ค่าสายตา คืออะไร พร้อมวิธีอ่านค่าสายตาฉบับเข้าใจง่าย
เพราะวิถีชีวิตในปัจจุบัน ทำให้หลีกเลี่ยงการใช้สายตามาก ๆ ได้ยาก จึงทำให้ผู้คนกลุ่มหนึ่งเกิดปัญหาด้านการมองเห็น แต่ระดับความมองเห็นของแต่ละคนก็ยังแตกต่างกัน เราสามารถแยกได้ด้วยการวัดค่าสายตา เมื่อเราเริ่มมีปัญหาการมองเห็นเราอาจไปหาจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาอาจจะเข้าไปหาตามร้านตัดแว่นหรือโรงพยาบาล เมื่อทำการวัดค่าสายตาเรียบร้อยเราจะได้รับใบค่าสายตามา เบื้องต้นแพทย์อาจสรุปให้ฟังแล้วว่ามีปัญหาค่าสายตาอย่างไร แต่หากเราอยากอ่านค่าสายตาได้ด้วยตนเองนั้นจะทำอย่างไร ในบทความนี้มีคำตอบค่ะ
รู้จัก ‘ค่าสายตา’
ก่อนเราจะถึงขั้นตอนวัดค่าสายตาและอ่านค่าสายตานั้น เรามาทำความรู้จักกับค่าสายตากันก่อนค่ะ
ค่าสายตา คือค่าที่กำหนดถึงความสามารถในการมองเห็น ว่าสามารถมองได้ชัดหรือไม่ หรือหากมีปัญหาค่าสายตาสามารถมองเห็นชัดได้ถึงระดับไหน เราสามารถตรวจค่าสายตาได้จากการวัดเลนส์ตา ความโค้งของกระจกตา กล้ามเนื้อบริเวณดวงตา และอื่น ๆ เมื่อตรวจวัดค่าสายตาเรียบร้อยเราจะทราบได้ว่าเรามีค่าสายตาแบบไหน เพื่อให้การรักษาขั้นต่อไปเป็นไปอย่างถูกต้องค่ะ
ค่าสายตาสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท
-
ค่าสายตาสั้น เกิดจากกระบอกตาที่ยาวกว่าปกติ หรือเกิดจากกระจกตาโค้งมากเกินไป ทำให้จุดโฟกัสตกก่อนที่จะถึงจอประสาทตา อาการของผู้ที่มีค่าสายตาสั้นจะมองเห็นใกล้ได้ชัดปกติ แต่ไม่สามารถมองไกลได้ชัด ค่าสายตาสั้นมักจะพบได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นเป็นต้นไป
-
ค่าสายตายาว เกิดจากกระบอกตาที่สั้นกว่าปกติ หรือเกิดจากกระจกตาโค้งน้อยเกินไป ทำให้จุดโฟกัสตกเลยจอประสาทตาไป อาการของผู้ที่มีค่าสายตายาวจะมองเห็นไกลได้ชัดปกติ แต่ไม่สามารถมองใกล้ได้ชัด ค่าสายตายาวสามารถพบได้ตั้งแต่กลุ่มคนที่มีค่าสายตายาวแต่กำเนิด และผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีต้นไป
-
ค่าสายตาเอียง เกิดจากกระจกตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน ทำให้ไม่สามารถรวมแสงเป็นจุดเดียว อาการของผู้ที่มีค่าสายตาเอียงจะมองเห็นวัตถุทั้งใกล้และไกลได้ไม่ชัด หรืออาจเกิดภาพซ้อนได้ โดยค่าสายตาเอียงอาจเกิดร่วมกับผู้ที่มีปัญหาค่าสายตาสั้นและค่าสายตายาวได้เช่นกัน
Diopter คืออะไร
เมื่อเราไปวัดค่าสายตา เราจะรู้ว่าค่าสายตาเราจัดอยู่ในกลุ่มไหนได้จาก Diopter ค่ะ โดย Diopter หรือ D นั้นเป็นหน่วยวัดค่าสายตาที่บอกถึงกำลังหักเหแสงของเลนส์ ในใบวัดค่าสายตาอาจพบเครื่องหมาย + หรือ - ถ้าเป็นเครื่องหมาย - จะแสดงถึงค่าสายตาสั้น แต่หากเป็นเครื่องหมาย + หรือไม่มีเครื่องหมายจะแสดงถึงค่าสายตายาว และยิ่งค่า D มากเท่าไร นั่นแปลว่าค่าสายตาก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้นค่ะ
เพื่อความเข้าใจง่าย เราจะดูค่า Diopter ให้เป็นเส้นตรง และมีค่า 0.00 อยู่ตรงกลาง โดยค่าสายตา 0.00 คือ ค่าสายตาปกติ และยิ่งตัวเลยห่างจาก 0.00 มากเท่าไร แปลว่าค่าสายตาที่ต้องแก้ก็ยิ่งมากขึ้นค่ะ
ค่าสายตา ซ้าย-ขวา แตกต่างกัน
ไม่จำเป็นว่าค่าสายตาจะต้องเหมือนกันทั้งสองข้าง ในบางคนอาจมีปัญหาค่าสายตาซ้าย-ขวาแตกต่างกันได้ เมื่อวัดค่าสายตาและได้ใบวัดค่าสายตามาจะมีการระบุแยกค่าสายตาของข้างซ้ายและขวาอย่างชัดเจนค่ะ แต่ในใบวัดค่าสายตาจะไม่ได้เขียนว่า left หรือ right หากไม่ได้มีความรู้เรื่องการอ่านค่าสายตา ก็อาจจะไม่เข้าใจได้ ก่อนอื่นเรามารู้จักถึงคำเรียกถึงค่าสายตาซ้ายและขวากันค่ะ
ค่าสายตาขวาจะถูกระบุอยู่ในใบวัดค่าสายตาว่า OD หรือ oculus dexter มาจากภาษาละตินที่แปลว่าตาขวา และค่าสายตาซ้ายจะถูกระบุอยู่ในใบวัดค่าสายตาว่า OS หรือ oculus sinister มาจากภาษาละตินที่แปลว่าตาซ้ายค่ะ แต่ในปัจจุบันหลาย ๆ โรงพยาบาลและร้านแว่นอาจเปลี่ยนมาใช้ตัวย่อ RE และ LE ที่มาจากคำว่า Right Eye และ Left Eye เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นค่ะ
ในบางกรณีอาจพบตัวย่อ OU ได้เช่นกัน โดย OU หรือ oculus uterque มาจากภาาาละตินที่แปลว่าตาทั้งสองข้าง จะนำไปใช้อ้างอิงในการตัดแว่นสายตา หรือการวางแผนการรักษาต่างๆให้เหมาะสมกับแต่ละรายบุคคล
ขั้นตอนการวัดค่าสายตา
การตรวจวัดค่าสายตาในเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการอ่านแผนภูมิวัดสายตา Snellen Chart หรือในหลาย ๆ ที่อาจใช้การวัดด้วยเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ โดยจะกล่าวถึงขั้นตอนการตรวจวัดค่าสายตาด้วยการอ่านแผนภูมิ ดังนี้
-
จักษุแพทย์ทำการซักประวัติเบื้องต้น อย่างเช่นประวัติพันธุกรรม ในครอบครัวมีใครมีปัญหาค่าสายตาบ้างหรือไม่ ประวัติสุขภาพตาและการใช้แว่นสายตา การใช้สายตาในชีวิตประจำวัน และอื่น ๆ
-
หากคนไข้ใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์อยู่ ก่อนตรวจค่าสายตาจะต้องถอดออกก่อน
-
จักษุแพทย์จะให้อ่านแผนภูมิวัดสายตา Snellen Chart ที่อยู่ห่างออกไประยะ 6 เมตร ซึ่งบนแผนภูมิจะมีตัวอักษรขนาดต่าง ๆ ในแต่ละแถว เมื่อเริ่มทดสอบแพทย์จะให้ปิดตาทีละข้างและอ่านตัวอักษรบนแผนภูมิ โดยใช้อุปกรณ์สำหรับปิดตาข้างที่ไม่ได้ทดสอบไว้
-
เมื่อคนไข้อ่านถึงจุดที่มองตัวเลขหรือตัวอักษรไม่ชัด แพทย์จะให้ลองเดาคำตอบได้ สำหรับบางรายอาจมีการตรวจเพิ่มที่แตกต่างกัน อย่างเช่นหากอ่านได้ไม่ถึงแถว 6/6 แพทย์อาจให้อุปกรณ์ที่ช่วยมองเห็นหรือให้มองผ่านรูเล็ก ๆ เป็นต้น
-
เมื่อทำการตรวจค่าสายตาเสร็จสิ้น แพทย์จะอ่านค่าสายตาและแจ้งผลให้กับคนไข้ทราบ
สำหรับการวัดค่าสายตาด้วยเครื่องวัดค่าสายตาอัตโนมัติ จะเป็นเพียงแค่ใช้เครื่องวัดค่าสายตาอัตโนมัติ โดยคนไข้จะมองเข้าไปในเครื่อง และเครื่องก็ทำการอ่านค่าสายตา แต่ข้อเสียของการใช้เครืองวัดสายตานั้นคือ ไม่สามารถควบคุมการทำงานของระบบเพ่งได้ คนไข้ไม่มีส่วนร่วมหรือไม่ได้วัดความสามารถในการมองเห็นที่แท้จริง เป็นต้น
เมื่อตรวจวัดค่าสายตาโดยเบื้องต้นแล้ว พบว่ามีค่าสายตาผิดปกติ จะต้องแก้ไขค่าสายตา จะมีการตรวจค่าสายตาอย่างละเอียดอีกครั้งและสวมแว่นทดลองเพื่อให้สามารถแก้ค่าสายตาได้อย่างถูกต้อง
ใบค่าสายตา ประกอบด้วยอะไรบ้าง
เมื่อทำการตรวจวัดค่าสายตาเสร็จสิ้น แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะให้ใบค่าสายตามา ซึ่งบนในค่าสายตามักจะใช้ตัวย่อ ทำให้คนทั่วไปอาจอ่านค่าสายตาจากใบค่าสายตาไม่เข้าใจว่าตนเองค่าสายตาปกติ หรือว่าค่าสายตาสั้น ค่าสายตายาว ค่าสายตาเอียง ดังนั้นหัวข้อนี้เราจะมาอธิบายถึงตัวย่อต่าง ๆ ที่อยู่บนใบค่าสายตา เพื่อช่วยให้การอ่านใบค่าสายตาเข้าใจได้ง่ายขึ้น
Sphere (SPH)
สำหรับตัวย่อแรกที่เราควรทราบนั่นก็คือ SPH ซึ่งย่อมาจาก Sphere เป็นตัวแสดงถึงกำลังเลนส์สำหรับแก้ปัญหาการมองเห็น จะมีหน่วยวัดเป็น Diopter หรือค่า D และจะมีเครื่องหมายแสดงถึงลักษณะปัญหาค่าสายตา อย่างเช่น
-
หากขึ้นต้นด้วยเครื่องหมายลบ (-) แสดงถึงค่าสายสั้น
-
หากขึ้นต้นด้วยเครื่องหมายบวก (+) หรือไม่มีเครื่องหมายใด ๆ แสดงถึงค่าสายตายาว
ค่า D ยิ่งมีตัวเลขมากเท่าไร แปลว่ายิ่งมีค่าสายตามากเท่านั้น
Cylinder (CYL)
CYL ย่อมาจาก Cylinder หรือค่าสายตาเอียงที่ต้องแก้ไข ผู้ที่มีความโค้งกระจกตาไม่สม่ำเสมอกัน จะมีระบุค่านี้เฉพาะผู้ที่มีค่าสายตาเอียง และไม่มีหน่วย หากไม่มีค่าสายตาเอียงก็จะไม่มีระบุเลขเอาไว้
โดยปกติค่า CYL จะต้องระบุอยู่ด้านหลัง SPH และก่อน Axis สำหรับบางรายที่มีเครื่องหมายลบหน้าตัวเลขของ CYL หมายความว่ามีปัญหาค่าสายตาสั้นและสายตาเอียงร่วมด้วย และสำหรับเครื่องหมายบวกหน้าตัวเลขของ CYL หมายความว่ามีปัญหาค่าสายตายาวและสายตาเอียงร่วมด้วยนั่นเอง
Axis (AX)
AX ย่อมาจาก Axis หรือค่าองศาที่เอียง หากตรวจแล้วในใบค่าสายตามีค่า CYL จะต้องมีค่า AX ด้วยเสมอ โดย AX จะระบุเป็นแกนองศาที่เอียงไป ตั้งแต่ 1-180 องศา 90 องศาเป็นเส้นแนวตั้งของดวงตาและ 180 องศาเป็นเส้นแนวนอนของดวงตา (กรณีองศาเอียง 0 จะใช้ 180 แทน) ในใบค่าสายตาหากมีค่า AX จะถูกระบุด้วยตัวเลข 3 ตัว เช่น 180 090 005 เป็นต้น และก่อนถึงค่า AX จะมีเครื่องหมาย x นำหน้าก่อนเสมอ
Add
Add เป็นค่ากำลังขยายเพิ่มเติมที่ครึ่งล่างของเลนส์ มักจะพบในแว่นที่มีเลนส์ 2 ชั้น สามารถแก้ปัญหาสายตายาวตามวัย ใช้สำหรับการอ่านหนังสือหรือมองวัตถุระยะใกล้ได้โดยไม่ต้องคอยสลับแว่น ซึ่งมีค่าตั้งแต่ +0.75 ถึง +3.00 D
Prism
Prism เป็นค่าที่ใช้แก้ไขดวงตาไม่ประสานกัน อาการตาเข ตาเหล่ หรือมีปัญหากล้ามเนื้อตา โดยส่วนน้อยที่จะมีค่า Prism ในใบค่าสายตา
Pupillary distance (PD)
Pupillary distance หรือค่าสายตา PD คือ ค่าที่บอกระยะห่างระหว่างรูม่านตาทั้งสองข้าง จะวัดจากจุดกึ่งกลางของตาดำขวา ไปจุดกึ่งกลางของตาดำซ้าย โดยความสำคัญของค่าสายตา PD คือเมื่อตัดให้เลนส์แว่นตาตรงกับจุดกึ่งกลางของดวงตา จะทำให้ดวงตาและเลนส์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ใส่แว่นที่มีค่าสายตา PD ตรงกับตนเองจะใส่แว่นได้สบายตา ไม่ปวดหัวหรือเมื่อยล้าดวงตา
หน่วยอื่นที่อาจพบได้เพิ่มเติม
ในใบค่าสายตาบางครั้งอาจมีตัวย่ออื่น ๆ เพิ่มเติมด้วยดังนี้
-
VD ย่อมาจาก Cornea vertex Distance เป็นตัวที่บ่งบอกถึงระยะห่างระหว่างกระจกตา ไปจนถึงเลนส์แว่นสายตา ซึ่งจะวัดระยะห่างเป็นหน่วยมิลลิเมตร
-
R1, R2 คือระยะรัศมีความโค้งของกระจกตา มีหน่วยวัดคือ มิลลิเมตร ไดออปเตอร์ (D) และองศา
-
SE ย่อมาจาก Spherical Equivalent ค่าสายตาสั้นหรือค่าสายตายาวที่ชดเชยให้กับค่าสายตาเอียงที่มีทั้งหมด
-
NPD ย่อมาจาก Interpupillary Distance at near คือระยะห่างกึ่งกลางดวงตาของทั้งสองข้างขณะมองระยะใกล้
วิธีอ่านค่าสายตา ฉบับเข้าใจง่าย
เมื่อเรารู้ถึงตัวย่อต่าง ๆ บนใบค่าสายตาแล้วอาจทำให้เข้าใจถึงความหมายตัวย่อนั้นได้ แต่หากใครที่ยังไม่เห็นภาพหรือไม่เข้าใจ สามารถดูตัวอย่างการอ่านค่าสายตาที่จะทำให้เข้าใจมากขึ้นกันค่ะ
ตัวอย่าง :
ในใบค่าสายตาจะเริ่มที่ดวงตาขวาก่อนเสมอ ดังนั้นบรรทัดแรกที่เห็นตัวย่อ RE (OD) หมายถึงดวงตาด้านขวา โดยค่าต่าง ๆ สามารถแปลได้ดังนี้
-
SPH = -3.75 D หมายความว่ามีค่าสายตาสั้น 375
-
CYL = -1.00 หมายความว่ามีค่าสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้นด้วย
-
Axis = 90 คือพบปัญหาค่าสายตาเอียงอยู่ในแกนเส้นแนวตั้งของดวงตา
-
Prism = 0.5 ค่าที่จะแก้ไขปัญหามองเห็นภาพซ้อน
-
Add = +1.50 คือค่าที่ใส่เพิ่มเพื่อแก้ปัญหาสายตายาวตามวัย ในที่นี้มีการเพิ่มที่ +1.50 D
บรรทัดต่อมาจะเห็นตัวย่อ LE (OS) หมายถึงดวงตาด้านซ้าย โดยค่าต่าง ๆ สามารถแปลได้ดังนี้
-
SPH = -4.00 D หมายความว่ามีค่าสายตายาว 400
-
ไม่มีค่า CYL และ Axis ในใบค่าสายตา หมายถึงไม่มีค่าสายตาเอียงร่วมด้วย
-
Prism = 0.5 ค่าที่จะแก้ไขปัญหามองเห็นภาพซ้อน
-
Add = +1.50 คือค่าที่ใส่เพิ่มเพื่อแก้ปัญหาสายตายาวตามวัย ในที่นี้มีการเพิ่มที่ +1.50 D
บางที่อาจมีการวัดค่าสายตาด้วยเครื่องวัดค่าสายตาอัตโนมัติ เมื่อวัดค่าสายตาเรียบร้อยเครื่องจะปริ๊นสลิปที่มีค่าสายตาอยู่ ยกตัวอย่างเช่น
SPH CYL AX
+1.00 0 0
—----------------------------------------
SPH CYL AX
+1.75 +0.50 38
-
หมายถึงตาขวา จากสลิปจะมีค่า SPH +1.00 หมายความว่ามีค่าสายตายาว 100 ไม่มีค่า CYL และ AX คือไม่มีค่าสายตาเอียง
-
หมายถีงตาซ้าย จากสลิปจะมีค่า SPH +1.75 หมายความว่ามีค่าสายตายาว 175 ค่า CYL +0.50 คือมีค่าสายตายาว 50 และมี Axis 38 คือมีองศาเอียง 38
สำหรับผู้ที่อยากอ่านค่าสายตาได้ด้วยตนเองคร่าว ๆ สามารถโฟกัสกับค่า SPH และค่า CYL ที่บอกถึงค่าสายตาสั้น (-D) ค่าสายตายาว (+D) และค่าสายตาเอียงได้ค่ะ
ใบค่าสายตา มีความสำคัญอย่างไร
เมื่อวัดค่าสายตาแล้วทางจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะให้ใบค่าสายตากับคนไข้ ซึ่งคนไข้สามารถนำใบค่าสายตานี้ไปตัดแว่นสายตากับโรงพยาบาล คลีนิคหรือร้านแว่นอื่น ๆ ที่คนไข้ต้องการได้ หรือนำใบค่าสายตานี้ไปอ่านค่าสายตาเพื่ออ้างอิงการซื้อแว่นสายตาทางออนไลน์ได้ หรืออาจเก็บเอาไว้เป็นประวัติการตรวจค่าสายตา ดูการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาภายหลังได้
ใบค่าสายตาตัดแว่น ไม่เหมือน ใบค่าสายตาคอนแทคเลนส์
ค่าสายตาคอนแทคเลนส์ กับ แว่นตาจะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากระยะของเลนส์คอนแทคเลนส์กับเลนส์แว่นตามีระยะห่างจากดวงตาที่แตกต่างกัน เลนส์แว่นตาจะอยู่ห่างจากตาประมาณหนึ่ง แต่คอนแทคเลนส์จะสัมผัสโดยตรงบนดวงตา ซึ่งใบค่าสายตาคอนแทคเลนส์จะต้องระบุถึงความโค้งของฐานผิวด้านหลังของคอนแทคเลนส์ เส้นผ่าศูนย์กลางของเลนส์ รวมทั้งยี่ห้อของคอนแทคเลนส์ด้วย และใบค่าสายตาคอนแทคเลนส์จะเขียนได้จากการการลองคอนแทคเลนส์ และผู้เชี่ยวชาญประเมินถึงการตอบสนองต่อการใช้คอนแทคเลนส์ก่อนแล้วเท่านั้น
ตรวจวัดค่าสายตาสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพดวงตาที่ดี
เพราะค่าสายตาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นการตรวจวัดค่าสายตาอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถทราบถึงการเปลี่ยนแปลงค่าสายตา และทำการพิจารณาเปลี่ยนแว่นสายตาและคอนแทคเลนสืที่เข้ากับสายตาปัจจุบันมากที่สุด หากใช้แว่นที่ตัดมานาน ๆ แล้วหรือใช้คอนแทคเลนส์ค่าเดิม ๆ ในขณะที่สายตาไม่ตรงกับของที่ใช้อยู่เดิม จะทำให้ค่าสายตาแย่มากขึ้น และมีอาการปวดตา ตาล้า ปวดหัวขึ้นได้
เพื่อสุขภาพดวงตาที่ดี เราจึงแนะนำให้ตรวจค่าสายตาอย่างสม่ำเสมอ หากยังไม่มั่นใจว่าจะไปตรวจวัดค่าสายตาที่ไหนดี เราขอแนะนำโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ โดยเรามีทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันจักษุสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มาตรวจวัดค่าสายตา อ่านค่าสายตา และรักษาแก้ไขค่าสายตาให้กับคุณได้ และยังมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย ช่วยให้ผลการตรวจวัดค่าสายตาเป็นไปอย่างถูกต้องและแม่นยำที่สุด นอกจากนี้หากตรวจวัดค่าสายตาแล้วพบปัญหาค่าสายตา สามารถขอรับคำปรึกษาจากจักษุแพทย์และรวมไปถึงปรึกษาถึงทางเลือกการรักษาแก้ไขปัญหาสายตาต่อไป
ข้อสรุป
ค่าสายตาเป็นตัวบ่งบอกถึงความสามารถในการมองเห็น ซึ่งแต่ละคนจะมีค่าสายตาที่แตกต่างกันออกไป แต่เนื่องด้วยวิถีชีวิตในปัจจุบันทำให้มีผู้ที่มีปัญหาทางสายตามากขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำว่าควรตรวจวัดค่าสายตาอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อเรามีความรู้ในการอ่านใบค่าสายตา จะทำให้เราสามารถเข้าใจกับปัญหาค่าสายตาของเราได้ดียิ่งขึ้น และทำให้เราพิจารณาแก้ไขปัญหาค่าสายตาได้ต่อไปค่ะ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที