Meditate

ผู้เขียน : Meditate

อัพเดท: 13 ก.พ. 2008 14.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 100718 ครั้ง

ภัยธรรมชาติ หมายถึง ภัยอันตรายต่างๆที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมีผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์

ซึงในปัจจุบันได้เกิดขึ้นบ่อยและถี่ขึ้น รวมทั้งมีความรุนแรงมากขึ้น จึงขอรวบรม มาให้เป็นข้อมูล สถิติ เพื่อพิจารณาสังเกต ในการเตรียมพร้อม สำหรับการบริหาร ตนเอง กิจการ และอื่นๆ


ภาวะโลกร้อน ภาคแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวกับภาวะโลกร้อนจะเกี่ยวพันกันหรือไม่ เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายกำลัง พิสูจน์อยู่

ในตอนนี้ขอเกริ่นนำ  เรื่องแผ่นดินไหว โดยทั่วไปก่อน เพื่อเป็นการปูทาง หาข้อพิสูจน์ที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ให้นิยามคำว่า แผ่นดินไหวว่า

 แผ่นดินไหว เป็นปรากฎการณ์การสั่นสะเทือนหรือเขย่าของพื้นผิวโลก สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวนั้นส่วนใหญ่เกิดจากธรรมชาติ โดยแผ่นดินไหวบางลักษณะสามารถเกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้ เช่น การทดลองระเบิดปรมาณู การปรับสมดุลเนื่องจากน้ำหนักของน้ำที่กักเก็บในเขื่อน และแรงระเบิดของการทำเหมืองแร่ เป็นต้น


 แผ่นดินไหวจากธรรมชาติ
แผ่นดินไหวจากธรรมชาติเป็นธรณีพิบัติภัยชนิดหนึ่ง ส่วนมากเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความเครียด ที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลันเพื่อปรับสมดุลย์ของเปลือกโลกให้คงที่ โดยปกติเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อน ภายในชั้นเปลือกโลกที่อยู่ด้านนอกสุดของโครงสร้างของโลก มีการเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ อยู่เสมอ (ดู การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก) แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อความเค้นอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงมีมากเกินไป ภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยในบริเวณขอบเขตของแผ่นเปลือกโลก ที่ที่แบ่งชั้นเปลือกโลกออกเป็นธรณีภาค (lithosphere) เรียกแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณขอบเขตของแผ่นเปลือกโลกนี้ว่า แผ่นดินไหวระหว่างแผ่น (interplate earthquake) ซึ่งเกิดได้บ่อยและรุนแรงกว่า แผ่นดินไหวภายในแผ่น (intraplate earthquake)

โดยสรุปเบื้องต้น
สำหรับการเกิดแผ่นดินไหว  มีสาเหตุการเกิด  ๒  ประการ  คือ
                                 ๑) ภูเขาไฟระเบิด
                                 ๒) การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก  ซึ่งมักจะเป็นขนาดใหญ่   และมีความรุนแรงมากส่วนมากจะเกิดในระดับลึก ๆ 

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด สองเหตุการณ์ใหญ่ๆ คือ

วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดเหตุแผ่นดินไหวทำให้เกิดคลื่นยักษ์ “ซึนามิ” สูงกว่า 10 เมตร ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ด้านทะเลอันดามัน คือ จังหวัดตรัง ภูเก็ต พังงา และ ประเทศใกล้เคียงมีผลให้คนเสียชีวิตเป็นหลักแสน

 ปี ๒๕๔๒ เพียงปีเดียว ก็มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยสามครั้ง ทั้งที่ตุรกี โคลัมเบีย และไต้หวัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตร่วม ๒ หมื่นราย 

ปี ๒๕๓๘ ที่โกเบ ประเทศญี่ปุ่น แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาด ๗.๒ ริคเตอร์ ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนถล่มทลาย และมีผู้เสียชีวิตกว่า ๖,๐๐๐ คน

ซึ่งกรณีหลังสุดเกิดในประเทศญี่ป่นที่ได้ชื่อว่ามีระบบป้องกันแผ่นดินไหวดีที่สุดในโลก

แผ่นดินไหวเกิดจากอะไรแน่? 
มีหลายทฤษฎี ที่พูดถึง ในอดืต (ข้อมูลจาก www.sarakadee.com)

อัลเฟรด เวเกเนอร์ (Alfred Wegener ค.ศ. ๑๘๘๐-๑๙๓๐) นักอุตุนิยมวิทยาชาวเยอรมัน มีคำถามอยู่ในใจเช่นเดียวกับนักภูมิศาสตร์ เกี่ยวกับแนวขอบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ของทวีปอเมริกาใต้ และแอฟริกาที่ดูจะต่อเข้ากันได้สนิท คล้ายชิ้นส่วนของภาพต่อจิกซอว์ เขาตั้งสมมุติฐานว่า การต่อเข้ากันได้สนิท อาจหมายความว่าทวีปทั้งสอง เคยเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ก่อนที่จะแยกออกจากกันอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็แสดงว่าผืนทวีปขนาดยักษ์มีการเคลื่อนที่
    เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานนี้ เวเกเนอร์จึงได้ศึกษาวิชาแขนงอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ธรณีวิทยา และสิ่งมีชีวิตโบราณ และได้พบว่าไม่เพียงแต่รูปร่าง ของชายฝั่งมหาสมุทรทั้งสองทวีปจะสอดคล้องกันเท่านั้น แต่ลักษณะทางธรณีวิทยา และซากสิ่งมีชีวิตโบราณที่พบก็คล้ายคลึงกันด้วย แสดงว่าทวีปได้แยกจากกันหลังจากที่สัตว์ และพืชตายลง และฝังอยู่ในชั้นหิน

ในปี ค.ศ. ๑๙๑๒ เวเกเนอร์ได้ประกาศทฤษฎี การเคลื่อนที่ของทวีปเป็นครั้งแรก ทฤษฎีนี้ได้แพร่หลายในปี ค.ศ. ๑๙๑๕ พร้อม ๆ กับหนังสือของเขาที่ชื่อ ที่มาของทวีปและมหาสมุทร (The Origin of Continents and Ocean) เวเกเนอร์ได้อธิบายว่า แผ่นดินทุกทวีปมีร่องรอย อันอาจประกบเข้าให้กลายเป็นทวีปมหึมาทวีปเดียวได้ และได้ให้นามผืนทวีปนี้ว่า "พังเกีย" (Pangaea) เขาเชื่อว่าในสมัยแรกที่มีแผ่นดินนั้น มหาทวีปพังเกีย อยู่แถบซีกโลกทางใต้ และเพิ่งจะแตกแยกออก ในราวยุคไดโนเสาร์ คือเมื่อประมาณ ๑๘๐ ล้านปีมานี้ จนกลายมาเป็นทวีปต่าง ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
    แต่เนื่องจากนักวิชาการส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ยังไม่เชื่อว่า ในโลกนี้จะมีแรงอะไรที่มีพลังมากพอ ที่จะผลักดันให้ผืนทวีปเลื่อนออกจากกันได้ และทฤษฎีทวีปเลื่อน ของเวเกเนอร์เองก็ไม่อาจตอบคำถามสำคัญข้อนี้ ดังนั้นจึงมีผู้โต้แย้งทฤษฎีของเวเกเนอร์ โดยอ้างว่าความคล้ายคลึงกันของพืช ที่เวเกเนอร์กล่าวถึง อาจจะมาจากเมล็ด และละอองเกสรที่ปลิวมาตามลม ส่วนความคล้ายคลึงกันของสัตว์ที่อยู่ต่างทวีป ก็อาจเกิดจากสัตว์ขนาดใหญ่เดินข้ามมหาสมุทร ในบริเวณที่มีสะพานเชื่อมต่อกัน เช่นบริเวณอะแลสกา- ไซบีเรีย แต่สะพานนี้ได้ยุบหายไปในทะเล ในบางช่วงเวลา แนวคิดโต้แย้งเหล่านี้ ได้ทำให้ทฤษฎีทวีปเลื่อนถูกละทิ้งไปจากวงการศึกษา ไปจนตลอดชีวิตของเวเกเนอร์
    จนมาถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการพัฒนาเทคโนโลยี และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้มีผู้คิดหาคำตอบในคำถามสำคัญ ที่ยังคงค้างไว้ในทฤษฎีทวีปเลื่อน ของเวเกเนอร์จนเป็นผลสำเร็จ ผู้ที่ให้คำตอบนี้เป็นนักธรณีวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ชื่อ แฮรี เฮส (Harry Hammond Hess ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๖๙) เฮสเชื่อในทฤษฎีทวีปเลื่อน ของเวเกเนอร์มาตั้งแต่ต้น และยังได้ศึกษาเพิ่มเติมในแนวคิดของ อาร์เทอร์ โฮล์มส์ (Arthur Holmes) นักธรณีวิทยาชาวอังกฤษช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ จนในที่สุดเมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๙ เฮสก็ได้ประกาศแนวคิด เกี่ยวกับการแยกตัวกันของพื้นมหาสมุทรแอตแลนติก และได้ตีพิมพ์เผยแพร่แนวคิดนี้ ลงในหนังสือชื่อ History of Ocean Basins ในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ แนวคิดดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญ ในการพัฒนาไปสู่ ทฤษฎีทวีปเลื่อนยุคใหม่ เฮสกล่าวว่าท้องมหาสมุทรแอตแลนติก มีสันเขาอยู่ใต้น้ำ ผ่ากลางมหาสมุทรตั้งแต่เหนือจรดใต้ สันเขาใต้น้ำนี้ เกิดจากแมกม่า หรือหินละลายภายใต้เปลือกโลกที่ดันตัวขึ้นมา ตรงรอยแยกของแผ่นทวีป ทำให้เกิดพื้นมหาสมุทรใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พื้นมหาสมุทรที่เกิดใหม่นี้ จะดันพื้นมหาสมุทรเดิมให้ค่อย ๆ ขยับห่างออกจากกันทีละน้อย เป็นเวลาติดต่อกันหลายร้อยล้านปี ด้วยเหตุนี้ทวีปอเมริกาจึงค่อย ๆ เคลื่อนจากทวีปแอฟริกาทีละน้อย ๆ และแยกจากกันเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 เฟรเดอริก ไวน์ (Frederick Vine) และ ดรัมมอนด์ แมททิวส์(Drammond Matthews) สองนักธรณีวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร ได้พยายามอธิบายเรื่องทวีปเลื่อน โดยใช้ความรู้เกี่ยวกับสนามแม่เหล็กโลก และคุณสมบัติของหินละลาย ซึ่งมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ เมื่อหินละลายพุ่งขึ้นมาสู่เปลือกโลก สารแม่เหล็กที่มากับหินละลาย จะวางตัวตามแนวแม่เหล็กโลกในทิศเหนือใต้ในขณะนั้น เมื่อสนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้แนวงอกของทวีปเปลี่ยนตาม และทำให้ทวีปเลื่อนอย่างเปลี่ยนทิศทาง

 จอห์น ทูโซ วิลสัน (John Tuzo Wilson ค.ศ. ๑๙๐๘-๑๙๙๓) นักภูมิฟิสิกส์ชาวแคนาดา เป็นอีกผู้หนึ่งที่เสนอแนวความคิดสำคัญ ที่ช่วยให้ทฤษฎีทวีปเลื่อนยุคใหม่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในวัยหนุ่มวิลสันเข้าศึกษาระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งในขณะนั้น แฮรี เฮส มาเป็นอาจารย์ผู้บรรยาย ที่มีอายุมากกว่าเพียงสองปี วิลสันสนใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ฮาวายและหมู่เกาะภูเขาไฟใกล้เคียง โดยได้ตั้งสมมุติฐานว่า หมู่เกาะเหล่านี้อาจถือกำเนิดมาจาก Hot Spot อันเป็นพลังงานความร้อนมหาศาล ของหินละลายที่พวยพุ่งขึ้นมา จากส่วนลึกของชั้นแมนเทิล (mantle) ใต้เปลือกโลก สมมุติฐานเรื่อง Hot Spot ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๓ ใน The Canadian Journal of Physics

ตลอดทศวรรษ ๑๙๖๐-๑๙๗๐ ยังมีความรู้ และการค้นพบใหม่ ๆ ของนักวิทยาศาสตร์อีกหลายกลุ่ม ที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องราว เกี่ยวกับทวีปเลื่อนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ความรู้ความคิดใหม่ ๆ เหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นมาสู่ทฤษฎีทวีปเลื่อนยุคใหม่ ที่นอกจากจะอธิบายการเคลื่อนที่ และการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแผ่นเปลือกโลกแล้ว ยังทำให้เราได้เรียนรู้ถึงพลังงานมหาศาล ภายใต้เปลือกโลก พลังที่แยกผืนทวีปมหึมาออกจากกัน ยกแผ่นดินที่ราบขึ้นเป็นเทือกเขา พลังที่สำแดงอำนาจทำลายล้าง ในรูปของภูเขาไฟที่ก้าวร้าวดุดัน หรือคลื่นแผ่นดินไหวที่ถล่มอาคารบ้านเรือนจนพังทลาย บิดรางรถไฟเหล็กกล้าให้คดงอ รวมถึงพลังที่แปรเปลี่ยนกระแสน้ำในทะเล ให้กลายเป็นคลื่นยักษ์ เข้าถาโถมทำลายเมืองชายฝั่งจนราบเป็นหน้ากลอง
    ทฤษฎีนี้รู้จักกันในชื่อ "เพลตเทคโทนิก" (Plate Tectonics)

แต่ที่แน่ๆ แผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ที่ทำนายได้ยากยิ่ง 

เรามาดูภาพแผ่นดินไหววันนี้กัน  โดยปรกติ ผู้เขียนจะ คอยสังเกตุ การเกิดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเกือบทุกวันเป็นประจำ

ในระยะนี้ ได้สังเกตุเห็นถึงความผิดปรกติของการเกิดแผ่นดินไหวที่เกืดขึ้น ถี่และ บ่อย รวมทั้งหนาแน่นมากในทุกเขตของโลก โจกภาพประกอบ ทั้งเอเชียและ อเมริกา

เอเชีย today 17-12-07
5023_earthq-17-12-07.GIF

โซนอเมริกา
5023_earthq-17-12-07-america.GIF


จากทั้งสองรูปแสดงถึงความผิดปรกติ ค่อนข้างมาก โดยแสดงถึง ความหนาแน่นของการเกิด ตามรอย แนว RIng of fire  ที่มากน่าจะเข้าเกณฑ์ผิดปรกติ (ในความเห็นผู้เขียน)

สมมุติฐานที่ผู้เขียน คิดเอาเอง  ว่าการเกิดแผ่นดินไหวอย่างมากและรุนแรงในปัจจุบันน่าจะเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน (Global Warming) โดยอ้างจาก
ทฤษฎีที่รู้จักกันในชื่อ "เพลตเทคโทนิก" (Plate Tectonics)(ที่มาจาก www.sarakadee.com) คือ ชิ้นส่วนของเปลือกโลกที่เรียกว่า "แผ่นเปลือกโลก" หรืออาจเรียกทับศัพท์ว่า "เพลต" (plate) โดยมีเพลตอยู่ ๑๖ ชิ้นที่ประกอบกันเข้าเป็นเปลือกโลก แบ่งเป็นแผ่นทวีปและแผ่นมหาสมุทร อย่างไรก็ตามขอบของแผ่นเปลือกโลกแต่ละแผ่นไม่ได้ประกบกันเข้าอย่างแผ่นภาพต่อ แผ่นเปลือกโลกบางแผ่น เคลื่อนที่ในลักษณะเลื่อนตัวแยกออกจากกัน (spreading) ดังนั้นบริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกจึงเคลื่อนตัวออกจากกัน (diverging boundary) บางแผ่นก็เลื่อนเข้าไปชนกัน (collision) จนเกิดการเกยกัน ระหว่างแผ่นเปลือกโลกสองแผ่น (converging boundary) หรือเปลือกโลกแผ่นใดแผ่นหนึ่ง อาจจะมุดลอดอยู่ใต้เปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง (subduction) สิ่งสำคัญที่ทำให้โลกของเรา ต่างจากแผ่นภาพต่อโดยสิ้นเชิง ก็คือ แผ่นเปลือกโลกทั้ง ๑๖ แผ่นที่ประกอบกันเข้าเป็นเปลือกโลกนั้น มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา บางทีก็เคลื่อนที่ผ่านกัน และเฉียดกันในทิศทางที่สวนกัน จนเกิดเป็นรอยเลื่อนด้านข้างขนาดใหญ่ (transform fault) อัตราการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกแต่ละแผ่นนั้น นับว่าช้ามาก ๆ โดยเฉลี่ยแล้วเพียงแค่ ๒.๕ ซม. ต่อปี หรือเทียบง่าย ๆ ว่าพอ ๆ กับเล็บมือของเราที่งอกออกมาในแต่ละปี

ทำไมถึง อ้างทฤษฎีนี้ ก็เพราะว่า ไปต่อตอนหน้าดีกว่า


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที