควรทำความรู้จักกับโรคข้ออักเสบ และหากสังเกตว่าตนเองเข้าข่ายว่าอาจเป็นโรคข้ออักเสบ ก็ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อไม่ให้อาการหนักขึ้นจนเกิดความพิการหรือถึงแก่ชีวิตได้
โรคข้ออักเสบ (Arthritis)
โรคข้ออักเสบ (Arthritis) เป็นโรคที่เกิดจากข้อต่อกระดูกเกิดการอักเสบขึ้น สามารถแบ่งชนิดของโรคข้ออักเสบได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การสะสมของกรดยูริกหรือแคลเซียมไพโรฟอสเฟต ข้อต่อเกิดอาการบาดเจ็บ ข้อต่อเกิดอาการเสื่อมตามวัย หรือแม้กระทั่งภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายข้อต่อ โดยโรคข้ออักเสบอาจพบมากในผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถพบได้ในวัยรุ่น หรือวัยทำงานได้เช่นเดียวกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบจะมีอาการบวมแดงบริเวณข้อ และส่วนใหญ่มักจะขยับช่วงข้อต่อได้ลำบาก แต่อย่างไรก็ตามทั้งระดับอาการ และบริเวณที่อักเสบจะแตกต่างไปขึ้นกับบุคคล
อาการของโรคข้ออักเสบ
โรคข้ออักเสบ อาการหลัก ๆ ที่พบได้มีดังนี้
-
อาการปวดข้อ เจ็บข้อในบริเวณที่อักเสบ
-
อาการบวมแดง หากสัมผัสอาจรู้สึกร้อนในบริเวณที่อักเสบได้
-
การเคลื่อนไหวข้อต่อบริเวณที่อักเสบทำได้ยากขึ้น เกิดอาการข้อติด
แต่อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าโรคข้ออักเสบยังสามารถแบ่งชนิดโรคออกมาได้อีกหลายชนิด ดังนั้นอาการเฉพาะของแต่ละโรคอาจแตกต่างหรือเพิ่มเติมจากอาการโรคข้ออักเสบหลัก ๆ เช่น
-
เป็นไข้
-
เวียนหัว
-
น้ำหนักลด
-
ต่อมน้ำเหลืองโต
-
กล้ามเนื้ออ่อนแรง
โรคข้ออักเสบแต่ละชนิดก็ยังมีรูปแบบการปวด และตำแหน่งการอักเสบที่แตกต่างกัน เช่น ปวดอักเสบในช่วงเช้า ปวดอักเสบเมื่อไม่ได้ขยับข้อ ปวดอักเสบเมื่อถูกกระตุ้น จะกล่าวถึงชนิดโรคข้ออักเสบและอาการของโรคแต่ละชนิดในหัวข้อถัดไป
โรคข้ออักเสบ เกิดจากสาเหตุใด
โรคข้ออักเสบ สาเหตุขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคข้ออักเสบชนิดใด เพราะโรคข้ออักเสบเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งที่สามารถทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด และที่ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดอย่างโรคข้ออักเสบจากภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานบกพร่อง แทนที่จะเข้าทำลายสิ่งแปลกปลอม แต่กลับทำลายเนื้อเยื่อข้อต่อของร่างกายแทน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน แต่อย่างไรก็ตามโรคข้ออักเสบสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงที่ไปกระตุ้นดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดโรคข้ออักเสบ
-
ผู้สูงอายุ เนื่องจากข้อต่อได้ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน
-
ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคข้ออักเสบมาก่อน
-
ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน ข้อต่อต้องรับแรงกดที่มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ข้อต่อเสื่อม อักเสบได้ไวขึ้น
-
โรคข้อต่ออักเสบที่เกิดขึ้นในเพศใดเพศหนึ่งที่มากกว่า เช่นในโรครูมาตอยด์ที่พบในเพศหญิงมากกว่า หรือโรคเก๊าท์ที่พบในเพศชายมากกว่า
-
การติดเชื้อ
-
การบาดเจ็บบริเวณข้อต่อจากกอุบัติเหตุ
-
ผู้ที่เป็นโรคอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ข้อต่ออักเสบได้ง่ายขึ้น เช่น โรคข้อเสื่อม โรคเก๊าท์ โรครูมาตอยด์ เป็นต้น
โรคข้ออักเสบ มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
อย่างที่ได้ทราบกันไปแล้วว่าโรคข้ออักเสบสามารถแบ่งออกได้หลายชนิด หลายประเภท แต่ก็สามารถแบ่งกลุ่มของโรคข้ออักเสบได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
โรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันข้อเดียว
อาการของโรคข้ออักเสบประเภทนี้เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและข้อต่อข้อใดข้อหนึ่ง โดยมีสาเหตุจากการใช้งานที่มากเกินไป การที่ข้อต่อหรือเส้นเอ็นบริเวณข้อต่อเกิดการติดเชื้อ หรือโรคเก๊าท์ เป็นต้น
โรคข้ออักเสบแบบเฉียบพลันหลายข้อ
อาการของโรคข้ออักเสบชนิดนี้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการอักเสบบริเวณข้อต่อหลาย ๆ ข้อ โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย
โรคข้ออักเสบชนิดเรื้อรังจากรูมาตอยด์
โรคข้ออักเสบชนิดนี้มักจะมีการอักเสบของข้อแบบเรื้อรังจากโรครูมาตอยด์ เก๊าท์เทียม มะเร็งบางประเภท การติดเชื้อ หรือแม้แต่โรคภูมิแพ้ (โรคเอสแอลอี : SLE)
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
เมื่อเกิดอาการคล้ายกับโรคข้ออักเสบ เช่น ปวด บวม แดงบริเวณข้อต่อ อาจมีการกดเจ็บในบริเวณที่อักเสบ ขยับข้อต่อได้ลำบาก และจะปวดมากขึ้นเมื่อข้อต่อไม่ได้ใช้งาน เช่นในช่วงหลังตื่นนอน ช่วงที่กำลังพักผ่อน แต่เมื่อได้ขยับตัวมากขึ้นอาการก็จะบรรเทาลง หรือมีอาการแทรกซ้อน เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีไข้ โดยมีอาการที่ได้กล่าวไปนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 6 สัปดาห์ และ/หรือรับประทานยาก็แล้ว ทายาก็แล้วก็ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุและวินิจฉัยโรคต่อไป
การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบ
เมื่อเข้าพบแพทย์ แพทย์จะซักถึงอาการและประวัติของผู้ป่วยเบื้องต้น และดูสภาพของข้อต่อที่มีอาการ เช่นการบวมแดง ร้อนแดง กดเจ็บบริเวณข้อต่อ และความสามารถการเคลื่อนไหวของข้อต่อนั้น ๆ ว่ามีความติดขัดที่ระดับไหน แพทย์จะสามารถวินิจฉัยถึงประเภทของโรคข้ออักเสบได้ว่าเป็นประเภทใด
นอกจากนี้แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อนำผลมาประกอบคำวินิจฉัยให้มีความแม่นยำมากขึ้น เช่น
-
การเก็บของเหลวตัวอย่างจากผู้ป่วย
แพทย์จะเก็บของเหลวตัวอย่างจากผู้ป่วย เช่น เลือด ปัสสาวะ น้ำไขข้อ เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ภายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถบอกได้แน่ชัดว่าเกิดจากโรคข้ออักเสบประเภทใด เช่น หากพบกรดยูริกมาก แปลว่าเป็นโรคเก๊าท์ หรือพบการติดเชื้อ เป็นต้น
-
การถ่ายภาพสภาพข้อต่อของผู้ป่วย
การเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ ซีทีสแกน หรือเอ็มอาร์ไอ เครื่องมือเหล่านี้จะทำให้แพทย์ได้เห็นสภาพและโครงสร้างข้อต่อของผู้ป่วย เพื่อที่แพทย์จะได้นำผลเหล่านี้มาประกอบคำวินิจฉัยได้
วิธีรักษาโรคข้ออักเสบ
สำหรับแนวทางวิธีรักษาโรคข้ออักเสบนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของโรค และระดับความรุนแรงของโรค สำหรับโรคข้ออักเสบบางประเภททำได้เพียงแค่บรรเทาอาการหรือหยุดระดับความรุนแรงของโรคเท่านั้น ไม่สามารถรักษาได้อย่างหายขาด การรักษาโรคข้ออักเสบจึงมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวด ระงับความรุนแรงของโรค และการให้ข้อต่อกลับมาทำงานได้ปกติ ดังนั้นวิธีรักษาโรคข้ออักเสบจึงสามารถแบ่งแนวทางได้เป็น 3 วิธีหลัก ๆ ดังนี้
รักษาโรคข้ออักเสบด้วยการทำกายภาพบำบัด
ในกรณีที่ระดับความรุนแรงของโรคข้ออักเสบยังไม่มากนัก อาจใช้การทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อรอบข้อต่อแข็งแรงขึ้น สามารถพยุงข้อต่อได้มากขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อบริเวณข้อต่อยืดหยุ่นและแข็งแรงก็จะทำให้อาการปวดลดลงได้ สำหรับผู้ที่มีระดับความรุนแรงของโรคข้ออักเสบมากอาจใช้วิธีนี้ไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการให้ยา หรือการผ่าตัด
รักษาด้วยการใช้ยา
ยาที่ใช้รักษา หรือบรรเทาอาการจากโรคข้ออักเสบมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการอักเสบ และปัจจัยอื่น ๆ และยาแต่ละชนิดก็ยังมีระยะการออกฤทธิ์ และผลข้างเคียงที่แตกต่างกันดังนี้
-
ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เป็นยาที่ช่วยระงับอาการปวด แต่ไม่ได้ช่วยให้การอักเสบของข้อลดลง
-
ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใส่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ช่วยลดอาการอักเสบของข้อต่อได้ดี แต่ผลข้างเคียงของยาต้านการอักเสบอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร แสบท้อง คลื่นไส้ เป็นต้น
-
ยาลดการอักเสบกลุ่ม DMARDs มักใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม NSAIDs มาเป็นระยะเวลานานแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
-
ยาต้านการระคายเคือง (Counterirritants) อาจอยู่ในรูปของยาทา โดยทาบริเวณข้อต่อที่มีอาการช่วยบรรเทาอาการปวดได้
-
ยาลดอาการอักเสบและกดภูมิคุ้มกัน (Corticosteroids) ช่วยลดการอักเสบและยับยั้งภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยมีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีดเข้าบริเวณที่เกิดโรคข้ออักเสบ มักใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรครูมาตอยด์
-
ยาเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (Biologic response modifiers) เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อให้สามารถจัดการกับสิ่งแปลกปลอมได้ อาจใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบติดเชื้อ
รักษาโรคข้ออักเสบโดยการผ่าตัด
หากการรักษาโรคข้ออักเสบโดยใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นกับระดับอาการโรค ดังนี้
-
การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมข้อต่อ
-
การผ่าตัดเพื่อเชื่อมข้อต่อ
-
การผ่าตัดเพื่อปรับแนวข้อให้ตรงขึ้น
-
การผ่าตัดเพื่อเลาะเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบออก
-
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อเทียม
วิธีป้องกันโรคข้ออักเสบ
การเกิดโรคข้ออักเสบบางประเภทอาจไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ แต่โรคข้ออักเสบบางประเภทก็สามารถป้องกันจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ หรือหากมีอาการโรคข้อต่ออักเสบแล้วก็สามารถใช้การป้องกันโรคข้อต่ออักเสบเเพื่อลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้
-
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ท่าออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณข้อต่อให้แข็งแรง และช่วยพยุงข้อต่อได้ และหลีกเลี่ยงกายใช้ท่าออกกำลังกายที่มีการใช้งาน หรือกระแทกข้อต่ออย่างรุนแรง
-
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
-
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ที่ทำให้ข้อต่อทำงานหนัก หรืออาจเกิดการบาดเจ็บ
-
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการสูดควันบุหรี่
-
หากเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับข้อ หรือเกิดอาการเจ็บบริเวณข้อ ควรเข้าปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคข้ออักเสบเพิ่มระดับความรุนแรงของโรคได้
รักษาโรคข้ออักเสบ ที่ไหนดี
หากพบว่าตนเองเริ่มมีอาการของโรคข้ออักเสบ และอยากเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง ควรเข้าพบแพทย์ที่มีความชำนาญด้านกระดูกและข้อ และมีประสบการณ์การรักษาโรคข้ออักเสบ เพราะโรคข้ออักเสบแต่ละประเภทมีอาการที่คล้ายคลึงกันต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อและการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพก็เพื่อให้ข้อต่อของเรายังสามารถใช้งานต่อไป ลดความเสี่ยงต่อการพิการและเสียชีวิตได้
ข้อสรุป
โรคข้ออักเสบมีหลายประเภทและหลายสาเหตุ ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการเดิน หรือมีอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากเริ่มมีอาการควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนถึงการรักษาต่อไป
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที