ณัชร

ผู้เขียน : ณัชร

อัพเดท: 21 พ.ค. 2007 12.16 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7257 ครั้ง

สิ่งที่มีค่ายิ่งของการเรียนศิลปป้องกันตัวญี่ปุ่นคือ จิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเอื้ออาทร อ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพ ให้ความเคารพแก่ทั้งผู้อาวุโสทั้งวัยวุฒิ และ คุณวุฒิ เสมอ


จิตวิญญาณญี่ปุ่น เริ่มฝึกกันตั้งแต่เด็ก และได้อิทธิพลมาจากซามูไรผู้กล้าหาญ

ขัดพื้นสำนัก--รู้จักถ่อมตน


Dojo Soji

ภาพที่ ๑  การทำความสะอาด Dojo (道場)  หลังการฝึกของสำนัก Tenshinryu  ที่มาภาพ: http://www.tenshinryu.com/soji1.jpg


soji 2

ภาพที่ ๒ การทำความสะอาด Dojo หลังการฝึกของสำนัก Seishinkan  ที่มาภาพ: http://www.seishinkan.com/seishin/sskgen/sskgenin.htm



เสน่ห์ของจิตวิญญาณญี่ปุ่น ที่คุณคาดไม่ถึง

เสน่ห์ของการเรียนศิลปป้องกันตัวญี่ปุ่นแบบโบราณกับเซนเซที่มีความอนุรักษ์มาก ๆ ก็คือ ท่านจะใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องการถ่ายทอดความสำคัญของการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด

ไม่เว้นแม้กระทั่งหมดคาบเวลาเรียนแล้ว อย่างเช่นธรรมเนียมการขัดพื้นสำนัก ที่ทุกคนต้องลดอัตตาตัวตนลงมาทำอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะสายอะไร อายุเท่าไหร่ ฝึกมานานหรือยัง

ฉันพบว่า มันเป็นการฝึกความสามัคคี ความมีน้ำใจให้กันได้ดีมาก ๆ เพราะมันยากที่จะทำให้ได้พร้อม ๆ กัน และมันก็จะหกคะเมนตีลังกาลื่นลงไปนอนเหยียดยาวกันทีละคนสองคน รวมถึงผู้ช่วยสอนอย่างฉันด้วย แต่ทุกคนก็จะคอยช่วยกันตลอด จะรอกัน จะมองกัน จะไปพร้อม ๆ กัน

ไม่มีใครทิ้งกันเลย เป็นกิจกรรมที่ทำให้รักกันมากเลยแหละ ขอบอก

ไม่นับประโยชน์ที่ทำให้ได้ฝึกหลายกล้ามเนื้อไปพร้อม ๆ กันเป็นการ วอร์ม ดาวน์ ได้ทั้งยืดเส้น และกึ่ง ๆ แอโรบิคส์ไปในตัวนะฉันว่า


กิจกรรมโบราณนับพันปีนี้ - - เขาทำกันอย่างไรหนอ


วิธีการทำ ก็คือ เซนเซจะแจกผ้าขาวสะอาดใหม่เอี่ยมให้คนละผืน พร้อมกับสอนวิธีการพับให้ ฉันต้องพยายามอ่านปากเซนเซไปด้วย เพราะเซนเซพูดภาษาญี่ปุ่นเร็วปรื๋อ

อย่าว่าแต่ฉันเลย เจ้าคุมะ น้องหมีอ้วน เด็กอนุบาลญี่ปุ่นตากลมโต แก้มยุ้ย ขาวจั๊วะ ที่ชอบนั่งข้างฉัน ก็ยังตามเซนเซไม่ทันเลย เจ้าหมีน้อยทำหน้าเหยเก แล้วก็พับบิดเบี้ยวไปมา

ลำบากฉันต้องแอบชะโงกดูของเด็กอีกคน คือ อิบุกิ ซึ่งพับเสร็จก่อน แล้วก็พยายามพับตามให้ ตกลงเสร็จพร้อม ๆ กันพี่หมี กับน้องหมี

เสร็จแล้วทุกคนก็เข้านั่งเรียงแถว โหย่งตัวอย่างในภาพ (ซึ่งเป็นของสำนักอื่น ขอยืมมาประกอบการเล่า เนื่องจากสำนักเราไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ) แล้วเซนเซเป็นคนให้สัญญาณ ก็ไถปื๊ดดดดดด กันไปจนสุดโถง Dojo

พอสุด ก็จะกระเถิบขึ้นไปหนึ่งแถวไม้กระดาน แล้วก็กลับตัว (เหมือนว่ายน้ำ) ทุกคนตั้งแถวเตรียมพร้อม รอเซนเซให้สัญญาณ แล้วก็ถูไปพร้อม ๆ กันใหม่

ระหว่างนั้น ก็จะได้ยินเสียงหัวเราะคิกคักของเด็ก ๆ สลับกับเสียงร้องโอดโอยของคนที่ล้ม และเสียงฟืดฟาดของลมหายใจหอบ กับสารพัดเสียง รวมทั้งเสียงเร่งจังหวะแบบดุไม่มากของเซนเซ คือเสียงใหญ่ ๆ ทุ้ม ๆ กึ่งเป็นทางการแบบอมยิ้มเล็กน้อย เพราะถือว่าหมดคาบการฝึกแล้ว


หัวใจการฝึก ไม่ได้อยู่ที่การทำความสะอาด

แต่จะว่าไปแล้ว สำหรับการเรียนกับเซนเซ ตลอดเวลาคือการฝึก เพราะจุดประสงค์ของการที่ผู้ปกครองพาเด็ก ๆ มาฝากให้เซนเซฝึก ก็คือ ให้เด็กมี "สติ" รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลานี่แหละ

เห็นคนญี่ปุ่นเขาฝึกระเบียบเด็กอนุบาลแล้ว นักศึกษาปริญญาเอกคนไทยอย่างฉันรู้สึกอายเล็กน้อย(ถึงอายมาก) ไม่ใช่เพราะฉันเป็นคนไม่มีระเบียบขนาดนั้น แต่เป็นเพราะว่ากว่าฉันจะรู้จักวิธีการเจริญสตินั้น ก็ปาเข้าไปค่อนชีวิตแล้วมั้ง

และก็รู้จักในคอร์สวิปัสสนาเสียด้วย

แต่เด็กพวกนี้ เซนเซสอนให้รู้ตัวทั่วพร้อม เหมือนที่ฉันรู้จักในคอร์สวิปัสสนาเลย ไม่ว่าจะลุกขึ้นยืนจากท่านั่งเอี้ยมเฟี้ยมคุกเข่าน่ารักมาก เอามือเล็ก ๆ สองข้างวางบนตัก ว่าต้องเอาเข่าไหนขึ้นก่อน (สำหรับซามูไรแล้ว ต้องขาขวาก่อน เพราะดาบจะอยู่ข้างซ้าย)

และช่วงเวลาพัก ก็เดินเหมือนเราเดินจงกรมนี่แหละ คือรู้ตัว ไปถึงประตูก็โค้ง และมีคำบริกรรมเหมือนเรามีด้วย และออกไปจัดรองเท้าให้เป็นระเบียบ

นักเรียนอนุบาลญี่ปุ่น กับปรัชญาเซนชั้นสูง

การจัดรองเท้าของตัวเองนี้ ก็เป็นปรัชญาเซนชั้นสูงเหมือนกัน ในบัตรศิษย์ประจำสำนักที่เซนเซพิมพ์คติเตือนใจไว้ให้ท่อง (มีหลายอย่างมาก) จะเขียนเป็นตัวโรมาจิว่า Kyakkashoko แล้วเซนเซแปลกำกับไว้ประมาณว่า  การเรียงรองเท้าให้เรียบร้อย  คือ การก้มลงมองหาตัวเอง มองชีวิตจากเท้าของตัวเอง โห...

จริง ๆ แล้วมีอีกแยะ แต่เอาเป็นว่า แค่เรื่องจัดรองเท้า เพื่อให้หมั่นสำรวจตนเอง และเรื่องขัดพื้นสำนัก ให้ถ่อมตัว รู้รักสามัคคี มีน้ำใจห่วงใยเพื่อนฝูง แค่นี้ ก็เป็นวิธีเรียนที่แสนจะได้ผลโดยไม่ต้องสอนปากเปียกปากแฉะเท่าไหร่แล้ว เพราะมันได้โดยตรงจากการปฏิบัติ เด็ก ๆ เขาเข้าใจ และทำกันได้เอง เมื่อเห็นแล้วก็ชื่นใจ

อือ...หวังว่าสักวันหนึ่ง เมืองไทยจะทำอย่างนี้ได้อย่างแพร่บ้างตั้งแต่อนุบาล เพราะถ้าทำได้ เราก็คงจะได้พลเมืองที่มีวินัย มีน้ำใจ และรู้รักสามัคคีเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย

โอ้โฮ...ฝันแต่วันเลยนี่ฉัน

 แล้วท่านผู้อ่านที่เคารพล่ะคะ?


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที