อาการเจ็บคอแบบนี้เกิดจากสาเหตุใด ?
แค่ก ๆ … อาการเจ็บคอเป็นอาการที่ไม่ว่าใครก็คงจะเคยเป็นกันมาบ้าง ซึ่งเวลาเรารู้สึกเจ็บคอก็มักจะเข้าใจว่ากำลังจะเป็นหวัดเข้าซะแล้ว แต่ในความจริงแล้วอาการเจ็บคอนั้นเป็นอาการเบื้องต้นของโรคอื่น ๆ อีกมากมาย และสาเหตุของอาการเจ็บคอก็ยังสามารถเกิดได้หลายปัจจัยอีกด้วย
อาการเจ็บคอเกิดจากอะไร ลักษณะของอาการเจ็บคอเป็นอย่างไรบ้าง วิธีรักษาอาการเจ็บคอมีอะไรบ้าง สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้
เจ็บคอ (Sore Throat)
อาการเจ็บคอ (Sore Throat) คืออาการเจ็บ แสบ ระคายเคืองบริเวณในลำคอจนเกิดการอักเสบ โดยอาจเกิดได้ทั้งบริเวณเนื้อเยื่อในลำคอ ต่อมทอนซิล กล่องเสียง หรือส่วนอื่น ๆ ในช่องคอ ระดับความรุนแรงของอาการเจ็บคอมีทั้งแค่คันคอเล็กน้อย ไปจนถึงเจ็บคออย่างรุนแรง ดื่มน้ำหรือพูดได้ลำบากขึ้น โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบมีหลายปัจจัยซึ่งจะกล่าวในหัวข้อถัด ๆ ไป
ลักษณะอาการเจ็บคอเป็นอย่างไร
ลักษณะอาการเจ็บคออาจแตกต่างกันขึ้นกับสาเหตุของการทำให้เกิดการเจ็บคอ ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคออาจแสดงลักษณะอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้
-
เจ็บแสบคอ และจะเป็นมากขึ้นก็ต่อเมื่อมีการออกเสียงพูดหรือกลืนน้ำและอาหารลงคอ
-
เจ็บคอ เสียงหาย เสียงเปลี่ยน อาจมีอาการปวดหูเมื่อกลืนหรือมีการออกเสียง
-
ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตขึ้น กดเจ็บ
-
ในลำคอเกิดการอักเสบ ผนังในลำคอเป็นสีแดง อาจพบตุ่มแดงหรือหนองหรือฝ้าในช่องปากและลำคอได้
อาการที่อาจเกิดร่วมกับการเจ็บคอ
อาการที่มักพบและเกิดร่วมกันเมื่อมีอาการเจ็บคอ เช่น
-
ไอ
-
ไข้ขึ้น
-
เจ็บคอคัดจมูก
-
น้ำมูกไหล
-
เจ็บคอมีเสมหะ
เจ็บคอเกิดได้จากสาเหตุใดบ้าง
อาการเจ็บคอเกิดจากหลาย ๆ สาเหตุ ดังนี้
1. การเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัส
อาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยตัวอย่างโรคที่พบได้บ่อยจากไวรัสที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอมีดังนี้
-
โรคหวัด : เกิดจากเชื้อไวรัส Rhinovirus หรือ Adenovirus ซึ่งทำให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และอาจมีไข้ร่วมด้วย
-
โรคโควิด-19 : เกิดจากการติดเชื้อ Coronavirus มีอาการคล้ายหวัดแต่มีความรุนแรงกว่าเพราะเชื้อไวรัสจะลงไปทำลายปอดและระบบทางเดินหายใจโดยตรง
-
โรคไข้หวัดใหญ่ : เกิดจากการติดเชื้อ Influenza ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ ไอ น้ำมูกไหลเหมือนกับโรคหวัด แต่มีความรุนแรงกว่าคือไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลียมาก
-
โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส : เกิดจากเชื้อไวรัส Epstein–Barr ที่ติดต่อได้ทางน้ำลาย ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ มีไข้ และต่อมน้ำเหลืองโต
-
โรคคางทูม : เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Mumps ทำให้ต่อมน้ำลายอักเสบ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บคอขณะกลืน เบื่ออาหาร
-
โรคหัด : เกิดจากการติดเชื้อ Paramyxovirus ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ ไข้ขึ้น และพบผื่นขึ้นตามร่างกาย
-
โรคมือเท้าปาก : เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Coxsackie A โดยเชื้อไวรัสทำให้เกิดการอักเสบที่มือ เท้า และภายในปาก ทำให้มีอาการเจ็บคอร่วมด้วย
2. การเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
อาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรียอาจพบได้น้อยกว่าสาเหตุอื่น ๆ แต่อาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมักจะมีอาการค่อนข้างรุนแรง ยกตัวอย่างโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอดังนี้
-
โรคคออักเสบ : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pyogenes บริเวณในลำคอ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอมาก กลืนน้ำและอาหารลำบาก อาจคลำพบก้อนบริเวณลำคอ
-
ต่อมทอนซิลอักเสบ : ต่อมทอนซิลมีหน้าที่กำจัดเชื้อโรคในคอเพื่อไม่ให้ลงไปสู่ระบบอื่นในร่างกาย เมื่อต่อมทอนซิลเกิดความผิดปกติจะทำให้ต่อมทอนซิลติดเชื้อและกลายเป็นอาการต่อมทอนซิลอักเสบขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอมาก กลืนลำบาก ไข้สูง มีกลิ่นปาก
-
โรคคอตีบ : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงและทำให้เยื่อเมือกลำคอและจมูกผิดปกติ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้ หายใจลำบา มีแผ่นสีเทาด้านหลังลำคอ
3. การเจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
อาการเจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ โดยสาเหตุอาจเกิดจาก…
-
สภาพอากาศแห้งเกินไป
-
การหายใจทางปาก ทำให้คอแห้ง ระคายคอ
-
การใช้เสียงมากไป
-
การสูบบุหรี่
-
การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในลำคอทำให้เกิดการระคายเคืองไม่ว่าจะเป็นก้างปลา ฝุ่นละออง ควันไฟ
-
การรับประทานอาหารรสเผ็ด ทำให้ลำคอระคายเคืองง่าย
-
ได้รับสารก่ออาการแพ้ สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เมื่อพบกับสิ่งเร้ามักจะทำให้เกิดเมือก น้ำมูกไหลลงคอ ทำให้เกิดการระคายเคืองเจ็บคอได้
-
โรคบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดอาการเจ็บคอ เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคเนื้องอกในลำคอและกล่องเสียง เป็นต้น
อาการเจ็บคอที่ควรพบแพทย์
อาการเจ็บคอเป็นอาการที่สามารถบรรเทาได้เอง โดยอาจจะดื่มน้ำอุ่นให้มาก รักษาความชื้นที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ใช้ลูกอมแก้เจ็บคอ และอาการเจ็บคอมักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บบคอผิดปกติหรือเจ็บคอมากติดต่อกันนานเกินกว่าสัปดาห์ เจ็บคอไม่หายสักที อาจต้องเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บคอว่าเกิดจากอะไร เพื่อวางแผนการรักษาอย่างแม่นยำ
อาการเจ็บคอและอาการร่วมผิดปกติที่หากเป็นควรไปพบแพทย์มีดังนี้
-
เจ็บคอรุนแรง ไอรุนแรง
-
เจ็บคอเรื้อรัง เป็นมานานกว่า 1 สัปดาห์
-
กลืนน้ำและอาหารได้ยากมาก หรือสำลักน้ำและอาหาร
-
มีเลือดปนในเสมหะ
-
ไข้สูง
-
หายใจลำบาก
-
เจ็บหู หูอื้อ
-
ปวดตามข้อกระดูก
-
คลื่นไส้ อาเจียน
-
ผื่นขึ้น
-
ปวดศีรษะ
-
ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะมีเลือดปน
การวินิจฉัยอาการเจ็บคอ
เมื่อพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บคอ แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุของอาการเจ็บคอของผู้ป่วยด้วยกระบวนการดังนี้
ซักประวัติ
แพทย์จะสอบถามถึงอาการเจ็บคอว่าเป็นมานานเท่าไหร่ มีอาการเจ็บคอแบบไหน มีอาการอื่นร่วมอย่างเช่น น้ำมูก เสมหะ ไอ ไข้ขึ้นบ้างหรือไม่
จากนั้นแพทย์จะขอดูภายในลำคอผู้ป่วยโดยใช้ไฟฉายส่องเข้าไปที่ช่องปาก โพรงจมูก ช่องหู เพื่อหาความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ เช่นมีตุ่มแดง ตุ่มหนอง คอแดงบ้างหรือไม่ และอาจคลำบริเวณลำคอผู้ป่วยเพื่อดูว่ามีอาการบวมหรือแข็งเป็นก้อน ซึ่งเป็นสัญญาณของอาการต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโตบ้างหรือไม่ และอาจฟังเสียงการหายใจของผู้ป่วยด้วย Stethoscope หรือหูฟังแพทย์
ตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่ง
เพราะอาการเจ็บคออาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ดังนั้นแพทย์จะขอเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อหาว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการเจ็บคอ
อาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เชื้ออาจแพร่กระจายไปส่วนอื่น ๆ ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในหูชั้นกลาง การติดเชื้อภายในโพรงจมูก
แนวทางการรักษาบรรเทาอาการเจ็บคอ
การรักษาอาการเจ็บคอนั้นอาจแตกต่างกันตามสาเหตุของการเจ็บคอ
การรักษาอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อ
อาการเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัสจะมีวิธีรักษาตามอาการ โดยจะไม่มีการจ่ายยาปฏิชีวนะเพราะเชื้อไวรัสไม่สามารถถูกกำจัดได้ด้วยยาฆ่าเชื้อ และอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัสมักจะหายได้เองเมื่อร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น โดยมักใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น หากระหว่างติดเชื้อมีอาการเจ็บคอก็สามารถจิบยาแก้เจ็บคอที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะบรรเทาอาการได้
แต่สำหรับอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) ยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) ยาเซฟาเลกซิน (Cephalexin) ขึ้นกับการติดเชื้อแบคทีเรียของผู้ป่วยแต่ละราย และผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะหากเชื้อดื้อยาอาจทำให้อาการเจ็บคอรุนแรงขึ้น และเชื้อก็สามารถลุกลามไปส่วนอื่น ๆ ได้
การรักษาเจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
วิธีรักษาอาการเจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แพทย์จะมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอ ยกตัวอย่างเช่น
-
ผู้ป่วยเจ็บคอจากโรคกรดไหลย้อน แพทย์จะให้ยาลดกรด เพื่อไม่ให้กรดมากในกระเพาะอาหาร
-
ผู้ป่วยเจ็บคอจากโรคภูมิแพ้ แพทย์จะจ่ายยาต้านฮีสทามีน และแนะนำผู้ป่วยให้หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่จะกระตุ้นให้เกิดการแพ้
-
ผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกบริเวณลำคอ แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเนื้องอกเพื่อให้อาการเจ็บคอดีขึ้น
-
หากอาการเจ็บคอของผู้ป่วยเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างการสูบบุหรี่ การใช้เสียงมาก ๆ หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอย่างอากาศแห้ง อยู่ในที่มีฝุ่น มลภาวะ แพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดอาการเจ็บคอ
การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการเจ็บคอ
นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้วผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอได้
-
งดการใช้เสียง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการระคายเคืองที่คอจนเจ็บคอ
-
หากพื้นที่อาศัยมีความชื้นต่ำ หรืออยู่ในห้องแอร์บ่อย ๆ ควรจะมีเครื่องทำความชื้น เพื่อไม่ให้อากาศแห้งจนเกินไปจนเกิดอาการเจ็บคอ คอแห้ง
-
พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมและฟื้นฟูตนเองได้อย่างเต็มที่
-
หากเจ็บคอมาก สามารถใช้ลูกอมแก้เจ็บคอหรือสเปรย์แก้เจ็บคอบรรเทาอาการเจ็บคอเบื้องต้นได้
-
ดื่มน้ำอุ่นให้มาก เพิ่มความชุ่มชื้นในคอ ช่วยลดการระคายเคืองในลำคอ บรรเทาอาการอักเสบในลำคอได้
นอกจากนี้การรับประทานอาหารบางอย่างก็สามารถช่วยให้อาการเจ็บคอบรรเทาลงได้
อาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ
-
น้ำขิง : น้ำขิงมีสรรพคุณบรรเทาอาการเจ็บคอ ช่วยให้ลำคอชุ่มชื้น และยังสามารถรักษาไข้หวัดได้อีกด้วย
-
ซุปไก่ : ในซุปไก่อุดมไปด้วยโซเดียมช่วยลดอาการอักเสบในช่องคอ และยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หากผู้ป่วยที่เจ็บคอจนรับประทานอาหารลำบาก การดื่มซุปไก่ก็จะเป็นอีกทางเลือกเพื่อให้ร่างกายยังคงได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์
-
ชาเขียว : ชาเขียวมีฤทธิ์ในการรักษาอาการติดเชื้อได้ และยังช่วยให้อาการเจ็บคอดีขึ้นอีกด้วย
-
น้ำผึ้ง : สิ่งที่ใคร ๆ ก็นึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ เวลาเจ็บคอคือการดื่มน้ำผึ้ง หรือบางคนอาจผสมมะนาวด้วยก็ได้ ในน้ำผึ้งช่วยต้านเชื้อลดอาการอักเสบ และยังช่วยให้ชุ่มคอ ลดอาการแสบคอได้ดี
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บคอ
การป้องกันตัวเองจากอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อสามารถทำได้ด้วยการ…
-
หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด มีคนมาก ๆ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ
-
หากเป็นไปได้ไม่ควรใช้สิ่งของ หรือรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่น
-
ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ทุกครั้งเมื่อสัมผัสกับของสาธารณะ
นอกจากนี้ยังสามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ เช่น
-
ไม่ใช้เสียงมากเกินไป หากต้องใช้เสียงมากควรจะพักคอและพยายามดื่มน้ำบ่อย ๆ
-
รักษาความชื้นในพื้นที่อาศัย เพื่อไม่ให้อากาศแห้งจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ
-
หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น เกสรดอกไม้ เป็นต้น
-
งดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะควันจากบุหรี่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เจ็บคอได้
ข้อสรุป
อาการเจ็บคอเป็นอาการเบื้องต้นที่ร่างกายส่งสัญญาณว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัส ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบให้เกิดอาการเจ็บคอ โดยเบื้องต้นหากมีอาการเจ็บคอสามารถบรรเทาอาการด้วยตนเองได้อย่างการดื่มน้ำอุ่น อมลูกอมแก้เจ็บคอ งดใช้เสียงลดการระคายเคือง โดยปกติแล้วอาการเจ็บคอสามารถบรรเทาและหายได้เอง
แต่อย่างไรก็ตามหากอาการเจ็บคอรุนแรง หรือมีอาการร่วมที่ผิดปกติ หรือมีอาการเจ็บคอนานกว่าสัปดาห์ไม่ยอมหายอาจต้องเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที