ราชบัณฑิตเตือนพิษปลาปักเป้าแรงกว่าไซยาไนต์
ราชบัณฑิตสาขาวิชาการประมง เตือนรังไข่ของปลาปักเป้ามีพิษร้ายแรงกว่าไซยาไนต์ และทนความร้อนได้ 200 องศาเซลเซียส จี้กรมประมงเร่งให้ข้อมูลประชาชน ประกาศห้ามบริโภคเด็ดขาด หากพบต้องเร่งทำลาย
ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาการประมง กล่าวว่า ปลาปักเป้าที่พบบ่อยในไทยมีปลาปักเป้าลาย และปลาปักเป้าดำ ซึ่งสารพิษในปลาปักเป้า เกิดจากเชื้อแบคทีเรียของแพลงตอน และซากพืช ซากสัตว์ที่ปลาปักเป้ากินเป็นอาหาร ซึ่งพิษมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ Tetrotoxin และ Saxitoxin แต่พิษของ Tetrotoxin จัดเป็นสารพิษที่มีความรุนแรงมากที่สุด ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออัมพาต และเสียชีวิตได้ในที่สุด พบพิษมากในรังไข่ โดยพิษของปลาปักเป้า 1 ตัว สามารถฆ่าคนได้ถึง 30 คน และพิษยังมีความรุนแรงสูงกว่าไซยาไนต์ถึง 1,200 เท่า และสามารถทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส สาเหตุที่พบปลาปักเป้ามาก คาดว่าติดมากับการลากอวนในน้ำลึก และปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้บริมาณปลาปักเป้ามีจำนวนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน กรมประมงควรมีการแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงพิษ และประกาศห้ามรับประทานอย่างเด็ดขาด พร้อมกับทำการแจ้งเตือนเมื่อถึงฤดูกาลที่ต้องเฝ้าระวัง หากพบมีปลาติดมากับอวนชาวประมงต้องทำลายทันที และจัดให้มีการฝึกอบรมการชำแหละอย่างถูกต้องในกรณีใช้บริโภค
ศ.ดร.ทศพร วงศ์รัตน์ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวิชาสัตววิทยา กล่าวว่า ปลาปักเป้าทุกชนิดจัดอยู่ในประเภทปลามีพิษ ในประเทศไทยพบมีปลาปักเป้า 10 ชนิดและมีวัฒนธรรมทางพันธุกรรมที่ยาวนานที่สุดก่อนคนไทยและประเทศไทย พิษของปลาปักเป้าอยู่ที่บริเวณผิวหนัง ตับ ลำไส้ และมีพิษร้ายแรงอยู่ที่บริเวณรังไข่ พบมากในช่วงฤดูกาลวางไข่ สาเหตุที่มีการรับประทานปลาปักเป้าในญี่ปุ่นนั้น เนื่องจากพิษในปลาปักเป้าสำหรับคนญี่ปุ่นแล้วเปรียบเสมือนเครื่องเทศของ ช่องปาก อีกทั้งญี่ปุ่นมีมาตรฐานการชำแหละที่ดี มีการจัดอบรมผู้ชำแหละปลาปักเป้าโดยเฉพาะ สำหรับประเทศไทยแล้วยังขาดการอบรม ระมัดระวัง มีการลักลอบจำหน่าย ไม่มีการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่า เนื้อปลาที่บริโภคนั้นเป็นเนื้อปลาปักเป้า ผิดกับญี่ปุ่นที่ผู้บริโภคทราบว่า สิ่งที่บริโภคคือเนื้อปลาอะไร นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่าพิษของปลาเป้าสามารถซึมผ่านผิวหนังของผู้ชำแหละได้ หากมีการชำแหละปลาเป็นเวลานาน และไม่มีการป้องกัน ดังนั้น ไม่ทราบว่าในจังหวัดสมุทรสาคร มีรายงานพบเรื่องดังกล่าวหรือไม่
ที่มา : ทีมข่าว INN News 03 ตุลาคม 2550 15:53:43 น.
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที