ดวงตา ถือว่าเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญสำหรับทุกคน ด้วยการมองเห็นที่จำเป็นต่อทุกกิจกรรมในประจำวัน ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาทางสายตาที่กระทบต่อการมองเห็น หลายคนจึงเลือกที่จะเข้าพบจักษุแพทย์ทันที โดยเฉพาะปัญหาสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ที่ในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างการเปลี่ยนเลนส์ตาเข้ามาช่วยแก้ปัญหา แล้วการเปลี่ยนเลนส์ตานี้ คืออะไร มีข้อดี ข้อจำกัดอย่างไรบ้าง ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ความแตกต่างกับการทำเลสิค รวมถึงผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
การเปลี่ยนเลนส์ตา คืออะไร
การเปลี่ยนเลนส์ตา คือ กระบวนการทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับแก้ไขปัญหาทางสายตาที่ผิดปกติ ทั้งสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียง ด้วยการฝังเลนส์ชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบมาเฉพาะ เช่นเดียวกับคอนแทคเลนส์ แต่การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาแตกต่างตรงที่เป็นการรักษาสายตาด้วยเลนส์เสริมจะถูกนำไปใส่ไว้ในตาแบบถาวร
ทำความรู้จักกับเลนส์เสริม Phakic IOL
เลนส์เสริม Phakic IOL เป็นเลนส์เทียมประเภทหนึ่งที่ผลิตจากพลาสติกหรือซิลิโคน ใช้ในการแก้ไขสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาต้อกระจกที่จะใช้เลนส์ตามาตรฐาน แต่ในการเปลี่ยนเลนส์ตาจะใช้เลนส์เสริม Phakic IOL ที่ได้รับการออกแบบโดยเฉพาะให้อยู่ระหว่างกระจกตากับม่านตา
ซึ่งเลนส์เสริม Phakic IOL ทำหน้าที่เปลี่ยนทิศทางแสงที่เข้าสู่ดวงตา และแก้ไขทิศทางการหักเหของแสง เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีการหักเหของแสงสูง จนไม่สามารถรักษาด้วยการเลเซอร์ เช่น LASIK หรือ PRK โดยเลนส์เสริม Phakic IOL แบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่
-
Anterior Chamber Phakic IOLs เป็นเลนส์ที่วางอยู่ระหว่างกระจกตากับม่านตา อาจจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างสูง
-
Posterior Chamber Phakic IOLs เป็นเลนส์ที่วางอยู่หลังม่านตาและด้านหน้าของเลนส์ธรรมชาติ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
การเปลี่ยนเลนส์ตาของเลนส์เสริม Phakic IOL เป็นการผ่าตัดใส่เลนส์ตาเข้าไปในดวงตา โดยใช้ยาชาเฉพาะที่และต้องพักฟื้นร่างกายในระยะสั้น ทำให้คนไข้มองเห็นได้อย่างเป็นธรรมชาติและไม่เกิดอาการระคายเคือง
ข้อดีและข้อจำกัดของการเปลี่ยนเลนส์ตา
ในการเปลี่ยนเลนส์ตาเอง ก็มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดที่เราจะต้องรู้และเข้าใจว่า การผ่าตัดใส่เลนส์ตาสามารถช่วยรักษาความผิดปกติทางสายตาได้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งเหมาะสมกับตัวเราหรือไม่
ข้อดีของการเปลี่ยนเลนส์ตา
ข้อดีของการเปลี่ยนเลนส์ตา ได้แก่
-
ช่วยปรับการมองเห็นให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะการเปลี่ยนเลนส์กระจกตาจะใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย สามารถปรับความชัดเจนในการมองเห็นได้อย่างแม่นยำ ทำให้ผู้ที่มีปัญหาทางสายตาสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนและคมชัด
-
ลดการใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ในชีวิตประจำวัน ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
-
การเปลี่ยนเลนส์ตาด้วยเลนส์เสริม Phakic IOL ที่มีความทนทานต่อการแตกร้าวและการเกิดภาวะอักเสบน้อยกว่าเลนส์ตาธรรมชาติ ทำให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดใส่เลนส์ตาไม่จำเป็นต้องดูแลหรือรักษาเลนส์เสริมเป็นพิเศษ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในการดูแลตัวเองหรือมีสุขภาพที่อ่อนแอ
-
เลนส์เสริม Phakic IOL สามารถปรับการตั้งค่า ทำให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งในระยะใกล้และไกล
-
เป็นการแก้ไขการมองเห็นในระยะยาว เพราะเลนส์เสริม Phakic IOL จะยังคงอยู่ในดวงตาอย่างถาวร ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ เช่นเดียวกับแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์
-
การผ่าตัดใส่เลนส์ตาเป็นการผ่าตัดขนาดเล็กและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อลดอาการบาดเจ็บที่ดวงตา ใช้เวลาพักฟื้นน้อย และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนเมื่อเทียบกับวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
-
การเปลี่ยนเลนส์ตามีความปลอดภัยและอัตราความสำเร็จสูง ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ได้ผลลัพธ์ดีขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างน้อย และคนไข้ส่วนใหญ่มีการมองเห็นที่ดีขึ้นและมีความพึงพอใจหลังการผ่าตัด
ข้อจำกัดของการเปลี่ยนเลนส์ตา
สำหรับข้อจำกัดของการเปลี่ยนเลนส์ตา ได้แก่
-
เราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อประเมินความเหมาะสมของการผ่าตัดใส่เลนส์ตา เพราะบางคนอาจจะมีข้อจำกัดไม่สามารถทำได้ เช่น โรคตาแห้งอย่างรุนแรง ต้อหิน หรือจอประสาทตาเสื่อมรุนแรง
-
กระบวนการเปลี่ยนเลนส์ตานั้น ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากมีการสั่งทำเลนส์ที่เหมาะกับระยะสายตาข้างนั้น ๆ โดยประมาณ 1 - 2 เดือน ขึ้นอยู่กับค่าสายตาและชนิดของเลนส์ อีกทั้งยังทำการรักษาได้เพียงครั้งละข้างเท่านั้น ก่อนจะทำการรักษาตาอีกข้าง
-
กระบวนการผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ การเลือดออก หรือการเกิดภาวะแพ้ยาได้ ดังนั้น เราต้องเข้าใจความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
-
ใช้เวลาในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนเลนส์ตาอย่างน้อยประมาณ 1 สัปดาห์ถึงหลายสัปดาห์ ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจจะมีอาการอักเสบตาหรือรู้สึกไม่สบายเล็กน้อย
-
แม้ว่า การเปลี่ยนเลนส์ตาสามารถแก้ไขการมองเห็นได้ แต่กฌอาจจะไม่ได้รักษาให้เหมือนเดิมได้ทั้งหมด บางคนอาจจะยังต้องสวมแว่นตาสำหรับกิจกรรมบางอย่าง เช่น อ่านหนังสือหรือขับรถตอนกลางคืน
-
ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนเลนส์กระจกตาอาจไม่ครอบคลุมอยู่ในประกัน ทำให้เราอาจจะต้องจ่ายค่ารักษาเอง
เปลี่ยนเลนส์ตากับเลสิคต่างกันอย่างไร
การเปลี่ยนเลนส์ตากับเลสิคต่างก็เป็นขั้นตอนการผ่าตัด เพื่อแก้ไขปัญหาทางสายตาเกี่ยวกับการมองเห็น แต่ทั้งคู่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1.ลักษณะการแก้ไขปัญหา
-
การเปลี่ยนเลนส์ตาเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาที่ผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ด้วยการใช้เลนส์เสริม Phakic IOL แทนที่
-
เลสิคเป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ โดยการปรับรูปร่างกระจกตา เพื่อลดการใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์สำหรับคนที่มีสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง
2.วิธีการผ่าตัด
-
การเปลี่ยนเลนส์ตาจะมีการผ่าตัด ทำให้เกิดแผลขนาดเล็กในดวงตา เพื่อใส่เลนส์เสริม Phakic IOL
-
เลสิคเป็นการผ่าตัดที่ใช้เลเซอร์ปรับรูปร่างของเนื้อเยื่อกระจกตาโดยใช้เลเซอร์ excimer ทำให้แผ่นกระจกตาจะถูกจัดตำแหน่งใหม่
3.ลักษณะปัญหาที่สามารถแก้ไขได้
-
การเปลี่ยนเลนส์ตาสามารถแก้ไขปัญหาการมองเห็นได้อย่างหลากหลาย ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสายตายาวตามอายุ
-
เลสิคใช้แก้ปัญหาที่เกิดจากการหักเหของแสงเป็นหลัก สามารถแก้ไขสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงได้ แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตายาวตามอายุ เน้นการแก้ปัญหาการมองเห็นระยะไกล
ดังนั้น ในการเลือกระหว่างการเปลี่ยนเลนส์ตาและเลสิค ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สุขภาพตาของแต่ละคน ลักษณะการมองเห็นที่ต้องการ และคำแนะนำของจักษุแพทย์ เราจึงควรปรึกษากับจักษุแพทย์ เพื่อประเมินปัญหาและเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
วิธีเปลี่ยนเลนส์ตา
ขั้นตอนการผ่าตัดใส่เลนส์ตา เพื่อใส่เลนส์เสริม Phakic IOL มีขั้นตอน ดังนี้
-
เราต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียด ซึ่งรวมถึงการวัดรูปร่าง ขนาด และค่าสายตาผิดปกติของดวงตา เพื่อกำหนดค่าเลนส์เสริม Phakic IOL ได้อย่างเหมาะสม
-
ในวันผ่าตัด เราจะได้รับยาชาเฉพาะที่ ในรูปของยาหยอดตาหรือยาฉีด เพื่อให้ตาชาและไม่รู้สึกในระหว่างผ่าตัด
-
จักษุแพทย์จะทำการเปิดแผลที่กระจกตาประมาณ 3 มิลลิเมตร เพื่อนำเลนส์เสริม Phakic IOL ที่สามารถพับได้ใส่เข้าไปวางอยู่หน้าเลนส์แก้วตา โดยการสอดผ่านรอยบากเล็ก ๆ แล้วคลี่ออกหรือจัดตำแหน่งให้ถูกต้องเมื่อเข้าไปในดวงตา
-
แผลเล็ก ๆ ที่กระจกตาจะสามารถสมานได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องเย็บแผลแต่อย่างใด อีกทั้งการเปลี่ยนเลนส์ตามีความเสี่ยงต่ำ และใช้เวลาประมาณ 10 - 15 นาทีเท่านั้น
-
หลังการผ่าตัด เราจะได้รับการพักฟื้นเป็นระยะเวลาสั้น ๆ พร้อมคำแนะนำในการดูแลตัวเอง เช่น การใช้ยาหยอดตาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ การนัดติดตามผลหลังการผ่าตัด เป็นต้น
หลังเปลี่ยนเลนส์ตาดูแลตัวเองอย่างไร
หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาแล้ว สิ่งสำคัญ คือ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดอย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้
-
สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาหรือแว่นตาในช่วงพักฟื้นระยะแรก ซึ่งจะช่วยปกป้องดวงตาจากการกระแทก การถู หรือการสัมผัสกับแสงจ้าโดยไม่ตั้งใจ
-
หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตา เพราะอาจทำให้แบคทีเรียหรือมีอาการระคายเคืองบริเวณแผลผ่าตัดได้
-
รักษาความสะอาดและสุขอนามัยด้วยการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำก่อนสัมผัสดวงตาหรือใช้ยาใด ๆ
-
หลีกเลี่ยงการใช้โลชั่น ครีม หรือเครื่องสำอางใกล้ดวงตาจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
-
พักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก เช่น การยกของหนัก การก้มหรือออกกำลังกายอย่างหนัก
-
หลีกเลี่ยงการขับรถ จนกว่าการมองเห็นจะกลับเป็นปกติ
-
เข้าพบแพทย์ตามกำหนดเป็นประจำ เพื่อติดตามความคืบหน้า ประเมินการรักษา และปรับเปลี่ยนแผนการดูแลหลังการผ่าตัดที่จำเป็นได้
-
ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ด้วยจักษุแพทย์อาจสั่งยาหยอดตาหรือยาอื่น ๆ เพื่อรักษาอาการ จึงควรใช้ยาในปริมาณและความถี่ที่แพทย์แนะนำ
-
หากเกิดอาการผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนใด ๆ เช่น อาการปวดอย่างรุนแรง การมองเห็นเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ตาแดงมากขึ้นหรือมีของเหลวไหลออกจากดวงตา หรือตาลอยกะทันหัน ให้รีบพบแพทย์ทันที
เปลี่ยนเลนส์ตาราคาเท่าไร
สำหรับผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ราคาค่าใช้จ่ายอาจจะมีความแตกต่างกัน ด้วยสภาพปัญหาทางสายตาของแต่ละคน การปรับค่าเลนส์เสริม Phakic IOL ค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ รวมถึงสถานพยาบาลที่เราเข้ารับการรักษา โดยสถานพยาบาลในเครือภาครัฐจะมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 80,000 บาท และสถานพยาบาลเอกชนจะมีราคาเริ่มต้นที่ 150,000 บาท
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากเปลี่ยนเลนส์ตา
แม้ว่า การผ่าเปลี่ยนเลนส์ตาจะช่วยรักษาการมองเห็นให้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปราศจากความเสี่ยง ด้วยการผ่าตัดก็อาจจะเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น
-
การติดเชื้อหลังการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา เช่น รอยแดง บวม เป็นต้น
-
การอักเสบในดวงตาหรือที่เรียกว่า uveitis อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด อาจทำให้ตาแดง ปวด ตาพร่ามัว ไวต่อแสง หรือเป็นลมได้
-
อาการตาแห้ง ทำให้รู้สึกไม่สบาย คัน แสบร้อน หรือน้ำตาไหลมากเกินไป แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาหล่อลื่นอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการ
-
อาการแสงจ้า โดยเฉพาะในตอนกลางคืน อาจจะเกิดขึ้นชั่วคราว
-
จอประสาทตาลอกออกที่มีอาการแสงวาบ หรือเงาคล้ายผ้าม่านขวางการมองเห็น จำเป็นต้องพบแพทย์ทันทีหากสงสัยว่าจอประสาทตาหลุดลอก
-
ความดันลูกตาเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่โรคต้อหิน โดยสามารถทำลายเส้นประสาทตาและส่งผลต่อการมองเห็น อาจจำเป็นต้องมีการตรวจสอบความดันลูกตาเป็นประจำหลังการผ่าตัด
-
เลนส์เสริม Phakic IOL หลุด ทำให้เกิดการรบกวนทางสายตาหรือจำเป็นต้องเปลี่ยนตำแหน่งหรือการผ่าตัดเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหา
ข้อสรุปเรื่องเปลี่ยนเลนส์ตา
การเปลี่ยนเลนส์ตา คือ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาทางสายตาที่ผิดปกติ ทั้งสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียง เป็นการใส่เลนส์เสริม Phakic IOL ไว้ในตาอย่างถาวร ช่วยแก้ไขปัญหาการมองเห็นในระยะยาว มีความปลอดภัยสูง ใช้เวลาในการผ่าตัดและพักฟื้นน้อย แต่ทั้งนี้ แม้ว่า การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาจะเกิดความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงต่ำ อย่างไรก็ตาม เราควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อประเมินปัญหาทางสายตาและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที